โควิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ สธ. ยันคุมอยู่ ผู้ว่าฯเผยระบาดหนักทั่วเกาะ

สธ.

สธ. เผยภูเก็ตแซนด์บอกซ์นักท่องเที่ยวทะลัก 2.7 หมื่นคน พบติดเชื้อโควิดเพียง 85 คน รักษาหายแล้ว 20 ราย ยันเอาอยู่ ไม่ติดคนในพื้นที่ ไม่กระทบระบบสาธารณสุขจังหวัด ระบุ ก.ย. นี้วัคซีนในไทยทะลุ 15 ล้านโดส ท้ายปีชะลอซื้อซิโนแวค เว้นเหตุจำเป็นอาจนำเข้าเพิ่ม

วันที่ 4 กันยายน 2564 นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่รับนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจำนวน 27,216 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ย.) โดยทั้งหมดต้องฉีดวัคซีนโควิด ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มากับผู้ปกครอง

รวมไปถึงมีการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกที่มาถึงและตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง จากจำนวนทั้งหมดดังกล่าว พบผู้ติดเชื้อเพียง 85 ราย คิดเป็น 0.31% ทั้งนี้ มักตรวจพบเชื้อภายใน 7 วันแรก ส่วนมากเป็นผู้ไม่มีอาการหรืออาการน้อย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้คนที่มีอาการรับการรักษาจนหายแล้ว 20 ราย ผู้ที่ติดเชื้อมีประวัติรับวัคซีนโควิดในทุกตัวที่ประเทศไทยกำหนด

แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด ฉีดแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา แต่ไม่มีคนใดป่วยรุนแรง และไม่เกิดปัญหาการแพร่เชื้อคนในพื้นที่ รวมถึงไม่กระทบระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข

“แม้ในภูเก็ตจะมีการติดเชื้อในพื้นที่ แต่ยังอยู่ในขีดความสามารถดูแลผู้ติดเชื้อได้ในทุกระดับอาการมากกว่า 28%”

ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิดใน จ.ภูเก็ต ช่วงเดือนกรฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มี 12 ราย โดย 11 รายยังไม่ได้รับฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อีก 1 รายรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพียง 1 เข็ม เท่านั้น

นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า คนภูเก็ตที่ส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ซึ่งเป็นการยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคจากโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ป้องกันป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาพบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90.5% ในสมุทรสาครช่วงเดือนมีนาคมที่เป็นสายพันธุ์จี และ 90.7% ใน กทม.และปริมณฑลช่วงเมษายน-พฤษาคมที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา และบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ช่วงมิถุนายนที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา 82.8%

ต่อมามีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ปรับเป็นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นมา ฉีดสูตรนี้แล้วมากกว่า 2.5 ล้านคน

มีผู้ติดโควิดเสียชีวิต 1 ราย อัตราเสียชีวิตถือว่าต่ำมาก (เท่ากับ 0.4 รายต่อล้านคน) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งพบว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตจากโควิด 132 คน

ดังนั้น จากข้อมูลซิโนแวค 2 เข็มในภูเก็ตและสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า จึงสรุปได้ว่าวัคซีนนี้มีประโยชน์อย่างมากในระยะนี้ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนนั้น คาดว่า ภายในสิ้นเดือนกันยายนมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส จากซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส ซึ่งอาจได้มากถึง 8 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส

ส่วนตุลาคมมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส รวมเป็น 24 ล้านโดส

ขณะที่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีเดือนละ 23 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละ 13 ล้านโดส และไฟเซอร์เดือนละ 10 ล้านโดส

จึงเป็นที่มาของการไม่ได้สั่งเพิ่มซิโนแวคในช่วงนั้น แต่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน เช่น การส่งมอบวัคซีน หรือความจำเป็นของการฉีดวัคซีนในเด็กเมื่อมีผลการศึกษาแล้ว ซึ่งวัคซีนเชื้อตายยังเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบผลข้างเคียงและประโยชน์ที่ได้รับ

ก็มีโอกาสที่จะต้องสั่งเข้ามาเพิ่มตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยบริหารจัดการวัคซีนให้สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับในแต่ละเดือน เพื่อให้การฉีดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ผู้ว่าฯเผยโควิดระบาดหนักทั่วเกาะ

อีกด้านหนึ่ง นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดต้องการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วแล้วในวันนี้ หมอเอาเดลตาไม่อยู่ การแพร่ระบาดโรคไปรวดเร็วและเยอะมาก เราพยายามควบคุมให้ได้ยิ่งตรวจยิ่งเจอในฐานะรับผิดชอบเป็นหัวหน้าใหญ่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้ และเรื่องเตียง มีเกิน 50% แล้ว มีการขยายศูนย์ CI เพิ่ม และโรงพยาบาลสนาม เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองแล้ว

ถือว่า แพร่ระบาดแรง เตียงวิกฤต ต้องยอมรับกัน ทางออก คือ ทำให้คนคิดว่า โรคนี้ปกติ ต้องอยู่กับมันได้ สำคัญที่สุดคือการรักษา แซนด์บอกซ์ ไว้ เพราะเป็นทางรอดให้เศรษฐกิจไปได้เชื่อมโยงกับปากท้องของประชาชน โดยทางการแพทย์ขอให้ท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง ช่วยกันดูแลกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ

วันนี้ความสามารถทางการแพทย์ถึงจุดวิกฤตจากเดลตา มาแรง กระจายไปทั่วภูเก็ต คนภูเก็ตต้องเดินหน้าต่อ สถานการณ์เตียงใกล้วิกฤตต้องปรับวิธีคิดวิธีทำงานกันใหม่ โดยจะประชุมหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ อสม.ในช่วงบ่าย วันจันทร์ที่ 6 ก.ย.นี้ เพื่อให้นำแนวทางการปฏิบัติร่วมกันดูแลกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ ต่อไป