โรงพยาบาลบุษราคัม ฝ่าสารพัดดราม่า ก่อนปิดฉาก 130 วัน

นับถอยหลัง ปิด รพ.บุษราคัม รวมเหตุการณ์สำคัญตลอด 130 วัน
ภาพจากเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลบุษราคัม

ตลอดระยะเวลา 130 วัน ที่เปิดดูแลผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลบุษราคัมเผชิญเหตุการณ์ท้าทายหลายครั้ง นับเป็นเรื่องยากสำหรับโรงพยาบาลชั่วคราว ที่ต้องรับมือทั้งผู้ป่วยจำนวนมหาศาลกับกระแสดราม่าในโซเชียล

วันที่ 24 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ได้ปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากระยะหลังมีผู้ป่วยโควิดเข้ามาใช้บริการเพียง 3-5 คนต่อวัน ผลจากการระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯเริ่มคลี่คลายลง

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม เผยว่า โรงพยาบาลบุษราคัม จะถูกรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน ก่อนมอบพื้นที่คืนให้กับอิมแพ็คอารีนา ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564

ตลอดระยะเวลา 130 วันที่เปิดให้บริการ โรงพยาบาลชั่วคราวแห่งนี้ รองรับผู้ป่วยสะสมรวม 20,436 ราย และเจอเรื่องดราม่านับไม่ถ้วน ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เปิดให้บริการ

ดีอีเอสออกโรงป้องหลังถูกเปรียบเทียบ

โรงพยาบาลบุษราคัม เป็นความร่วมมือจากภาคเอกชนที่มอบพื้นที่ให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้พื้นที่ในอาคารชาเลนเจอร์ IMPACT ARENA เมืองทองธานี ให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 5,000 เตียง สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางในกลุ่มสีเหลือง เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ได้รักษาผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดง

โดยใช้การจัดการรักษาระบบ “เทเลเมดิซีน” (ให้ปรึกษาออนไลน์ผ่านระบบ VDO conference) มีแม่ข่ายการบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ จาก 60 จังหวัดที่พบการแพรระบาดน้อย มาหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ รวม 780 คน พร้อมอุปกรณ์การแพทย์และยาอย่างครบครัน

หลังเปิดให้บริการได้ไม่กี่วัน ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูลเรื่องงบจัดทำโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมกับตัดต่อภาพประกอบ ในทำนองว่าโรงพยาบาลบุษราคัมใช้งบสูงกว่าโรงพยาบาลสนามของพิมรี่พาย เฉลี่ยแล้วเป็นหลักแสนต่อเตียง ขณะที่ของพิมรี่พายเป็นหลักพัน จนเกิดเสียงวิจารณ์กว้างขวาง

ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างมีความตั้งใจดี เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤตโดยเร็ว แต่กลับมีขบวนการที่ไม่หวังดีนำมาเปรียบเทียบ บิดเบือน เพื่อต้องการให้เกิดความแตกแยกขัดแย้ง

ที่มีข้อสังเกตเรื่องงบประมาณนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถชี้แจงรายละเอียดหรืองบประมาณได้ทั้งหมด อีกทั้งภาพที่มีการแชร์เปรียบเทียบในก็เป็นภาพเก่า ช่วงที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยงเพื่อสังเกตอาการ และเป็นการจัดตั้งในภาวะฉุกเฉิน ก่อนที่จะมีการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานในภายหลัง

“ในช่วงที่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันเอาชนะโควิด-19 แต่กลับมีผู้ไม่ประสงค์ดีต้องการสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคม ทางกระทรวงได้ติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านี้มาโดยตลอด ขอให้ผู้ที่เป็นต้นตอหรือมีส่วนกับการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ดำเนินการลบโพสต์โดยด่วน และชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้สังคมรับทราบ มิเช่นนั้น กระทรวงดีอีเอสอาจต้องดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ต่อไป” นายชัยวุฒิกล่าว

หมอหญิงระบายความในใจ

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 พญ.วลัยกร คำเขียว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Walaigorn Kumkiew บอกเล่าปัญหาในโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมเรียกร้องให้มีการเพิ่มกำลังคน เพิ่มค่าตอบแทนค่าเสี่ยงภัยให้ทีม และการฉีดวัคซีนให้เจ้าหน้าที่หน้างาน

ท้ายโพสต์ แพทย์หญิงท่านนี้ระบายความอัดอั้นพร้อมตั้งคำถามว่า เราถึงจุดที่ต้องเลือกชีวิตแลกชีวิตแล้วจริง ๆ หรือ ? เสมือนกำลังเข้าสู่ยุคของพายุใบไม้ร่วงปริมาณมหาศาล เฉกเช่นอินเดีย/อิตาลี ยาต่าง ๆ เริ่มทยอยหมด แม้กระทั่งมอร์ฟีนที่ใช้ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ดังที่เห็นพี่หมอคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ประเทศนี้ แค่เลือกจะตายอย่างสงบ ยังทำไม่ได้เลย”

บังซา ไลฟ์แฉระบบ

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 บังซา อาสากู้ภัยฯ ที่ติดโควิด-19 รักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัม ไลฟ์สดเล่าเหตุการณ์ว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตคืนเดียว 8 ศพรวด

ต่อเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลบุษราคัมได้แจ้งให้บังซาเก็บของออกไปจากโรงพยาบาลทันที โดยให้เหตุผลว่าบังซาหายแล้ว ต้องไปกักตัวและดูอาการที่บ้าน เพื่อแบ่งเตียงให้กับผู้ป่วยที่กำลังรอเตียงอยู่ ซึ่งต่อมาได้เกิดกระแสดราม่าในโซเชียลแห่ติด #SAVEเหนือหนึ่งห้า และ #Saveบังซา

รพ.บุษราคัมแจงกรณีบังซา

ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นพ.กิตติศักดิ์ แถลงข่าวประเด็นการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลบุษราคัม โดยในช่วงหนึ่งกล่าวว่า ตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกรมการแพทย์ อนุญาตให้ผู้ป่วยอาการน้อย รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน และวันที่ 8 สามารถกลับไปรักษาตัวเองที่บ้านได้ เนื่องจากจะต้องใช้เตียงให้ผู้ป่วยรายใหม่

นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยทั่วไปแล้วถือว่าพื้นที่ในโรงพยาบาลบุษราคัม เป็นโรงพยาบาล ดังนั้น การถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะภาพผู้ป่วย ภาพเจ้าหน้าที่ในระหว่างการปฏิบัติงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดสิทธิ แม้กระทั่งผู้ป่วยถ่ายภาพผู้อื่นภายในโรงพยาบาลเองก็ไม่เหมาะสม

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวถึงกรณีบังซาว่า เจ้าหน้าที่ต้องขอขอบคุณที่มีการสะท้อนแง่มุมภาระงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่ได้เห็นว่ามีการตำหนิเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการนำเสนอที่อาจจะต้องการให้มีความน่าสนใจ จึงมีการใช้คำพูดที่รุนแรง แต่เชื่อว่าไม่ได้มีเจตนาอะไร

นพ.กิตติศักดิ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ต้องออกจาก รพ. เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยของกรมการแพทย์ ที่ผู้ป่วยอยู่ครบ 7 วันแล้วก็สามารถกลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ โดยเฉพาะสถานการณ์เช่นนี้ เตียงมีความสำคัญมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถกลับไปดูแลตัวเองที่บ้านได้ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยรายอื่นที่รอเตียงเข้ามา

“การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิบัติเฉพาะทีมของผู้ไลฟ์สด แต่เป็นการปฏิบัติตามปกติในการดูแลผู้ป่วย โดยในส่วนตัวผู้ที่ไลฟ์สดนั้นก็เป็นที่รักใคร่ของเจ้าหน้าที่ด้วย” นพ.กิตติศักดิ์กล่าว

ผู้ป่วยเสียชีวิตคาเตียง

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 นางสาวปริศนา อายุ 55 ปี โพสต์ภาพแม่ อายุ 75 ปี นอนเสียชีวิตอยู่บนเตียงกระดาษในโรงพยาบาลบุษราคัม โดยเล่าว่าตนกับแม่เข้ามารักษาด้วยกันที่นี่ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม กระทั่งวันที่ 12 สิงหาคม แม่เริ่มอาการไม่ดี ไม่กินข้าว ค่าออกซิเจนในเลือดเริ่มต่ำ ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม เริ่มมีอาการเหนื่อย ค่าออกซิเจนลดต่อเนื่อง ตนรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่มีเพียงอาสาสมัครมาดูแล ไม่มีหมอเข้ามา

กระทั่งวันที่ 14 สิงหาคม แม่เสียชีวิต ตนต้องจัดการเองทุกอย่าง ทั้งเปลี่ยนเสื้อผ้าให้แม่ ประสานรถให้มารับศพ เธอเล่าด้วยว่าหลังแม่เสียชีวิต ได้โทรหาหมอ ซึ่งหมอพูดกลับมาว่า “คนไข้ที่เป็นโควิดก็เป็นแบบนี้”

อีกเหตุการณ์คือวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @shutup2557 เผยภาพผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลบุษราคัม พร้อมระบุ ว่า ดูสภาพ…โรงพยาบาลบุษราคัม..ความล้มเหลวระบบสาธารณสุข ดูจากข่าวบรรจง ช่อง23 เห็นลูกชายบอกแจ้งจนท.ตั้งแต่เช้า แต่ไม่มีใครเหลี่ยวแล โทรไปแจ้งเป็นร้อยสาย จนแม่เสียชีวิตคาเตียงกระดาษ เหมือนส่งคนไปรอความตาย

ดราม่าเบี้ยเลี้ยง ค่ารถ 8 บาท

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เล่าเรื่องราวของแพทย์ที่ไปช่วยที่โรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งพบหลากหลายปัญหา ทั้งค่าตอบแทน ระยะเวลาการทำงาน เคสหนักที่มากขึ้น ทีมแพทย์หมุนเวียนจากต่างจังหวัดมีช่องว่างในการหมุนเวียน การทำงานด้วยระบบราชการ ทีมงานบางคนที่มีความจำเป็นในด้านอื่นนอกจากการทำงาน ฯลฯ

โดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทน ซึ่งระบุว่า ให้ค่าโดยสารเที่ยวละ 8 บาท แม้จะออกเวรตอนเที่ยงคืน ในยามที่ห้ามออกจากเคหะสถาน

เหล่านี้คือเรื่องราวบางส่วนที่ถูกถ่ายทอดผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสนามบุษราคัม