ฟู้ดเชนดาหน้ารับกระแสเฮลตี้ แห่บุกเมนูแพลนต์เบส 3 หมื่นล้าน

เพลนต์เบส

 

ตลาดแพลนต์เบส 2.8 หมื่นล้านคึกคัก-โตต่อเนื่อง ธุรกิจดาหน้าบุกรับกระแสเฮลตี้ ตลาดโตเบาะๆ 10% “วี ฟู้ดส์” เดินหน้าเพิ่มเมนูใหม่ ready to eat-ready to cook เพิ่มทางเลือก ร้านดัง “ซิซซ์เล่อร์” ยกชั้นเป็นเมนูประจำร้าน ด้านผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ “ซีพีเอฟ-ซีพีแรม” ขนแพลนต์เบสบุกร้านสะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ต “บางจากฯ” ไม่ยอมตกขบวน ส่งบริษัทลูกโดดร่วมวง ดีเดย์เปิดตัวไตรมาส 1 ปี 2565

ยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับแพลนต์เบส หรือเมนูอาหารทางเลือกจากพืช โดยมีปัจจัยหนุนมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ โดยลดการรับประทานเนื้อและหันมารับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากพืชแทน

ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายคาดการณ์ตลาดนี้ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก สะท้อนจากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่มีการแข่งขันมากขึ้น

เทรนด์สุขภาพหนุนแพลนต์เบสโต

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพด น้ำนมข้าวโพด “วีคอร์น” และผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส “มอร์ มีท” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส หรืออาหารที่ผลิตจากโปรตีนจากพืชที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

รวมทั้งปัจจัยในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพและหันมารับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากพืชมากขึ้น จะส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในปีหน้า ตัวเลขการเติบโตน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10% จากปัจจุบันที่ตลาดมีมูลค่าตลาดรวมราว ๆ 2.8 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันอาหารที่มาจากโปรตีนพืชเป็นเทรนด์อาหารสุขภาพที่มาแรง และตลาดมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากขณะนี้ตลาดยังเล็กมาก เมื่อเทียบกับตลาดอาหารพร้อมทานทั่วไป

ที่น่าสนใจคือ เป็นอัตราที่การเติบโตสูงมาก หากสังเกตจะพบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาในตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ละค่ายเน้นการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ทั้งแพลนต์เบสที่เป็น ready to eat และ ready to cook

“จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นและศักยภาพการเติบโตของตลาด ทำให้การแข่งขันในตลาดมีมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาโปรดักต์ที่มีความแตกต่างรวมทั้งการตั้งราคาที่ไม่สูงมากนักเพื่อกระตุ้นการทดลองรับประทาน รวมทั้งโปรโมชั่นที่มีความถี่มากขึ้น และการเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวทางของบริษัทที่ปัจจุบัน มอร์ มีท มีทั้งโปรดักต์ที่เป็น ready to eat และ ready to cook และมีหลากหลายเมนูให้เลือก อาทิ ลาบทอด, ทอดมันเนื้อปู, ต้มยำทอด เป็นต้น”

“และในปี 2565 บริษัทเตรียมลอนช์สินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 2-3 รายการ สเต็ปถัดไปต้องโฟกัสการทำตลาดทั้งออนไลน์มากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นการวางจำหน่ายในช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต โดยจะเน้นการผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับกระบวนการทำอาหาร เพื่อโปรโมตสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคให้กว้างขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่ได้นำเมนูแพลนต์เบสเข้าไปกับร้านอาหารมังสวิรัติ/เจ veganerie”

แพลนต์เบสอนาคตสดใส

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตลาดแพลนต์เบสโลก ปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าตลาดจะเติบโต 2 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนในประเทศไทยยังเป็นช่วงเริ่มต้นและมีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก โดยกลุ่มผู้บริโภคหลักจะมาจากกลุ่มมังสวิรัติ หรือ vegan และกลุ่มมังสวิรัติยืดหยุ่น หรือ flexitarian ซึ่งกลุ่มหลังจะมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มแรก

ปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตแพลนต์เบส ทั้งแบบที่เป็นวัตถุดิบ เช่น เนื้อเทียม เนื้อไก่ ปลา กุ้ง และผู้ผลิตเป็นกึ่งวัตถุดิบ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เช่น นักเก็ต โบโลน่า เนื้อปรุงรส ไส้กรอก เบอร์เกอร์ นมจากพืช เป็นต้น ระดับราคาเนื้อจากพืชจะสูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป 2 เท่า

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานตามแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2569) บางจากฯมีแผนจะขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ โดยขณะนี้บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI บริษัทย่อยอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาการผลิตสินค้า plant based meat ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565

ก่อนหน้านี้ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ระบุว่า ตลาดอาหารแพลนต์เบส (plant-based) จะเป็นตลาดขนาดใหญ่มากในอนาคต ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการในการทำธุรกิจนี้ไม่มาก ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับสตาร์ตอัพ และพันธมิตรหลายบริษัท พัฒนาอาหารแพลนต์เบสออกมาสู่ตลาด

ซิซซ์เล่อร์ยกชั้นเป็นเมนูประจำ

นางนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ในเครือเดอะ ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารภายใต้แบรนด์ซิซซ์เล่อร์เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารต้องหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าหรือเมนูที่มีความเป็นเฮลตี้มากขึ้น และแพลนต์เบสก็จะเป็นเมนูทางเลือกอีกอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกัน ที่ผ่านมา ซิซซ์เล่อร์ได้ลอนช์เมนูที่เป็นแพลนต์เบส เข้ามาทำตลาด 2-3 รายการ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่รับประทานเมนูแพลนต์เบส อาทิ ออมนิ มีต ลาบทอด, สเต๊ก บียอน กัวโมเล่และซัลซ่า

ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค รวมทั้งได้ปรับรสชาติให้เข้มข้นและอร่อย เช่นกลุ่มเมนูที่เป็นของทานเล่น จากเดิมที่มีเฉพาะประเภทอาหารจานหลัก ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดี และเป็นตลาดที่มี potentail มาก นอกจากนี้จากการสังเกตก็ยังพบว่า ส่วนลูกค้าทั่วไปก็หันมาทดลองทานเมนูแพลนต์เบสมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ได้ปรับกลยุทธ์ให้เป็นเมนูที่เข้าถึงง่ายขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ปรับลดราคาเมนูแพลนต์เบสมาอยู่ที่ 299-399 บาท ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์จัดแพลนต์เบสเป็นเมนูประจำร้าน และกลยุทธ์ของซิซซ์เล่อร์จากนี้ไปโฟกัสเรื่องเฮลติเนสต่าง ๆ มากขึ้น และในปี 2565 จะมีการเพิ่มเมนูแพลนต์เบสอีก 2-3 เมนู เพื่อให้มีหลากหลายมากขึ้น

สารพัดเมนูพรึ่บเต็มเชลฟ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสความใส่ใจเรื่องสุขภาพและความนิยมในอาหารแพลนต์เบสที่มีมากขึ้น ที่ผ่านมาผู้ผลิตอาหารหลาย ๆ ค่ายได้ทยอยเปิดตัวเมนูเนื้อจากพืช หรือ plant based meat ออกมาทำตลาด เน้นวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

รวมถึงการจำหน่ายผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย มีเมนูที่หลากหลาย ทั้งที่เป็น ready to eat และ ready to cook อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่ได้ส่งแพลนต์เบสแบรนด์ MEAT ZERO ออกมาจำหน่าย อาทิ เบอร์เกอร์หมูจากพืชรสซอสบาร์บีคิว, โบโลน่าจากพืชรสออริจินัล, โบโลน่าจากพืชรสพริก และข้าวกะเพราเนื้อสับจากพืช เป็นต้น

เช่นเดียวกับบริษัท ซีพีแรม จำกัด ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่มีความเคลื่อนไหวในการเปิดตัวแพลนต์เบสในรูปแบบอาหารพร้อมทานหรือ ready to eat แบรนด์ “วีจี ฟอร์เลิฟ” (VG for Love) ออกมาจำหน่ายในช่องทางร้านสะดวกซื้ออย่างต่อเนื่อง อาทิ เมนูข้าวกะเพราหมูพีบี, ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี, ข้าวผัดเห็ดออรินจิพีบี เป็นต้น โดยมีราคาเริ่มต้น 39-49 บาท

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เชนร้านไก่ทอดอย่างเคเอฟซี ได้ลอนช์เมนูที่ทำจากแพลนต์เบสออกมาทดลองตลาด 2 เมนู ได้แก่ ไก่ป๊อปและข้าวยำไก่แซ่บ ใช้วัตถุดิบจาก MEAT ZERO จากซีพีเอฟ ขณะที่แมคโดนัลด์ ที่ได้เปิดตัวเมนูเนื้อจากพืช ข้าวกะเพราแพลนต์เบสเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเท็กซัส ชิคเก้น ภายใต้การบริหารของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ (OR) ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส ในชื่อแพลนต์เบส คิก คิก รสลาบผลิตจากพืช 100% เมื่อช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา เป็นการนำเสนอรสชาติความเป็นไทยในสไตล์ใหม่ด้วยโปรตีนจากพืชไร้เนื้อสัตว์ มีจำหน่ายที่ร้านเท็กซัสชิคเก้น 10 สาขา ใน กทม.