“อนุทิน” นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์ โอมิครอน เผยภาพรวมหากดีขึ้น พร้อมชง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการ ด้านปลัด สธ. ชี้หากแนวโน้มดีขึ้น เตรียมพิจารณาลดระดับการเตือนภัยโควิด พร้อมเดินหน้าเร่งฉีดซีนเข็มบูสเตอร์โดสในประชาชนทั่วไปและพื้นที่แซนด์บอกซ์ ก่อนเน้นย้ำ ตรวจ ATK ลดการแพร่เชื้อ
วันที่ 14 มกราคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในงานแถลงข่าวประเด็น สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ว่าตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้น
แต่เรื่องการรักษาพยาบาล ความพร้อมดูแลผู้ติดเชื้อ ตลอดจนความรุนแรงของโรค ทำให้ผู้ที่มีอาการหนักไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา อยู่ในจำนวนไม่เกิน 20 รายต่อวันมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว เราจึงมั่นใจว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้มีการนำแถลงเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นไปในแนวเดียวกัน ว่าเชื้อโอมิครอนติดเชื้อได้ง่าย แต่ความรุนแรงไม่เท่าสายพันธุ์เดลต้า
นายอนุทินย้ำว่า ในฐานะเป็นภาครัฐบาล ภาคนโยบาย ขอยืนยันต่อประชาชนว่า ตัวผมเอง ท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรี พร้อมจะสนับสนุนข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ที่เสนอโดยคณะแพทย์ จากสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้มีมาตรการทำให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขที่สุด ส่วนมาตรการต่าง ๆ หากทุกอย่างมีแนวโน้มดีขึ้น ทาง สธ.จะทำการเสนอ ศบค.ให้ผ่อนคลายมาตรการมากที่สุด และเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และขณะเดียวกันหากมีเหตุใดสุ่มเสี่ยง ทาง สธ.ก็พร้อมชี้แจงและเสนอมาตรการเพื่อย้ำความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก
ดังนั้น เรื่องมาตรการถ้าทุกอย่างเป็นไปในที่ดี จะเร่งเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ให้ผ่อนคลายมาตรการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้ามีเหตุที่เป็นความสุ่มเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็พร้อมเร่งเสนอมาตรการเพื่อย้ำเน้นถึงความปลอดภัยให้ประชาชนเป็นหลัก
ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้คาดการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังปีใหม่จากการเดินทางจำนวนมาก สาธารณสุขได้สรุปสถานการณ์เป็นระยะเวลา 14 วัน จากรายงานต่างประเทศ ยังมีการระบาดค่อนข้างมาก 2.9 ล้านคน ตัวเลขสูง ผู้ติดเชื้อ 320 ล้านคน อัตราเสียชีวิตลดลง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตไม่มาก
สำหรับประเทศไทย ผู้ติดเชื้อวันนี้ (14 ม.ค. 2565) 7,900 คน จากต่างประเทศ 342 คน ผู้เสียชีวิต 15 ราย ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 13 ราย ถ้าดูแนวโน้มการติดเชื้อ 14 วัน พบว่าเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในเดือนมกราคม ขณะนี้ทรงตัว มีแนวโน้มทรงตัวและลดลง ส่วนผู้ป่วยหนักลดลง และผู้ที่ใส่ท่อหายใจก็ลดลงเหลือ 105 ราย
ปัจจุบันสาธารณสุขอยู่ในการเตือนระดับที่ 4 ให้ประชาชนชะลอการเดินทาง ลดเข้าสถานที่เสี่ยง ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น จะพิจารณาลดระดับการเตือนภัยโควิด และจากการคาดการณ์เดือนมกราคมจะเห็นว่าโอมิครอน ระบาดรวดเร็ว หลังมีมาตรการเตือน ประชาชนให้ความร่วมมือระมัดระวังมากขึ้น ทำให้การแพร่กระจายโรคคงที่และลดลงบ้างเป็นบางวัน
ส่วนอัตราการเสียชีวิตลดลง เป็นผลจากโรคความรุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานคนไทยมากขึ้นจากการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 และบูสเตอร์เข็ม 3 ทำให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี
ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีนสะสมวันนี้อยู่ที่ 108,594,507 โดส ถือว่าฉีดได้มาก โดยต้นปีได้ปรับฐานประชากรใหม่จากกระทรวงมหาดไทย โดยเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากร 76.92% ส่วนเข็ม 2 ครอบคลุม 70.32% เข็ม 3 ครอบคลุม 13.63% ซึ่งเข็มสามขึ้นเร็วมาก เมื่อวานฉีดมากถึง 337,033 โดส โดยเข็มที่ 3 ในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหรือแซนด์บอกซ์ อยากให้ถึง 50% โดยเร็วใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งเราพยายามเร่งฉีดวัคซีน หากทำได้ถือว่าประเทศปลอดภัยอีกระดับหนึ่ง
ด้านแผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกมกราคม 2565 (โอมิครอน) กระทรวงสาธารณสุขแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
1.มาตรการสาธารณสุข ชะลอการระบาด ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีน เพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน และคัดกรองตนเองด้วย ATK หากใครมีความเสี่ยงมากให้ตรวจ ATK สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หากมีความเสี่ยงน้อยคัดกรองสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 สัปดาห์ครั้ง และติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์
2.มาตรการการแพทย์ มีระบบสายด่วนประสานผู้ติดเชื้อ เน้นการดูแลที่บ้าน Home Isolation เพราะโรคไม่ร้ายแรง อาการน้อยมากเกือบ 90% และเรามีระบบการติดตาม คอยดูแลจากโรงพยาบาล โดยให้ติดต่อ 1330 หรือคอลเซนเตอร์ในระดับจังหวัด ทั้งนี้ หากดูแลที่บ้านไม่ได้ สามารถดูแลผ่านศูนย์ระดับชุมชน Community Isolation หากอาการรุนแรงขึ้นก็จะส่งโรงพยาบาล
3.มาตรการสังคม ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด หรือ Universal Prevention สถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด โดยการทำ Covid Free Setting ซึ่งทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม ที่สำคัญขอให้ชะลอการเดินทางช่วงนี้
4.มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่าง ๆ
ขอความร่วมมือประชาชนฉีดวัคซีน และคัดกรองตัวเองด้วยการตรวจ ATK เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เราจะได้ป้องกันไม่ให้กระจายเชื้อให้กับคนอื่น
จากสถานการณ์แนวโน้มการคาดการณ์โดยกรมควบคุมโรค ช่วงแรกการระบาดค่อนข้างรวดเร็ว ขึ้นไปตามเส้นกราฟสีเทา ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ มาตรการหย่อนยาน หรือไม่ได้ผล ส่วนสีเขียว มาตรการดี ส่วนสีแดง คือ มาตรการปานกลาง เท่าที่ผ่านมาเราอยู่เส้นสีเขียว แต่ตัวโอมิครอน เมื่อมีการระบาดจะรวดเร็วมาก ทำให้ช่วงแรกมีการระบาดเป็นไปตามเส้นสีดำ แต่หลังจากมีการเตือน ได้รับความร่วมมือดีจากทุกภาคส่วน เมื่อรู้ตัวเราระมัดระวังขึ้น การแพร่ระบาดก็ค่อนข้างคงที่ ลดลงบางคน จึงมาแตะเส้นสีแดง
ซึ่งเส้นสีน้ำเงินที่เป็นการรายงานปกติทุกวันนี้ก็จะไปเจอเส้นสีเขียวได้โดยเร็ว เราก็พยายามควบคุม ส่วนอัตราตายอยู่อันดับต่ำกว่าเส้นสีเขียว ถือว่าดีมาก เป็นผลมาจากตัวโรคความรุนแรงน้อยลง ภูมิต้านทานประชาชนดีขึ้น เพราะร่วมมือกันฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 บางท่านก็บูสเตอร์เข็ม 3 และกลุ่มมีความเสี่ยงก็บูสต์เข็ม 4 ซึ่งเมื่อภูมิดีโรคก็จะอ่อนแอลง และอยู่กับโรคได้ปลอดภัยขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันทำ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK สำหรับชุดตรวจ ATK ที่มีการขาดแคลน ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้จัดหาและเตรียมไว้สัปดาห์ละ 1 ล้านเทส ราคา 35 บาท
- ศบค.เตือนคน 3 กลุ่ม ติดโอมิครอนถึงตาย ชลบุรี-กทม. ยอดป่วยใหม่พุ่ง
-
โควิดวันนี้ (14 ม.ค.) ชลบุรีพบคนฉีดวัคซีน 2 เข็ม ติดโควิดเพิ่มกว่า 4,000 คน