“กิฟฟารีน” สู้กำลังซื้อซบ ส่งสินค้าแมสขยายฐาน

ปัจจัยโควิด-กำลังซื้อฉุดอุตสาหกรรมขายตรง 7 หมื่น ล.ติดลบ แข่งขันรุนแรง “กิฟฟารีน” จัดทัพเดินหน้าพัฒนาสินค้าอาหารเสริม-สกินแคร์สูตรใหม่บุกขายออนไลน์เจาะแมส-พรีเมี่ยม พร้อมเพิ่มน้ำหนักดิจิทัลจัดอบรมหนุนนักธุรกิจสร้างรายได้

นายพงศ์พสุ อุณาพรหม ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด ธุรกิจขายตรงรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ธุรกิจขายตรงที่มีมูลค่า 70,000 ล้านบาท ติดลบ 3-4% จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดต่อเนื่องมาประมาณ 2 ปี

ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง และมีผลต่อพฤติกรรมการจับจ่าย ประกอบกับตลาดมีการแข่งขันสูง โดยปัจจุบันไม่ได้แข่งเฉพาะธุรกิจขายตรงด้วยกันเอง แต่รวมไปถึงร้านค้าปลีกที่งัดกลยุทธ์ใหม่ ๆ ดึงลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย ขณะที่ธุรกิจขายตรงก็ได้ปรับตัวหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น

ขณะนี้กำลังซื้อถือเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้น กิฟฟารีนจึงมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยเน้นการกระจายความเสี่ยงด้วยการพัฒนาสินค้าที่หลากหลายทั้งกลุ่มแมสไปจนถึงพรีเมี่ยม ให้สินค้าเข้าถึงลูกค้าทุกระดับ นอกจากนี้

จากการศึกษาพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางลดลงและหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น บวกกับปัจจุบันการระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอนไม่ได้รุนแรงมาก รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนในประชาชนเพิ่มขึ้น และรัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้คนเริ่มกล้าออกมาใช้ชีวิตมากขึ้นมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจขายตรงเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

“ที่ผ่านมาขายตรงมีการปรับตัวรับมือกับดิสรัปชั่นของโควิด ด้วยการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาซัพพอร์ตการทำธุรกิจ ทั้งในเรื่องของช่องทางจัดจำหน่ายและการฝึกอบรมสมาชิก มีการทำการตลาดแบบผสมผสานระหว่างออฟไลน์กับออนไลน์ และกิฟฟารีนก็ให้น้ำหนักกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น

จากเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการรุกตลาดออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบด้วยการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางไลน์แอด และ www.giffarine.com

รวมถึงมีการจัดอบรมให้กับนักธุรกิจให้สามารถปรับกระบวนการการทำงานให้มีความเชี่ยวชาญ และผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อนำมาปรับใช้ในการขยายเครือข่ายนักธุรกิจที่ปัจจุบันมีอยู่ 8 แสนรหัส”

นายพงศ์พสุกล่าวต่อถึงแผนการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทยังไม่ลงทุนโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ และเน้นบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่แน่นอน แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเน้นการนำสินค้าที่มีอยู่เดิมมาปรับสูตรใหม่

โดยจะโฟกัสไปที่กลุ่มสกินแคร์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เน้นตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะด้านคุณภาพ ราคาคุ้มค่า โดยกิฟฟารีนมีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ประกอบกับได้รับจ้างผลิตของลูกค้าต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง โดยปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของกิฟฟารีนแบ่งเป็นออฟไลน์ 50% และออนไลน์ 50%

อีกทั้งยังเตรียมจัดโปรโมชั่นต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้า รวมไปถึงการเน้นสร้างความสะดวกให้กับธุรกิจ เน้นพัฒนาระบบซัพพอร์ต ช่องทางการสั่งซื้อสินค้า วิธีการส่งสินค้า เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

และกิฟฟารีนมีข้อดี คือ มีฐานลูกค้าประจำที่ยังซื้อสินค้าอยู่ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในตลาด คือ การมองหาลูกค้ารายใหม่ ๆ จะเริ่มยากขึ้น จึงต้องจัดทำเทรนนิ่ง หรือการจัดอีเวนต์ออนไลน์

แม้ไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อนโควิด เนื่องจากการจัดประชุม สัมมนาในรูปแบบออนไซต์ถือว่าดีกว่าการจัดผ่านรูปแบบออนไลน์ จึงเป็นอุปสรรค ทั้งนี้ ต้องทำไปก่อนเพื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์กับนักธุรกิจกิฟฟารีน

นายพงศ์พสุกล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นธุรกิจขายตรงคงไม่กลับมาเติบโตเหมือนกับช่วง 3 ปีที่แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไปต่อได้ ส่วนรายเล็กเริ่มหายไปจากตลาดเพราะตอนนี้ปัญหาในตลาดคือการแข่งขัน มีแบรนด์สินค้าหลากหลายเข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค

ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดต้องทำแบรนดิ้งสินค้าจะต้องชัดเจนและน่าสนใจ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนยอดขายในตลาดขายตรง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 60% กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามและดูแลผิว 30% และอื่น ๆ 10% ในปีนี้คาดว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยังมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งจากเทรนด์คนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19