“เซ็น” รุกคืบลงทุน “ต้นน้ำ” สร้างความมั่นคง-ต่อยอดธุรกิจ

ร้านอาหาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2565 ยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจร้านอาหาร ที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และเป็นตัวแปรสำคัญในการใช้ชีวิตและการจับจ่าย

รวมถึงความท้าทายจากต้นทุนราคาวัตถุดิบสำคัญต่าง ๆ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมาจากปัญหาซัพพลายเชนที่มีปัญหา รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความยากลำบากและต้องเร่งปรับตัวมากขึ้น

เช่นเดียวกับ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ร้านอาหารรายใหญ่ที่มีร้านอาหารในเครือมากกว่า 15 แบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง อากะ, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น,

อาหารตามสั่ง เขียง, ร้านอาหารไทยอีสาน ตำมั่ว, ร้านอาหารเวียดนาม ลาวญวน เป็นต้น ต้องปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานครั้งใหญ่

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานต่อจากนี้ไป

Q : ที่มาของการเข้าไปร่วมทุนซัพพลายเออร์ ทั้งคิง มารีน ฟู้ด และเซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์

การร่วมลงทุนในทั้ง 2 บริษัท ดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนของบริษัท ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ เนื่องจากเซ็นเป็นทั้งธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งเป็นธุรกิจออมนิแชนเนล มีการทำดีลิเวอรี่ รีเทล

คิง มารีน ฟู้ด เป็นธุรกิจนำเข้าแซลมอน อาหารทะเล และเป็นซัพพลายเออร์ของเซ็น ซึ่งที่ผ่านมาเซ็นใช้แซลมอนเป็นวัตถุดิบจำนวนมาก ก่อนหน้านี้เราร่วมลงทุนกับธุรกิจต้นน้ำที่เป็นเอสเอ็มอี

ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้เรา โดยเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2564 ได้ซื้อธุรกิจโรงงานน้ำปลาร้า เซ็น แอนด์ โกสุมฯ อินเตอร์ฟู้ดส์ ใช้เงิน 72 ล้านบาท ถือหุ้น 51% ผลิตน้ำปลาร้าให้เรา

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คิง มารีน ฟู้ด โตสวนกระแสมาก โตถึง 30-40% เช่นเดียวกับเซ็น แอนด์ โกสุม หลังจากที่เซ็นเข้าไปลงทุน (ในนามบริษัท เซ็น แอนด์ สไปซี่ บริษัทย่อย) แต่ละเดือนมียอดขายโตเป็นเท่าตัว จาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท

วิธีการนี้จะทำให้ธุรกิจมีความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากวัตถุดิบเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเป็นโนว์ฮาวของผู้ผลิต จึง win-win ทั้งคู่ ร้านอาหารหรือธุรกิจก็มีความมั่นใจในการขยายกิจการ เอสเอ็มอีก็เติบโต

ถึงวันนี้เห็นชัดมากว่า เรื่องต้นทุนวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก มีความผันผวน เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบ ยิ่งเกิดกรณีรัสเซีย-ยูเครน ก็มีความชัดเจนมากขึ้น และซ้ำเติมวิกฤตโควิด-19 ให้แย่ขึ้นไปอีก

Q : จะสร้างการเติบโตร่วมกันหรือมีการต่อยอดธุรกิจอะไรบ้าง

ตอนนี้ธุรกิจหลักของคิง มารีน ฟู้ด คือ นำเข้าวัตถุดิบและซัพพลายให้ร้านอาหารต่าง ๆ และเตรียมขยายไลน์ไปสู่ธุรกิจรีเทล อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง ที่มีแนวโน้มเติบโตดี

หากมองในแง่ของซัพพลายเชนจะพบว่า ธุรกิจอาหารส่วนใหญ่ มีแต่กลางน้ำถึงเอนด์ยูสเซอร์ แต่ถ้าเรามีธุรกิจที่เป็นต้นน้ำด้วย นอกจากจะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว ต่อไปกลุ่มเซ็นอาจจะมีการนำวัตถุดิบที่เป็นซีซันนิ่งหรือวัตถุดิบมีความแตกต่างเข้ามาบริการลูกค้ามากขึ้น

เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า ธุรกิจจะแข่งขันกันด้วยสเกลการซื้อวัตถุดิบ ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ มีวอลุ่มมาก ก็จะมีอำนาจต่อรองมาก วันนี้รายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก ต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบมีความต่างกันมาก

ซึ่งการร่วมลงทุนในลักษณะนี้จะทำให้เซ็นแข็งแรงขึ้น อีกด้านหนึ่งก็จะช่วยลดต้นทุน เรื่อง raw material ต่าง ๆ ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศและในประเทศ

ธุรกิจอีกตัวหนึ่งที่ดูอยู่ คือ อาหารแช่แข็ง ที่เติบโตสวนกระแสมาก ไม่เหมือนกับธุรกิจร้านอาหารที่ดรอปมา 2-3 ปี เฉลี่ยปีละ 3-5% ที่ผ่านมา แม้ร้านอาหารจะปิด ลูกค้าไม่สามารถนั่งทานในร้านได้ แต่ดีลิเวอรี่ รีเทลเติบโตมาก raw material มันไปได้ทุกที่

ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ จากนี้คิง มารีน ฟู้ด จะเป็นครัวกลางเพื่อเตรียมอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารหมัก ที่ออกมาจากโรงงาน เพื่อส่งตรงไปถึงลูกค้าแฟรนไชส์ เป็นการช่วยลดขั้นตอนการทำงานในครัวได้

ขณะที่เซ็น แอนด์ โกสุมฯ ที่ทำหน้าที่ผลิตสินค้าน้ำปลาร้า น้ำปรุงรส ป้อนช่องทางขายต่าง ๆ ตอนนี้โรงงานผลิตไม่ทัน เฟสต่อไปเตรียมลงทุนซื้อเครื่องจักรมาเพิ่มในสายการผลิต

กลยุทธ์ทั้งหมดนี้ อาจไม่ได้ช่วยให้เกิดรายได้ทันที แต่การมีโปรดักต์ออกมาจำหน่ายมากขึ้น จะช่วยให้รายได้เติบโตดับเบิลดิจิต ภายในเวลา 2-3 ปี

Q : ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารตอนนี้เป็นอย่างไร

หลังจากที่ทางการไม่มีล็อกดาวน์ ตอนนี้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเร็ว ตั้งแต่ช่วงปีใหม่มา ตัวเลขประมาณการอยู่ที่ราว ๆ 80-85% แต่จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประกอบกับจำนวนของผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น ก็เริ่มส่งผลในเชิงจิตวิทยา คนระมัดระวัง ความถี่ของการเดินห้างลดลง ดูจากที่เราประมาณการไว้ทราฟฟิกสัก 80% จะเหลือ 75% ขณะเดียวกันก็ทำให้รายได้ของร้านอาหารดรอปลงไปด้วย

Q : ทิศทางของเซ็นกรุ๊ปจากนี้ไป

หลัก ๆ จะเน้นการสร้างความเข้มแข็ง หาโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทั้งเรื่องการควบกิจการ (M&A) ซึ่งที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่า การร่วมทุนของเซ็นแต่ละครั้งใช้งบฯไม่ถึงร้อยล้าน แต่มีโอกาสเติบโตไปถึงหลักพันล้าน

ด้วยการพยายามมองหาน่านน้ำใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจ ก่อนหน้านี้ เน้นขยายแบรนด์ตำมั่วและเขียง ในรูปแบบแฟรนไชส์ ควบคู่กับการปรับโมเดลร้านอาหารเซ็นมาขายบุฟเฟต์ ทำให้ยอดขายโตเกือบ 20% แสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนโมเดลช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้

ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนขยายร้านอาหารกลุ่มญี่ปุ่น ทั้งแบรนด์ออน เดอะ เทเบิล เซ็น โดยเฉพาะอากะ จากเดิมที่เน้นขยายไปตามศูนย์การค้าขนาดใหญ่แต่ปีนี้จะโฟกัสไปที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต

ทั้งโลตัส บิ๊กซี โดยจะเริ่มจากร้านอากะ ที่เริ่มทดลองสาขาแรกเดือนเมษายน ที่บิ๊กซี จังหวัดนครปฐม เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งที่จะมีการปรับเปลี่ยนก็คือ สินค้าที่เราผลิตออกมาจำหน่าย ทั้งน้ำปลาร้า เครื่องปรุงรส น้ำยำ ภายใต้แบรนด์ตำมั่ว จากเดิมเป็น business unit หนึ่งในเซ็นปีนี้ ได้นำไปผนวกกับเซ็น แอนด์ โกสุม

โดยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้แต่งตั้งบริษัท เดอเบล จำกัด เป็นดิสทริบิวเตอร์กระจายสินค้าไปในเทรดิชั่นนอลเทรด-โมเดิร์นเทรด ซึ่งปีนี้คาดว่าส่วนนี้จะมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาปิดไปที่ประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนการส่งออกบริษัทดำเนินการเองผ่านเทรดเดอร์

ส่วนธุรกิจร้านอาหารแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ ชะลอไป 2 ปี จากสถานการณ์โควิด จากนี้เตรียมขยายไปในลาวและกัมพูชา ส่วนเมียนมาคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

รวม ๆ แล้ว ปีนี้ตั้งเป้ารายได้ไว้ประมาณ 3.5-3.8 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิด