นันยาง เชื่อเปิดเทอมออนไซต์ ดันดีมานด์รองเท้าผ้าใบพุ่ง

รองเท้านักเรียน นันยาง

นันยาง เชื่อเปิดเทอมออนไซต์ ดันดีมานด์รองเท้าผ้าใบพุ่ง ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเด็กๆ ต่างเติบโตขึ้น รองเท้าคู่เก่าอาจใส่ไม่ได้แล้ว

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 นันยาง คาดว่าการเปิดเทอมแบบเรียนในโรงเรียนครั้งแรกในรอบ 2 ปีนี้ จะผลักดันดีมานด์ในตลาดรองเท้าผ้าใบมูลค่า 5,000 ล้านบาท ก้าวกระโดดเป็น 2 เท่า

เรียนจากบ้าน 2 ปีทำดีมานด์อั้น

ดร.จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนมูลค่า 5,000 ล้านบาทจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะการใช้ชีวิตของนักเรียนไทยจะกลับไปเรียนที่โรงเรียนตามเดิมและอยู่ร่วมกับโควิดในวิถีใหม่ 

นอกจากนี้เด็กยังเติบโตขึ้นตามวัย มีขนาดเท้าใหญ่ขึ้น รองเท้าที่เคยใส่ไปโรงเรียนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็อาจจะไม่สามารถใส่ได้อีก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กหรือนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ที่มีพัฒนาการร่างกายรวดเร็ว ซึ่งปกติเด็กวัยนี้จะเปลี่ยนขนาดรองเท้าใหญ่ขึ้น อย่างต่ำปีละ 1 เบอร์ ทำให้ดีมานด์รองเท้าผ้าใบในปีนี้อาจเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

ขณะเดียวกันสถานการณที่จำนวนผู้เล่นในตลาดลดน้อยลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังทำให้บริษัทมีโอกาสขยายส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจากสัดส่วน 43% ในปัจจุบันให้มากขึ้นอีกด้วย

รองเท้านักเรียน นันยาง

เน้นต่อยอดสินค้าฮิตในอดีต

โดยในส่วนของการตลาด ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางฯ อธิบายว่า ปีนี้จะเน้นการนำสินค้าเดิมที่ลูกค้าเคยใช้แล้วชอบและซื้อซ้ำ มาเป็นจุดต่อยอดในการออกสินค้าใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด ในช่วงที่สภาวะเศรฐกิจที่ยังไม่มั่นคง และผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่าย

มีไฮไลท์เป็น การนำกระแสรองเท้าผ้าใบหัวผ้าสีขาวที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากเด็กผู้หญิง กลับมาปรับโฉมใหม่ให้ทันสมัย และเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย โดยเพิ่มรองเท้าผ้าใบสีขาว เข้าไปในกลุ่มรองเท้าผ้าใบรุ่น ZAFARI ที่ปัจจุบันมีวางขายแค่ 2 สีคือ ดำ กับ น้ำตาล 

เชื่อว่าการเพิ่มสีขาวเข้ามาในครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารุ่นใหม่ที่ต้องการใส่รองเท้าแบบเรียบง่าย สไตล์ธรรมดา สวมใส่สบายได้ทุกวัน ในราคาจับต้องได้

มั่นใจสต๊อกสินค้าเพียงพอ

ขณะเดียวกันนายชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด ย้ำว่า 

บริษัทวางแผนผลิตสินค้าเก็บสต็อกไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งนันยางได้คาดการณ์สถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2564