เจ้าสัว “เจริญ” หว่านเม็ดเงิน กว้านแชมป์ เหล้า-เบียร์ เอเชีย

เฉพาะแค่ปี 2560 เพียงปีเดียว “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ราชาเทกโอเวอร์ ก็ใช้เงินทุ่มซื้อกิจการต่าง ๆ ไปแล้ว รวมเบ็ดเสร็จเฉียด ๆ 2 แสนล้านบาท !!และส่วนใหญ่ล้วนเป็นธุรกิจที่เข้ามาเสริมทัพให้กับกลุ่ม “ไทยเบฟ” เริ่มจากดีลไก่ทอดเคเอฟซี 1.14 หมื่นล้านบาท ตามด้วยการซื้อแกรนด์รอยัลกรุ๊ป เหล้าเบอร์ 1 ในเมียนมา 2.4 หมื่นล้านบาท และล่าสุด ซาเบคโก้ (SABECO) เบียร์เบอร์ 1 ที่เวียดนามอีก 1.6 แสนล้านบาท

แค่รอบนี้เจ้าสัวเจริญได้กวาดแบรนด์ใหม่ ๆ เข้าพอร์ตได้เพียบ แถมได้เครือข่ายกระจายสินค้า โรงงาน โนว์ฮาว วอลุ่มยอดขาย พร้อมตลาดขนาดใหญ่ที่เจ้าของเดิมทำเอาไว้อยู่แล้วมาครองแบบไม่ต้องเปลืองเวลาเปลืองแรงบิลด์ให้เมื่อยตุ้ม

อย่างกิจการของแกรนด์รอยัลกรุ๊ป นอกจากเหล้าแบรนด์ดังที่มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ในเมียนมาแล้ว “เจริญ” ยังได้โรงเหล้าอีก 2 แห่ง และเครือข่ายกระจายสินค้าครอบคลุมค้าส่ง ค้าปลีกอีกกว่า 2 หมื่นแห่ง หรือกรณีของซาเบคโก้ บริษัท ไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด รัฐวิสาหกิจของเวียดนาม เจ้าของแบรนด์ไซ่ง่อนเบียร์ เบียร์ 333 ก็มีมาร์เก็ตแชร์รวมกันถึง 40% หรือคิดเป็น 1.6 พันล้านลิตรในปี 2559

ตลาดเวียดนามถือว่ามีศักยภาพการเติบโตอีกมหาศาล ด้วยจำนวนประชากรกว่า 90 ล้านคน มีกลุ่มวัยรุ่นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นฐานให้กับการเติบโตของสินค้าหลายประเภทต่อไป โดยเฉพาะเบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมของชาวเวียดนาม

นี่ยังไม่นับว่าช่วงที่ผ่านมา “เจ้าสัวเจริญ” เข้าไปสร้างฐานที่เวียดนามไว้อย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำทั้งโรงผลิตแก้วของเครือบีเจซี การเข้าไปซื้อร้านค้าส่งรายใหญ่อย่าง “เมโทรแคชแอนด์แครี่” ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “เอ็มเอ็ม เมก้ามาร์เก็ต” มีสาขาอยู่ 19 สาขา รวมถึงการเข้าซื้อร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท ที่มีสาขาอยู่กว่า 170 แห่ง

นอกจากนี้การที่ “เจ้าสัวเจริญ” เข้าไปซื้อกิจการของ F&N บริษัทเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ เจ้าของแบรนด์เกลือแร่ 100 พลัส นมถั่วเหลืองนิวทริซอย นมแมกโนเลีย ฯลฯ ยังทำให้เจริญได้หุ้นของ “วีนามิลค์” (Vinamilk) รัฐวิสาหกิจในเวียดนาม ผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์จากนมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาครองอีก 10% จากเจ้าพ่อน้ำเมาเมืองไทย คงจะกลายเป็นเจ้าพ่อน้ำเมาแห่งเอเชียในไม่ช้า

เพราะหากจะพูดถึงความเป็นเบอร์ 1 ในเอเชีย ของธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องบอกว่า “ไทยเบฟ” มีมาร์เก็ตแคป (Market Capitalization) หรือมูลค่าตามราคาตลาด อยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองอยู่แค่กลุ่ม “อาซาฮี” จากญี่ปุ่นที่มีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (ข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2560)

แต่ทั้งนี้อาจจะดูว่ายังห่างไกลเป้าหมายที่เจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ผู้กุมบังเหียนของไทยเบฟตั้งในวิสัยทัศน์ 2020 หรือเป้าหมายในปี 2563 ว่า ไทยเบฟ ต้องการที่จะเพิ่มรายได้ของธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ และธุรกิจในต่างประเทศ ให้ทั้งคู่มีสัดส่วนเป็น 50% จากปัจจุบันที่อาณาจักร 1.8 แสนล้านบาทแห่งนี้ ยังมีรายได้จากกลุ่มเครื่องดื่มเหล้า-เบียร์ ในประเทศเป็นหลัก

ในปี 2560 ที่ผ่านมา รายได้ไทยเบฟยังมาจากต่างประเทศเพียง 5.2 พันล้านบาท หรือ 3% และมีรายได้จากกลุ่มเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ และอาหารรวมกัน 2.3 หมื่นล้านบาท หรือ 12.4%

นอกจากดีลเหล้า-เบียร์-ในต่างประเทศ จึงเห็นดีลของกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์ เช่น ร้านอาหารหลายดีลที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาเพื่อเร่งเครื่องสู่ทาร์เก็ตที่วางเอาไว้

ทั้งเคเอฟซี แบรนด์ไก่ทอดเบอร์ 1 ในธุรกิจฟาส์ตฟู้ดเมืองไทย และกลุ่มสไปซ์ ออฟ เอเชีย ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย อาทิ คาเฟ่ ชิลลี่, ชิลลี่ ไทยเรสเตอร์รองต์, พ็อต มินิสทรี ฯลฯ

รวมถึงบ้านสุริยาศัย บ้านเก่าอายุ 100 กว่าปี ของตระกูลบุนนาค ย่านสุรวงศ์ ซึ่งปัจจุบันนำมาทำเป็นร้านอาหารประเภท Super Fine-Dining อาหารไทยต้นตำรับ ทำให้ไทยเบฟมีแบรนด์ร้านอาหารที่ครอบคลุมตั้งแต่ฟาส์ตฟู้ด ไปจนถึงร้านสุดหรู เช่นเดียวกับเหล้า ที่มีตั้งแต่เหล้าขาวขวดละ 100 บาท ไปจนถึงซิงเกิลมอลต์ขวดละหลายหมื่นบาทจากโรงเหล้าในสกอตแลนด์ที่ซื้อมาตลอดจนการปรับโครงสร้างของบริษัท F&N ที่จะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้ เพื่อทำให้ไทยเบฟถือหุ้นใหญ่ และมีสิทธิ์นำรายได้ของ F&N ที่ถือเป็นรายได้

จากกลุ่มน็อนแอลกอฮอล์ และรายได้จากต่างประเทศ เข้ามาผนวกในผลประกอบการของไทยเบฟอีกอย่างน้อย ๆ 6.7 หมื่นล้านบาท และคงมีดีลอื่น ๆ ที่จะเข้ามาเซอร์ไพรส์ตลาดอีกแน่นอน

แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทในเครือของเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็เข้าซื้อกิจการเป็นว่าเล่น คิดเป็นมูลค่ากว่า 6.7 แสนล้านบาท ตั้งแต่ F&N 3.36 แสนล้านบาท บิ๊กซี 1.22 แสนล้านบาท ไทยคอน 1.3 หมื่นล้านบาท เคเอฟซี 1.14 หมื่นล้านบาท แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป 2.4 หมื่นล้านบาท ซาเบคโก้ 1.6 แสนล้านบาท ด้วยเครดิตที่ดี และเครือข่ายของทีซีซีกรุ๊ปที่คอยซัพพอร์ต การหาแหล่งเงินทุนของเจริญจึงไม่ใช่เรื่องยาก และคำว่าแพงก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเจ้าสัว เคยยกคำพังเพยของคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดีว่า “ซื้อมาก็ได้ของ” คือแม้จะแพงหน่อยแต่ก็ได้ของสิ่งนั้นมา

จริง ๆ แล้วคงต้องบอกว่าทุกกิจการนั้น “แพงแต่คุ้ม” เพราะไม่ต้องลำบากสร้างเองจากศูนย์ แถมได้แอสเซต (Assets) อย่างอื่นติดมาด้วยเพียบ อยู่ที่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเท่านั้น…