
การปลดล็อกกัญชาออกจากสถานะยาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ในระหว่างที่ พ.ร.บ.กัญชากัญชง ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะมาควบคุมยังไม่ประกาศใช้ เพราะเพิ่งผ่านวาระแรกในสภา ทำให้ สธ.และหน่วยงานต่าง ๆ ต้องนำกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ออกมาป้องปรามการนำไปใช้เพื่อความบันเทิง การใช้โดยเด็กและเยาวชน หรือใช้เกินขนาดจนเกิดผลข้างเคียง
พร้อมจัดอีเวนต์-แถลงข่าวสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน ย้ำจุดประสงค์ด้านการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- วิกฤตหรือไม่วิกฤต คำตอบผู้ว่าการ ธปท.
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
“นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้แจกแจงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ และไขข้อกังวลต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา รวมถึงฉายภาพถึงสถานการณ์และแนวทางของ สธ. หลังการปลดล็อก ไปจนถึงการประกาศใช้ พ.ร.บ.กัญชากัญชงในอนาคต
กัญชาเสรี 100% หรือไม่
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำว่า แม้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 65 ทุกส่วนของกัญชา รวมถึงเมล็ดและช่อดอกจะไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป แต่ก็ไม่ได้เปิดเสรี 100% โดยนอกจากการปลูก การใช้ในครัวเรือน รวมถึงการจำหน่ายแล้ว ยังมีหลายด้านที่ถูกควบคุมและมีโทษอาญาหากฝ่าฝืน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เพื่อนันทนาการหรือความบันเทิง เช่น สูบด้วยวิธีการต่าง ๆ จะถูกควบคุมโดยกฎหมายฐานเป็นเหตุรบกวนหรือสร้างความรำคาญ หากมีผู้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าถูกรบกวนจากควันหรือกลิ่นกัญชา ผู้สูบอาจระวางโทษปรับ 2.5 หมื่นบาท หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามจำหน่ายให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีอีกด้วย
เช่นเดียวกับการนำเข้าที่ถูกห้ามโดยการนำเข้าในรูปแบบต้นหรือชิ้นส่วนพืชนั้น จะถูกห้ามโดย พ.ร.บ.กักพืช ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางหรืออื่น ๆ นั้น มีสถานะเป็นสิ่งห้ามนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับและจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ การนำไปปรุงอาหารขายในร้านแม้จะไม่ถูกห้าม แต่ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กม. เช่น ต้องติดป้ายคำเตือนต่าง ๆ อีกทั้งหากใส่ปริมาณมากเกินไป เสี่ยงจะเกิดผลข้างเคียงกับผู้ทาน เช่น หวาดกลัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันลด ฯลฯ นำไปสู่ความเสียหายทางธุรกิจของผู้ประกอบการ
สำหรับเรื่องการขับรถภายใต้ฤทธิ์กัญชามี พ.ร.บ.จราจรควบคุมอยู่ในเรื่องการเสพของมึนเมาขณะขับขี่ยานพาหนะ เช่นเดียวกับการมึนเมาในที่สาธารณะซึ่งมี กม.อาญาเรื่องผู้ที่มีอาการมึนเมาในที่สาธารณะ ส่วนการโฆษณานั้น วันที่ 14 มิ.ย. 65 นี้ สธ.จะเข้าพูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อวางข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณากัญชาเพื่อการนันทนาการ
การควบคุมเหล่านี้เนื่องจากวัตถุประสงค์การปลดล็อกกัญชาคือ การใช้เพื่อการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ พร้อมกับสนับสนุน-ป้องกันผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับกัญชาภายในประเทศให้สามารถเติบโตได้ โดยไม่ถูกกระทบจากผู้ผลิตต่างชาติ
ทยอยออก กม.ควบคุมกัญชา
แน่นอนว่าระหว่างที่ พ.ร.บ.กัญชากัญชงยังไม่บังคับใช้นี้ จะมีคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชงติดตามเก็บข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการปลดล็อกกัญชาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสถิติอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์ เช่น เพื่อให้เกิดการมึนเมา รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อห่วงใยในช่วงรอยต่อนี้ เพื่อหามาตรการแก้ไขต่อไป
พร้อมตั้งคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ซึ่งมีบุคลากรระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ., ปลัด สธ., เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับภาคประชาชน เนื่องจากการให้ความรู้ความเข้าใจทั้งผลดีและผลเสีย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องปรามการใช้กัญชาแบบผิดวัตถุประสงค์ได้
ปลูกได้-ใช้ต้องทำตาม กม.
สำหรับการจดแจ้งการปลูกกัญชาผ่านแอปหรือเว็บไซต์ “ปลูกกัญ” นั้น ปัจจุบันเป็นเพียงการขอความร่วมมือไม่มีการบังคับหรือบทลงโทษหากไม่จดแจ้ง แต่ถือเป็นการรักษาสิทธิของผู้ปลูกเอง เพราะผู้ปลูกที่ไม่จดแจ้งอาจเสียสิทธิต่าง ๆ ที่อาจได้รับหรือเกิดความเสี่ยงทางกฎหมายเมื่อ พ.ร.บ.กัญชากัญชงประกาศใช้ในอนาคต เนื่องจาก สธ.จะโอนฐานข้อมูลปลูกกัญนี้ไปรวมกับฐานข้อมูลการจดแจ้งตาม พ.ร.บ. ผู้ที่ลงทะเบียนไว้แล้วจึงได้รับความสะดวกมากกว่า
อีกทั้งการจดแจ้งนี้จะถือเป็นเครดิตที่ดีของผู้แจ้ง หากต้องการต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาอีกด้วย เพราะเกี่ยวโยงกับข้อกำหนดในการสกัดสารที่ต้องใช้กัญชาในประเทศเท่านั้น รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่จาก สธ.และหน่วยงานอื่นคอยดูแลและคัดกรองอีกด้วย
ส่วนการหาเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้ากัญชานับเป็นอีกประเด็นที่มีผู้สนใจสอบถามกันมาก โดยปัจจุบันผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาสามารถติดต่อซื้อเมล็ดหรือต้นกล้าจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาก่อนหน้านี้ได้ เนื่องจากการปลดล็อกทำให้เอ็มโอยูระหว่างวิสาหกิจชุมชนกับกรมการแพทย์สิ้นสุดลงจึงสามารถขายปลีกส่วนต่าง ๆ ของกัญชาให้ประชาชนทั่วไปได้ จากเดิมที่ต้องส่งให้แก่กรมการแพทย์แผนไทยเท่านั้น
โดยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 หรือ 1 วันก่อนการปลดล็อก มีผู้จดแจ้งการปลูกกัญชาด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ผ่านในฐานข้อมูลปลูกกัญแล้วกว่า 1 แสนราย
- ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ห้ามเด็ก-วัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปี ใช้กัญชา มีผลต่อสมอง
- กัญชามีกี่สายพันธุ์ ออกฤทธิ์แตกต่างกันหรือไม่ มีสรรพคุณอะไรบ้าง
- กัญชาฟีเวอร์ แห่ลงทะเบียนเข้าแอพ “ปลูกกัญ” เฉียด 10 ล้าน
- ลงทะเบียนปลูกกัญชา เพิ่มอีก 1 ช่องทาง หลังประชาชนสนใจจำนวนมาก
- เปิดร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ทำอะไรได้-ไม่ได้ มีบทลงโทษอย่างไร