โควิดดัน “ส่งออกของเล่น” พุ่ง อเมริกา-ญี่ปุ่นออร์เดอร์ทะลัก

ของเล่น

สมาคมของเล่นฯชี้อานิสงส์โควิด-19 ดันตลาดส่งออกโต 30% ยอดทะลุ 8 พันล้าน หลังสินค้าจีนสะดุดส่งออกไม่ได้ส่วนตลาดในประเทศโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ย้ำพิษเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ทำผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง เลิกกิจการ

กระตุ้นสมาชิกผู้ประกอบการเร่งชูนวัตกรรม-คุณภาพมาตรฐาน เพิ่มความสามารถการแข่งขัน โกยยอด โปรโมตของเล่นช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเด็กเจาะตลาดโลก เม.ย.ปีหน้า พาเหรดร่วมงานยักษ์ Kind+Jugend ASEAN 2023

นางอุไรวรรณ บุนนาค นายกสมาคมการค้าของเล่นและผลิตภัณฑ์เด็กไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว และกำลังซื้อในภาพรวมผู้บริโภคไม่ค่อยดีนัก ส่งผลให้ภาพรวมตลาดสินค้าของเล่นเด็กมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

เนื่องจากมีเด็กบางส่วนไม่ได้ไปโรงเรียน ทำให้ผู้ปกครองรุ่นใหม่ ๆ มีการซื้อของเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก และหลังโรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอน เด็กไปโรงเรียน อัตราการซื้อก็ดรอปลง ซึ่งคาดว่าจะกลับไปเติบโตอีกครั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่และวันเด็ก

และหากเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ พฤติกรรมคนไทยไม่นิยมซื้อของเล่น หรือซื้อเพียงแค่ 1% ต่อการใช้จ่ายเท่านั้น เนื่องจากของเด็กเล่นถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

Advertisment

สำหรับสมาคม ปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการของเล่นและผลิตภัณฑ์เด็กอยู่ประมาณ 100 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออก 50-60 ราย ส่วนหนึ่งรับจ้างผลิตให้กับผู้ส่งออก และเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย

โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายสำหรับตลาดในประเทศลดลง ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หลายรายได้เลิกกิจการและใช้พื้นที่โรงงานไปทำอย่างอื่น แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่า มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดจำนวนหนึ่ง และมีการปรับตัวด้วยการนำสินค้ามาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไป

ขณะที่ตลาดส่งออก พบว่ายอดขายกลุ่มสินค้าของเล่นเด็กเติบโตกว่า 30% จากมูลค่า 7,000 ล้านบาท ขยับขึ้นมาเป็น 8,000 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ของเล่นเด็กไม่สามารถส่งออกได้ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในไทย นำผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาผ้าและของเล่นมีล้อ เน้นส่งออกไปอเมริกาเป็นหลัก ตามด้วยญี่ปุ่น ฮ่องกง เยอรมนี และมาเลเซีย เพราะคนต่างชาติส่วนใหญ่มีการทำงานที่บ้าน (work from home) และมีกำลังซื้อ จึงนิยมซื้อของเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการเด็ก

“ต้องยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดส่งออกสูงมาก ไม่เพียงแต่ฝั่งยุโรป แต่สินค้าของเล่นจากอาเซียน จากอินโดนีเซีย เวียดนาม เริ่มพัฒนาสินค้าส่งออก แต่ไทยยังเป็นผู้ส่งออกที่มีความได้เปรียบเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้าและได้รับการยอมรับจากลูกค้า”

Advertisment

นางอุไรวรรณกล่าวต่อถึงกลยุทธ์การพัฒนาสินค้ากลุ่มของเล่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันว่า สิ่งสำคัญต้องเน้นการออกแบบด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เหมาะกับการใช้งาน ควบคู่กับเพิ่มน้ำหนักโปรโมตสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มของเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก

อาทิ ของเล่นเพื่อการศึกษา (educational toys), ของเล่นสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน (preschool toys) พร้อมแนะนำให้ผู้ประกอบการโปรโมตเรื่องความปลอดภัยของสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้เล่น

ทั้งนี้ ของเล่นในโลกนี้ทำมาจากพลาสติก 80% แต่วันนี้ตลาดในแถบยุโรปเน้นให้ความสำคัญกับของเล่นประเภทไม้มากขึ้น จึงต้องนำทรัพยากรและวัตถุดิบในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากสุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตในช่วงที่ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สมาคมได้ผลักดันให้สมาชิกเร่งปรับตัวด้วยการเริ่มหาช่องทางการตลาดและสร้างโอกาส รวมถึงการเข้าร่วมงานแฟร์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง เช่น การเชิญชวนให้เข้าร่วมงาน Kind+Jugend ASEAN 2023 ระหว่างวันที่ 5-8 เมษายน 2566 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) โดยงานนี้จะมีผู้ประกอบการทั่วโลกมาออกบูท คาดว่าจะมีประมาณ 200 บูท

เริ่มตั้งแต่สินค้าสำหรับทารกและเด็กวัยหัดเดิน เจาะกลุ่มช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด-6 ขวบ ตลอดจนสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สินค้าแม่และเด็ก, คาร์ซีต, อุปกรณ์ต่าง ๆ เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีคนร่วมงาน 12,000 คน ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นต่างชาติ 3,000 คน และจะมีการซื้อขายภายในงานไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังผู้คนปรับตัวอยู่กับโควิดได้มากขึ้น ประเมินว่าครึ่งปีหลัง 2565 ยอดขายทั้งในประเทศและส่งออกจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จากกลยุทธ์ข้างต้นที่กล่าวมา