ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ ตลาดจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐคืนนี้

ค่าเงินบาท
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563 ค่างินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/3) ที่ระดับ 32.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (25/3) ที่ระดับ 32.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังจากข้อมูลล่าสุดของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 62,068 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 869 ราย

นอกจากนี้ทำเนียบขาวและวุฒิสภาสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีวงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ครอบคลุมถึงการจัดสรรเงินกู้วงเงิน 3.67 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และสนับสนุนโครงการที่จะจัดสรรเงินให้แก่กระทรวงการคลังในวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยออกมานั้นปรับตัวดีขึ้น โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐปรับตัวขึ้น 1.2% ในเดือน ก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ม.ค. ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจลดลง 0.8% ในเดือน ก.พ. ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.68-32.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม โดยภายใต้สถานการณ์ข้างต้น กนง.คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 5.3% ในปี 63 ก่อนจะกลับมาขยายตัว 3% ในปี 64 โดยปัจจัยหลักดังกล่าวส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดว่าจะลดลง-1.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 63 และ ปี 64 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้า พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มอีก 111 ราย ยอดสะสมเพิ่มเป็น 1,045 ราย

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (26/3) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0914/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/3) ที่ระดับ 1.0840/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดย Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ 86.1 ในเดือน มี.ค.จากระดับ 96.0 ในเดือน ก.พ. ผลสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรนีกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทรุดตัวลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นอกจากนี้ GfK เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนปรับตัวลงแตะต่ำสุดในรอบ 10 ปีสู่ 2.7 จุด ในเดือน เม.ย. จาก 8.3 จุดในเดือน มี.ค. ทำใหัสภาล่างของเยอรมนีได้มีการระงับการใช้กฎหมายคุมเพดานหนี้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญในวันนี้ (26/3) และได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ร่างโดยรัฐบาลของนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0872-1.0940 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0940/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (26/3) เปิดตลาดที่ระดับ 110.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/3) ที่ระดับ 111.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีนิกเคอิตลาดหุ้นโตเกียวปรับตัวลงในวันนี้ หลังปรับตัวลงมากกว่า 1,000 จุด เนื่องจากกรุงโตเกียวและเมืองอื่น ๆ ของญี่ปุ่นได้เร่งความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะผู้เชี่ยจวชาญของรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถควบคุมได้ โดยการประเมินดังกล่าวอาจนำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ทั่วประเทศเพื่อให้สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้นายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหากจำเป็น ทั้งนี้ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.81-111.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (26/3) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2562 (26/3) ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน ก.พ. (27/9) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (27/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.9/-2.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ