4 ยักษ์จีนต่อคิวร่วม EV3.5 โตโยต้านำร่อง “กระบะอีวี” เขย่าตลาด

รถอีวีจีน

4 ค่ายอีวีจีนชักแถวร่วมวงมาตรการส่งเสริม EV3.5 “ฉางอาน, จีเอซี, เชอรี่ และจีลี” หลังบอร์ดอีวีเห็นชอบมาตรการเงินอุดหนุนผู้ซื้อรถเก๋ง-กระบะอีวีสูงสุด 1 แสนบาท พร้อมปรับเงื่อนไขลงทุนให้ผลิตชดเชยนำเข้าเพิ่มเป็น 1 ต่อ 3 กระตุ้นการลงทุนมากขึ้น “เอ็มจี” หน้าเก่าเฟสแรกพร้อมขยับร่วมเฟส 2 สมรภูมิแข่งเดือด ฟากค่ายรถญี่ปุ่นขอลุยตลาด “ไฮบริด” รอลุ้นนโยบายนายกฯเศรษฐา โตโยต้าชิมลางส่ง “กระบะอีวี” ลุยตลาด BOI เผยปีหน้ามีรถอีวีผลิตในประเทศไทย 7 แบรนด์

พลันที่รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน คลอดมาตรการส่งเสริมรถ EV เฟสที่สอง หรือ EV3.5 กระแสของตลาด EV ก็ร้อนฉ่าขึ้นมาทันที

4 แบรนด์ใหญ่ชักแถวร่วมวง

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังรัฐบาลคลอดมาตรการ EV3.5 จะมีค่ายรถยนต์แบรนด์จีนเข้าร่วมโครงการ 4-5 ราย ที่ประกาศตัวชัดเจนแล้ว อาทิ ฉางอาน ออโต้, จีเอซี หรือกว่างโจว ออโตโมบิล, เชอรี่ และจีลี ซึ่งเกือบทุกรายมีความพร้อม โดยเฉพาะ 2 เจ้าแรก ประกาศเปิดตัวแบรนด์ใหม่เรียบร้อยและพร้อมทำตลาดทันที ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ที่จะถึงนี้

ดังนั้นลูกค้าชาวไทยที่ตัดสินใจซื้อก็มีรถพร้อมส่งมอบและได้รับเงินอุดหนุนเป็นส่วนลดจากราคาเต็มทันที ส่วนปี 2567 ค่ายเชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็พร้อมส่งแบรนด์ O&J (OMODA&JACCO) ประเดิมตลาดด้วย รุ่นโอโมด้า 5 เช่นเดียวกับแบรนด์จีลี ซึ่งท่านนายกฯเศรษฐาไปทาบทามมาทำตลาดบ้านเราเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

“จากนี้ไปเราคงได้เห็นแบรนด์จีนวิ่งกันเต็มถนนในบ้านเรา ส่วนค่ายญี่ปุ่นเท่าที่ทราบยังไม่พร้อมกับรถ EV หลัก ๆ คงไปเน้นไฮบริด โดยเฉพาะเร็ว ๆ นี้บีโอไออาจจะมีแพ็กเกจสนับสนุน ตามนโยบายท่านนายกฯที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตรถยนต์สันดาปต่อไปอีก 10-15 ปี”

BOI ยันปี’67 ผลิตอีวี 7 แบรนด์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ระบุว่า มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะแรก หรือ EV3.0 ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนแล้วรวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2566) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.6 เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2560 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

“ตอนนี้มีหลายค่ายที่เริ่มดำเนินการผลิตแล้วในประเทศไทย อย่าง Mercedes-Benz ที่เริ่มผลิตรถยนต์รุ่น EQS ส่วนค่ายรถยนต์จีนที่จะเริ่มผลิตในปีหน้า มี 7 ราย ได้แก่ BYD Changan Aion Great Wall Motors MG4 Foton และ Neta มั่นใจว่า ปี 2570 น่าทำได้ตามเป้านโยบาย 30@30 ผลิตรถ EV 30% ของยอดผลิตในประเทศและการเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ยืดรับอุดหนุนเฟสแรก 1 เดือน

นายนฤตม์กล่าวอีกว่า BOI ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.0 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย นอกจากนี้ยังให้กรมสรรพสามิตขยายให้ผู้ประกอบการรับเงินอุดหนุนคืนไปอีก 1 เดือน จากเดิมวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อการขายรถในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ ทำเอกสารขอรับเงินอุดหนุนคืนได้ทัน โดยเฉพาะการจดทะเบียน

ปรับลดเงินอุดหนุนเหลือแสนบาท

เลขาฯบีโอไอกล่าวอีกว่า แม้สิทธิประโยชน์จะยังคงมีอยู่เช่นเดียวกับมาตรการ EV3.0 อาทิ การลดอากรนำเข้า การลดภาษีสรรพสามิต และเงินอุดหนุน ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็มีการปรับสัดส่วนจำนวนเงินอุดหนุนลงตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่ แต่ได้ปรับลดเงินอุดหนุนรถเก๋งลงเหลือรับสูงสุดแค่ 1 แสนบาท มอเตอร์ไซค์รับสูงสุดแค่ 1 หมื่นบาท และรถปิกอัพรับสูงสุด 1 หมื่นบาท (ดูตาราง)

บีบผลิตชดเชยเพิ่มขึ้น

นายนฤตม์กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนทั้ง EV3.0 EV3.5 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถเข้ามาจำหน่ายก่อน แล้วผลิตชดเชยภายหลัง เฟสแรก (EV3.0) สิ้นสุดมาตรการภายใน 2566 เริ่มผลิตปี 2567 อัตราส่วนชดเชยนำเข้า 1 คัน ชดเชย 1 คัน แต่ถ้าเริ่มผลิตปี 2568 นำเข้า 1 คัน ชดเชย 1.5 คัน ส่วนเฟส 2 (EV3.5) สิ้นสุดมาตรการในปี 2568 เริ่มผลิตปี 2569 อัตราส่วนชดเชยนำเข้า 1 คัน ชดเชย 2 คัน แต่ถ้าเริ่มผลิตปี 2570 นำเข้า 1 คัน ชดเชย 3 คัน

“นอกจากนี้ยังกำหนดใช้เงื่อนไขแบตเตอรี่แบบเดียวกันกับมาตรการ EV3.0 ทำได้ทั้ง Cell-to-Pack (CATL) กับ Cell-to-Module (CTM) แต่จะมีเงื่อนไขเพิ่มว่า ต้องมีชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในไทย 1-2 ชิ้น จาก 5 ชิ้นส่วนสำคัญ”

ชิ้นส่วนเฮเพิ่มโลคอลคอนเทนต์

แหล่งข่าวผู้ประกอบการค่ายรถยนต์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายสนับสนุนรถ EV บีโอไอทำได้ดีมาก ให้สิทธิประโยชน์ลดหลั่นกัน คนมาก่อนย่อมต้องได้ประโยชน์สูงกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดว่า EV3.0 มีส่วนต่างกันพอสมควร ไม่เหมือนอีโคคาร์เฟส 1 และอีโคคาร์เฟส 2 คนที่มาทีหลังกลับได้ประโยชน์สูงกว่า

ด้าน ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวถึงมาตรการ EV3.5 กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

มาตรการ EV3.5 ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ประเทศไทยต้องการจะเป็นฐานการผลิต EV ที่สำคัญในภูมิภาคหนึ่งของโลกและของเอเชีย มีการใช้ local content มากขึ้น รวมไปถึงการผลิต EV ที่มากขึ้นตามไปด้วย

“รัฐบาลไม่ได้มองประเทศไทยเป็นแค่ตลาดเท่านั้น แต่ยังคิดไปถึงเรื่องของการลงทุนระยะยาวที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ลดลงเชื่อว่าผู้ประกอบการน่าจะปรับตัวได้ เพราะเข้าใจว่าวันนี้ราคารถ EV ก็ถูกลงมาพอสมควรแล้ว และที่สำคัญ ค่ายรถที่เข้ามาแล้ววันนี้ ส่วนใหญ่แบรนด์จีน ขณะที่แบรนด์ยุโรปและค่ายรถญี่ปุ่นเองก็อาจจะต้องตัดสินใจว่า ในเมื่อรัฐบาลมีการขยายตรงนี้ออกไป ถ้าเขาเข้ามาตอนนี้ก็ยังไม่ได้ตกขบวน แต่ถ้าผ่านไปนานกว่าอาจไม่ทัน”

อีกเรื่องหนึ่งในฐานะผู้ผลิต EV มองว่าซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์จะ economy of scale รวมถึงผมเชื่อว่าวันนี้ ผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากรถสันดาปภายในมาสู่รถ EV มากขึ้น รถขับสนุก ราคาจับต้องได้ แถมยังทำให้บรรลุเป้าหมายนโยบาย 30@30 ได้เร็วขึ้น

MG จ้องเสียบ EV3.5 เพิ่ม

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้จะเห็นว่าค่ายรถที่เข้ามาตรการ EV3.0 มีค่ายรถที่เข้าร่วมเพียง 4 ราย ได้แก่ MG, ORA, NETA และ BYD ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายตามนโยบายรัฐดังกล่าว อีกทั้งรถที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นรถในระดับราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนรถที่เกินกว่า 2 ล้านบาท ยังไม่มีค่ายรถรายใดให้ความสนใจเข้าร่วม

สำหรับ MG นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีรถ EV รุ่นใด สามารถนำเข้ามาทำตลาดและเข้าเงื่อนไขเพื่อเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ พร้อมทั้งรอดูว่าเงื่อนไขและรายละเอียดของมาตรการดังกล่าวจะออกมาแบบใด มีส่วนต่างระหว่างรถ EV นำเข้าและรถ EV จากมาตรการ 3.0 ที่จะเริ่มผลิตในประเทศไทย ว่าจะสามาถแข่งขันกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในปี 2567 MG เตรียมขึ้นไลน์ผลิต MG 4 อย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับค่ายจีนที่เหลือทั้ง BYD, NETA และ ORA จากการสอบถามไปยังทีมผู้บริหาร ต่างได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความสนใจในการเข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 เนื่องจากเป็นโอกาสทางธุรกิจ และก็ยังสามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้

นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ ORA เปิดเผยว่า สำหรับนโยบาย EV3.5 ที่บอร์ด EV เห็นชอบนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทพิจารณารายละเอียดเพื่อเข้าร่วม ส่วนการผลิตจากมาตรการ EV3.0 ได้แก่ ORA GOOD CAT

ฉางอันมาเต็มสูบ

แหล่งข่าวจากบริษัท ฉางอาน ออโตเซลล์ ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” บริษัทมีรถ EV 2 รุ่นพร้อมทำตลาดและเข้ามาตรการสนับสนุน EV3.5 ในปีนี้ ใช้แบรนด์ DEEPAL มีให้เลือกทั้ง SUV และ SEDAN ประเดิมขายในงานมอเตอร์โชว์ สำหรั[ฉางอาน ออโตฯ ได้ประกาศลงทุนในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 9,800 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา รองรับความต้องการในประเทศไทย และตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้

โดยมีแผนจะผลิตในประเทศไทยอยู่ที่ 100,000 คันต่อปีในช่วงแรก และเพิ่มกำลังผลิตเป็น 200,000 คันต่อปีในช่วงถัดไป ส่วนการจัดจำหน่าย ตอนนี้ได้ตั้งดิสทริบิวเตอร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท อีเทอนิตี้แอทวัน จำกัด (Eternity @ one) ซึ่งเป็นทีมบริหารเดียวกับดีลเลอร์รายใหญ่ โตโยต้า แอท ยูไนเต็ด และบริษัท อินฟินิท ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (Infinite Automobile) บริษัทในเครือกลุ่มเอเอเอส กรุ๊ป

กว่างโจว ตั้ง 7 ดิสทริบิวเตอร์

แหล่งข่าวระดับบริหารจาก บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (GAC AION Thailand) ในเครือกว่างโจว ออโต้ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยถึงความพร้อมในการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยว่า บริษัทมีความพร้อมทุก ๆ ด้าน ทั้งการเตรียมโปรดักต์เพื่อนำเสนอสำหรับลูกค้าชาวไทย โดยเมื่อต้นเดือนกันยายนได้ส่งแบรนด์ AION เพื่อทำตลาดในไทย

พร้อมตั้งดิสทริบิวเตอร์ หรือเมกะดีลเลอร์ 7 ราย ดูภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ 99 เมียนมา ดูแลเมียนมา, Harmony Group ดูแลเวียดนาม, EV HUB ดูแลสิงคโปร์ ส่วนในประเทศไทยจะมี 4 ราย ได้แก่ Jinhui ซึ่งเป็นกลุ่มทุนไทยจีน, AIONIC ในเครือชาริชโฮลดิ้ง ซึ่งมีนายอภิชาติ ลีนุตพงษ์ เป็นผู้ดูแล, วี กรุ๊ป (V Group) และ Harmony Group กลุ่มทุนไทยจีน

เชอรี่ประเดิมจ้างประกอบ

ก่อนหน้านี้ นายชี่ เจี๋ย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (Chery International) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เชอรี่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและพร้อมเข้าร่วมโครงการสนับสนุน EV3.5 โดยช่วงแรกจะเป็นซีบียูก่อน และประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จะเริ่มผลิตในประเทศโดยจ้างผลิต ตอนนี้ได้มีการพูดคุยกลุ่มพันธมิตร

รวมถึงบริษัท อรุณพลัส ในเครือ ปตท. ที่ร่วมทุนกับกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป หลังจากนั้นราว ๆ 2 ปีจะลงทุนซื้อที่สร้างโรงงานเอง ซึ่งในช่วงแรกได้มีการพูดคุยกับกลุ่มซัพพลายเออร์บางเจ้าทั้งชิ้นส่วนทั่วไปและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ซึ่งในประเทศจีนเชอรี่เป็นพันธมิตรกับ BYD และ CATL”

“เชอรี่มีเป้าหมายใช้ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่ทั้งรถ EV และกลุ่มรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด กำลังการผลิตเฟสแรกปี 2567-2568 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ กำลังการผลิตต่อปี 18,000 คัน เฟสที่ 2 ปี 2569-2570 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 45,000 คันบวก ๆ และส่งออกเซาท์อีสต์เอเชีย 5,000 คันบวก ๆ ส่วนเฟสที่ 3 ปี 2571-2573 ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 60,000 คันบวก ๆ และส่งออกทั่วโลก 25,000 คันบวก ๆ”

โตโยต้านำร่อง รีโว่ BEV

แหล่งข่าวระดับบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โตโยต้าได้เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมรถ EV ตั้งแต่เฟสแรก โดยใช้แบรนด์ bZ (Beyond Zero) รุ่น bZ4X เมื่อปลายปี 2565 เปิดให้จองแล้วในราคา 1.863 ล้านบาท (หักเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทแล้ว) ส่วนปิกอัพ EV (Hilux REVO BEV) อยู่ระหว่างการทดสอบ

เนื่องจากเป็นรถเชิงพาณิชย์ใช้งานหนัก จำเป็นต้องมีสมรรถนะที่รองรับได้มากขึ้น และน่าจะพร้อมทำตลาดในปี 2567 นอกจากนี้โตโยต้ายังมีปิกอัพในโครงการ IMV 0 หรือกระบะ LEGO Concept คล้าย ๆ ฟู้ดทรักที่กำลังจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้

คลังตั้งงบฯเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพื่อจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการอีวี 3.0 อีก 1.2 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณเดิมที่ทยอยจ่ายไปก่อนหน้านี้ 3,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการอีวี 3.5 ที่บอร์ดอีวีเพิ่งอนุมัตินั้น ยังต้องหารือในรายละเอียด ซึ่งทางบีโอไอเป็นต้นเรื่อง เข้าใจว่ามีการนัดประชุมกันในสัปดาห์ข้างหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการรุกเข้ามาทำตลาดแบรนด์ค่ายจีนจำนวนเยอะแบบนี้จะซ้ำรอยประเทศจีน ที่พอสิ้นสุดมาตรการส่งเสริมแล้วจะมีปัญหา แหล่งข่าวในบีโอไอยืนยันว่า ที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ใหญ่ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ

ต่างจากในจีนที่มีแบรนด์เล็ก ๆ เป็นสตาร์ตอัพ ตอนนี้ล้มหายตายจากไปเยอะ แต่แบรนด์ที่เข้ามาทำตลาดในบ้านเรานั้นเป็นแบรนด์ใหญ่สามารถเลือกโมเดลที่หลายหลายมานำเสนอลูกค้าไทยได้เป็นอย่างดี