พิษไฟแนนซ์ทุบ “ปิกอัพ” น่วม โตโยต้าชี้ตลาดรวมลด 5 หมื่นคัน

ตลาดปิกอัพระส่ำไม่หยุด ยอดผลิตรถในประเทศทรุดต่อเนื่อง บิ๊ก “โตโยต้า-อีซูซุ” ฟันธงกำลังซื้อหด-เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น-สินเชื่อทุบอยู่หมัด ลั่นไตรมาส 3 ฟื้น เร่งหาเทคโนโลยีใหม่เสริมทัพ ทั้งไฮบริดและ EV หั่นเป้าขายรถทั้งตลาดลง 5 หมื่นคัน

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยตลอดช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมาจะดูมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็เป็นเพียงไม่กี่กลุ่มธุรกิจเท่านั้น ยังมีธุรกิจอีกไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้ารอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทั้งยอดการผลิตและยอดขายรถยนต์หดตัวลงเรื่อย ๆ
โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานจำนวนการผลิตและยอดขายภายในประเทศและสถานการณ์ส่งออกว่าแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

กุมภาพันธ์ผลิตลดลง 20%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตฯ เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีทั้งสิ้น 133,690 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราว ๆ 19.28% และลดลงจากเดือนมกราคม 2567 เกือบ 6% เนื่องจากมีปัจจัยลบเยอะ บางบริษัทขาดชิ้นส่วนบางชิ้น

นอกจากนี้ รถเก๋งก็ได้รับผลกระทบจากรถ EV จีน ส่วนรถกระบะที่ลดลง เพราะยอดขายได้น้อย จากปัญหารีเจ็กต์เรตหรือไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อ

เช่นเดียวกับนายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถปิกอัพมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปี 2566 ที่ผ่านมามียอดรวมแค่ 264,738 คัน เป็นสัดส่วนแค่ 34% ของตลาด

ขณะที่ยอดขาย 2 เดือนแรกของปี 2567 ก็ทำได้แค่ 30,000 คัน เนื่องจากมีปัจจัยลบเยอะ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่หดตัวลง และที่น่ากังวลคือ ผู้ใช้ปิกอัพหลัก ๆ คือ SMEs ใช้รถเพื่อประกอบอาชีพ เจอมาตรฐานการคัดกรองของไฟแนนซ์อย่างเข้มงวด

“เราเชื่อว่าตลาดยังมีดีมานด์ แต่ไฟแนนซ์ไม่อนุมัติสินเชื่อ รถก็ขายไม่ได้ ตอนนี้ก็ได้แต่รอวันดี ๆ ที่จะกลับมา ซึ่งประเมินว่าคงไม่นาน เพราะตอนนี้อุตฯท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นกลับมาแล้ว แต่เราก็ต้องชั่งให้ดีระหว่างสัญญาณบวกกับลบ ตลาดรถปิกอัพปีนี้ควรจะเป็นเท่าไหร่ ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้”

นายฮาตะกล่าวอีกว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดชะงักงันก็คือ สงครามราคา ซึ่งอีซูซุไม่เห็นด้วย ปัจจัยด้านราคาส่งผลกระทบต่อการขายแน่นอน แต่เรามั่นใจในฐานลูกค้าของเราอยู่ และวันนี้อีซูซุคงทำได้เพียงแค่พยายามให้ดีลเลอร์และฝ่ายขายเข้าใจนโยบายของอีซูซุ ว่าเราไม่ได้ขายแค่ผลิตภัณฑ์ แต่เราขายบริการและรักษาความสัมพันธ์ของลูกค้าด้วย

“เรายังเชื่อว่าหากมาตรการที่เข้มงวดของไฟแนนซ์ผ่อนคลายลง ตลาดรถปิกอัพก็จะกลับมาเจริญเติบโตเหมือนเดิม เรารอจนกว่าจะถึงวันนั้น ซึ่งคงอีกไม่นาน”

ตลาดรวมลดลง 5 หมื่นคัน

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวยอมรับว่า ตลาดรถยนต์ปีนี้ไม่ค่อยดี กำลังซื้อหดหาย หนี้ครัวเรือนเยอะ สินเชื่อปล่อยยาก เมื่อต้นปีโตโยต้าคาดการณ์ตลาดรวมจะถึง 780,000 คัน ตอนนี้มองว่าน่าจะเหลือแค่ 730,000 คัน ส่วนโตโยต้ายังมั่นใจอย่างยิ่งว่าจะรักษาส่วนแบ่งตลาดที่ 34% เอาไว้ให้ได้

“ทางออกเราตอนนี้ก็พยายามทำงานร่วมกับดีลเลอร์เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะพลังงานอื่น ๆ ให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น”

ส่วนแผนธุรกิจเพื่อขยายตลาดปิกอัพให้มากขึ้น ในช่วงปลายปี 2568 โตโยต้าพร้อมจะแนะนำรถปิกอัพไฟฟ้า 100% หรือไฮลักซ์ รีโว่ BEV ออกสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

“เรามีแผนผลิตรถไฮลักซ์ BEV แบบ Mass Production และหลังจากนั้นก็จะขยายไปเป็นรถยนต์โดยสารทั่วไปในประเทศไทยในอนาคต”

ส่วนกลุ่มรถไฮบริดอยู่ในแผน เนื่องจากถ้าอุตฯรถยนต์เปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่มอเตอร์ไฟฟ้า จะกระทบหลายส่วนธุรกิจ ดังนั้นไฮบริดจะช่วยให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยจํานวนมากสามารถอยู่ต่อไปได้ เป็นการช่วยเหลือซัพพลายเออร์ไปในตัว ซึ่งหากดูสภาพการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านของไทย จะเห็นว่ามีความนิยมในรถไฮบริดมากกว่ารถ EV โตโยต้ายังมั่นใจว่ารถไฮบริดยังมีข้อได้เปรียบด้านการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน

“นโยบายด้านไฮบริดของโตโยต้าคือ จะพยายามทำรถยนต์รุ่นหลักให้มีไฮบริดครบทุกรุ่นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนสงครามราคาโตโยต้าก็กังวล ระมัดระวัง โตโยต้ายังให้ความสำคัญกับ Value Chain ตลอดห่วงโซ่การใช้งานรถยนต์ของเรา ลูกค้าซื้อรถโตโยต้าเราก็มุ่งสร้างความสุข และรอยยิ้มให้ลูกค้าของเราทุกคน”

ฉุดดัชนีความเชื่อต่ำลง

ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักติดลบ ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมชี้ว่าภาคการผลิตรถยนต์ลดลงทุกเดือน ติดต่อเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุหลักมาจากการขายในประเทศลดลง รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกลดลงด้วย ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นต่ำลงเกือบ 3%

นอกจากนี้สื่อต่างประเทศยังรายงานเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 อยู่ในภาวะย่ำแย่ จากปัญหา 3 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.กำลังซื้อหดหาย 2.กำลังผลิตล้น และ 3.สงครามราคาซึ่งมีรถจีนเป็นแกนนำ