CABB ผลิตพรีเมี่ยมแท็กซี่ ชิงแชร์ธุรกิจรถรับจ้าง 8 หมื่นคันร้อนฉ่า

“เอเชีย แค็บ” เทงบฯกว่าพันล้าน บุกตลาดแท็กซี่เต็มสูบ ชูจุดขายมาตรฐานและบริการระดับพรีเมี่ยม ทั้งรถและโชเฟอร์ หวังกินส่วนแบ่ง 10% ของตลาดรถรับจ้าง พร้อมมองข้ามชอตจดทะเบียนเข้าตลาด ระดมทุน ยกระดับแท็กซี่ไทยทั้งระบบ

ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด ผู้ผลิตและให้บริการรถแท็กซี่สาธารณะภายใต้ชื่อ “แค็บบ์ (CABB)” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากบริษัทได้ร่วมมือกับกลุ่มบริษัท Zhejiang Geely New Energy Commercial Vehicle Group (GCV) ค่ายรถจากประเทศจีน นำรถยนต์ลอนดอนแท็กซี่ เข้ามาประกอบและผลิตในประเทศไทย เพื่อให้บริการธุรกิจแท็กซี่สาธารณะในประเทศไทย ภายใต้งบประมาณการลงทุน 1,000 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนของอู่แท็กซี่ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อให้บริการกับลูกค้าผู้เรียกใช้รถแท็กซี่แค็บบ์ ให้ได้รับความสะดวกสบายและความพึงพอใจสูงสุด

“เราเช่าโรงงานประกอบรถยนต์ของกลุ่มพระนครยนตรการ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นโรงงานประกอบรถยนต์แท็กซี่ TX4 ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรคือกลุ่มจิลลี่ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จีน ในการนำรถลอนดอนแท็กซี่เข้ามาประกอบและให้บริการ โดยท่านประธานของเราคือ คุณสมศักดิ์ ดารารัตนโรจน์ ท่านมีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะพัฒนายกระดับการให้บริการของแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมา ตั้งเป้าปีนี้จะมีการส่งแท็กซี่ออกสู่ตลาดอย่างน้อย 800-1,000 คัน”

หลังจากช่วงที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ทำให้แผนการผลิตอาจจะล่าช้าไปเล็กน้อยเนื่องจากจะต้องมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนเข้ามาประกอบ บวกกับการพัฒนาบุคลากรหรือพนักงานขับรถแท็กซี่แค็บบ์ ซึ่งจะต้องผ่านมาตรฐานการอบรมตามหลักสูตร เกณฑ์ของบริษัทจึงจะสามารถให้บริการได้

ในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์นั้น บริษัทได้เช่าโรงงานประกอบ โดยมีกำลังผลิตที่ 1,000 คัน และในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 1,800 คัน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทว่า เบื้องต้นบริษัทมีเป้าหมายในการผลิตและส่งรถแท็กซี่แค็บบ์เข้าออกสู่ตลาดอย่างน้อยปีละ 1,000 คันตามกำลังผลิต และในระยะเวลา 3-5 ปี บริษัทจะมีรถแท็กซี่แค็บบ์ให้บริการอยู่ราว10% ของจำนวนประชากรรถแท็กซี่ในพื้นที่กรุงเทพฯที่มีอยู่ราว 80,000 คันให้ได้

ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าจะเดินหน้าจดทะเบียนบริษัทเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งพัฒนารถแท็กซี่แค็บบ์ โมเดล TX5 ซึ่งจะเป็นการต่อยอด

โดยเดินหน้าไปสู่การนำเทคโนโลยีรถยนต์อีวีมาใช้ ซึ่งคาดว่าราวปีหน้าน่าจะได้เห็นความชัดเจน

ก่อนที่จะขยายโอกาสของตลาดรถแท็กซี่ออกไปยังจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ และเมื่อการสร้างแบรนด์และการพัฒนาบริการในประเทศไทยได้แข็งแกร่งแล้ว ในอนาคตบริษัทก็มีความตั้งใจจะต่อยอดเพื่อนำรถแท็กซี่แค็บบ์ออกไปให้บริการในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียด้วย

“หลังจากเปิดตัวและเริ่มให้บริการไปไม่นาน ปรากฏว่ามีคนสนใจติดต่อเข้ามาเพื่อจะขอซื้อรถแท็กซี่แค็บบ์ของเรา รวมทั้งติดต่อขอเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่าย แต่เนื่องจากนโยบายที่ชัดเจนของบริษัท เราจึงไม่มีนโยบายในการผลิตรถเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ซึ่งหากลูกค้าต้องการใช้งาน เรามีบริการให้เช่ารถพร้อมคนขับในรูปแบบวันเดย์ทริป วิ่งในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ค่าบริการอยู่ราว 3-4 พันบาท”

นอกจากนี้บริษัทเตรียมจับมือกับบริษัทท่องเที่ยวเพื่อนำรถแท็กซี่แค็บบ์เข้าไปให้บริการ รวมทั้งการนำรถแท็กซี่ไปต่อยอดให้บริการด้านการขนส่งสิ่งของ เนื่องจากลักษณะของรถสามารถบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ได้ และอนาคตบริษัทยังสามารถนำดาต้าของลูกค้าผู้ใช้แท็กซี่แค็บบ์ในพื้นที่ต่าง ๆ มาต่อยอดเพื่อสร้างแวลูด้านต่าง ๆ ในอนาคต

สำหรับอัตราค่าบริการของแท็กซี่แค็บบ์ เริ่มต้นที่ 60 บาท จากนั้นก็จะคิดค่าบริการตามระยะทางจริง ไม่แตกต่างจากบริการของแท็กซี่ทั่วไป โดยผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ บริการผ่าน application “CABB” บริการตามจุดจอด taxi stand ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล และบริการผ่าน call center โทร.0-2026-8888

นอกจากนี้ลูกค้ายังมั่นใจได้ว่า พนักงานขับรถแท็กซี่แค็บบ์ทุกคนทุกคัน ยังต้องผ่านมาตรฐานเกณฑ์คัดเลือกของบริษัท โดยเฉพาะการอบรมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ของตัวรถ มาตรฐานการให้บริการ และที่สำคัญคือ พนักงานขับรถทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพ 13 รายการ และมาตรฐานการวัดไข้ทุกเช้าก่อนออกให้บริการ ทําการพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อภายในรถและจุดสัมผัสต่าง ๆ ด้วย