โควิด “ทุบกำลังซื้อ” ไม่หยุด เก๋ง-ปิกอัพหดตัวทุกเดือน

ค่ายรถเหนื่อย ขายรถเดือนกรกฎาคม หดตัวทุกเซ็กเมนต์ลดลงจากปีก่อนถึง 11.6% ยอดรวม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) มาได้แค่ 425,633 คัน

นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ชะลอตัวทุกเซ็กเมนต์ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 52,442 คัน ลดลง 11.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบด้วย รถยนต์นั่งทำได้ 16,689 คัน ลดลง 9.8% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทำได้ 35,753 คัน ลดลง 12.4% โดยรถกระบะขาด 1 ตัน ซึ่งอยู่ในในเซ็กเมนต์รถเพื่อการพาณิชย์ ทำได้ 27,816 คัน ลดลง 15%

ประเด็นสำคัญ คือตลาดรถยนต์เดือนกรกฎาคมมีความวิตกกังวลต่อภาวะการระบาดของไวรัสโควิดระลอก 3 และ 4 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และรัฐออกมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว

ส่วนยอดขายรวม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ทำได้ทั้งสิ้น 425,633 คัน เพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อันดับที่ 1 โตโยต้า 134,225 คัน, อันดับที่ 2 อีซูซุ 106,845 คัน, อันดับที่ 3 ฮอนด้า 49,673 คัน และอื่น ๆ 134,890 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 137,040 คัน ลดลง 0.9% อันดับที่ 1 ฮอนด้า 42,651 คัน อันดับที่ 2 โตโยต้า 34,170 คัน อันดับที่ 3 นิสสัน 12,546 คัน อื่น ๆ 47,673 คัน

รถกระบะขนาด 1 ตัน ปริมาณการขาย 224,750 คัน อันดับที่ 1 อีซูซุ 97,422 คัน อันดับที่ 2 โตโยต้า 84,704 คัน อันดับที่ 3 ฟอร์ด 18,417 คัน ที่เหลือเป็นอื่น ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ตลาดรถยนต์ปี 2564 หลังเกิดวิกฤตโควิดระลอก 3 ยอดขายลดลงต่อเนื่องเกือบทุกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนหลังสิ้นสุดงานมอเตอร์โชว์ โดยเดือนกรกฎาคมยอดขายก็ลดลงจากเดือนมิถุนายน ซึ่งทำได้ 56,257 คัน หายไป 4,000 กว่าคัน