ปิกอัพมะกัน เดินเกมรุกชิงแชร์ ยึดทำเลรอง-เร่งปั้นแบรนด์กระตุ้นยอด

สองยักษ์รถยนต์มะกัน เดินหน้ารุกตลาดต่อเนื่อง เน้นปักหมุดพื้นที่รอง สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง “ฟอร์ด” ปลื้มเรนเจอร์ดีเกินคาด โต 50% ชะลอแผนเก๋ง ด้าน “เชฟโรเลต” ปรับฐานเครือข่ายการขาย เน้นเข้าถึงลูกค้า

นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน ประธานฟอร์ด อาเซียน และกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยถึงความสำเร็จของฟอร์ดในช่วงที่ผ่านมาว่า มีการเติบโตถึง 36.8% ยอดขายรวมที่ 43,923 คัน มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 6.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1-2 จุด ยอดขายหลักมาจากเรนเจอร์ที่ 32,000 คัน มีส่วนแบ่ง 12% เติบโต 45.6% ขณะที่เอเวอเรสต์ 6,453 คัน มีส่วนแบ่งตลาดที่ 13.9% เอคโคสปอร์ต โต 31% ขายได้ 2,300-2,400 คัน

ขณะที่กลุ่มรถยนต์นั่งนั้นก็มีการเติบโต แต่ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจมากนัก สำหรับยอดขายรถยนต์โดยรวมปีนี้ ฟอร์ดเชื่อว่าน่าอยู่ที่ระดับ 850,000 คันโต 10% แต่ทั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่ายอดขายโดยรวมอาจจะกระโดดขึ้นไปอยู่ระดับ 860,000 คัน แต่ทั้งนี้ต้องรอดูสถานการณ์โดยรวมในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ประกอบปี 2560 ถือเป็นปีแรก
ของการสิ้นสุดการถือครองสิทธิ์รถยนต์คันแรก

สำหรับฟอร์ดนั้นยังยืนยันเป้าหมายเดิม คือมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับ 6.4% และเชื่อว่าน่าจะทำได้อย่างแน่นอน สำหรับปีหน้าฟอร์ดเชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากรถยนต์คันแรก มาตรการส่งเสริมต่าง ๆ จากภาครัฐ รวมถึงการใช้จ่ายจากผู้บริโภคที่มีสูงขึ้น รวมทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ จะเป็นตัวกระตุ้นตลาด และทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อได้เป็นอย่างดี

“ปีหน้าตัวเลขที่ระดับ 9 แสนคันก็มีสิทธิ์ได้เห็น แต่เราต้องมาดูว่าลูกค้าในกลุ่มรถคันแรกจะกลับมาเปลี่ยนรถมากน้อยแค่ไหน แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ายอดขายโตที่ระดับ 5% นั้นเป็นไปได้แน่นอน”

ประธาน ฟอร์ด อาเซียน ยังได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของฟอร์ดในประเทศไทย ที่แม้ว่าในส่วนของกลุ่มรถยนต์นั่งจะมียอดการจำหน่ายไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก แต่ฟอร์ดมองว่ารถในกลุ่มรถยนต์นั่งยังรวมไปถึงรถยนต์เอสยูวี ซึ่งฟอร์ดก็มีตัวเลือกที่ดีอยู่ในตลาด

โดยปัจจุบันไลน์อัพสินค้าของฟอร์ดยังคงเหมือนเดิม คือ เฟียสต้า, โฟกัส, เรนเจอร์, เอเวอเรสต์ และเอคโคสปอร์ต ในส่วนของตลาดรถยนต์นั่งฟอร์ดอาจจะต้องรอดูจังหวะและโอกาสในการทำตลาด แต่สำหรับตลาดรถปิกอัพนั้น ยอดการจำหน่ายและอัตราการเติบโตของฟอร์ดนั้นโตวันโตคืน

ทั้งนี้ฟอร์ดจะมุ่งเน้นนโยบายในการทำตลาดในประเทศไทย พยายามเข้าไปทำตลาดในพื้นที่ที่มีกลุ่มลูกค้าอยู่ ขยายเครือข่ายเข้าไปสู่พื้นที่รองมากขึ้น เช่น ระดับอำเภอ หัวเมืองรอง เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัส และเห็นแบรนด์ฟอร์ดเพิ่มขึ้น รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ราคาอะไหล่ให้ถูกลง รวมทั้งมีการลงทุนสร้างศูนย์อะไหล่รวมทั้งมีการตั้งทีมสื่อสารเพื่อรับเรื่องร้องเรียน และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างทันท่วงที และฟอร์ดเชื่อนโยบายข้างต้นจะเป็นตัวเสริมสร้างและผลักดันให้ฟอร์ดมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

“ที่ผ่านมาในแง่ของผลิตภัณฑ์อย่างเคสการแก้ไขปัญหาลูกค้าที่ร้องเรียนต่อ สคบ. เราปิดเคสไปได้ถึง 186 เคส เหลือเพียง 2 รายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข และเชื่อว่าจะจบลงได้ด้วยดี อย่างที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าแบรนด์จะเติบโตได้ ไม่ได้วัดกันที่สินค้าใหม่เท่านั้น เพราะวันนี้ฟอร์ดได้พิสูจน์แล้วว่า เราทำกับสิ่งที่มีอยู่ให้มีการเติบโตต่อเนื่อง”

ด้านนางสาวปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงนโยบาย และแนวทางการทำตลาดของรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนว่าปี 2566 ความต้องการใช้รถยนต์ในประเทศไทยอาจจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 1 ล้านคัน และเชฟโรเลตเชื่อว่า 50% ของความต้องการจะเป็นกลุ่มรถปิกอัพขนาด 1 ตัน ขณะที่ยอดขายในปีหน้าน่าจะอยู่ที่ 850,000-860,000 คัน หากไม่มีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุมมาส่งผลกระทบ และเชฟโรเลตจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 2% หรือ 20,000 คัน

“เชฟโรเลตเองนั้น เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นจากยอดขายในช่วงกว่าครึ่งเดือนของเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งทำได้ 2,000 คัน เกินกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้แค่ 1,400 คัน ถือเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างดี”

นโยบายของบริษัทขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับฐานผู้จัดจำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่พร้อมวิ่งไปข้างหน้า และ 2.กลุ่มที่ยังไม่พร้อม สิ่งสำคัญบริษัทจำเป็นต้องทำให้ตัวแทนจำหน่ายมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจมากขึ้นจากการจำหน่ายรถปิกอัพขนาด 1 ตันและรถเอสยูวี

“อย่างในบางพื้นที่ที่ดีลเลอร์เข้าไม่ถึงลูกค้า เราก็อาจจะต้องเข้าทำงานร่วมกันเพิ่มความเข้มข้นเพื่อให้ดีลเลอร์เข้าไปถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้ ปัจจุบันเรามีดีลเลอร์ 58 ราย มีถึง 91 โชว์รูม”