ปฏิบัติการ 1027 เมียนมา การรุกกลับของชนกลุ่มน้อย

Photo by REUTERS
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ช่วงระยะเวลาไม่ถึงเดือน สถานการณ์ในประเทศเมียนมา เพื่อนบ้านของประเทศไทยที่มีแนวพรมแดนติดต่อกันยาวกว่า 2,202 กม.ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ หรือ Brotherhood Alliance ซึ่งประกอบไปด้วยกองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มหลัก ๆ

ได้แก่ กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army หรือ MNDAA), กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army หรือ TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) เปิดการโจมตีที่ตั้งทางทหาร ด่านตรวจ สถานีตำรวจ และหน่วยงานราชการของเมียนมา ตลอดพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศทั้งในรัฐฉาน-รัฐยะไข่-รัฐโกก้าง ติดชายแดนจีน-อินเดีย ภายใต้รหัส “ปฏิบัติการ 1027”

โดยปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ใช่การซุ่มโจมตีหน่วยทหารของรัฐบาลเมียนมา แต่เป็นการสู้รบทำสงครามกับทหารรัฐบาลเมียนมาเต็มรูปแบบ ด้วยการยึดค่ายทหาร จุดตรวจ จุดผ่านแดนเมียนมา-จีน ด่านการค้าขาย และยึดเมืองชายแดนได้หลายเมือง โดยไม่มีทีท่าว่า กองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ จะถอนกำลังออกไป

หลังบรรลุวัตถุประสงค์ในการเข้าโจมตีแล้ว ในสัปดาห์แรก ๆ ที่กองกำลังเปิดฉากโจมตีที่ตั้งทางทหารของรัฐบาลมีความเชื่อกันว่า จะเป็นไปเพื่อการกวาดล้าง “ขบวนการจีนเทา” ที่อาศัยเข้ามาใช้พื้นที่ในรัฐฉานแถบเมืองชายแดนดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งยาเสพติด การค้ามนุษย์ การต้มตุ๋นทางออนไลน์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์

ซึ่งแน่นอนว่า จีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการปราบปรามมาโดยตลอด แต่ไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมอันใด การบุกโจมตีเมืองชายแดนอันเป็นที่ตั้งของ กระบวนการจีนเทา 4 ตระกูลใหญ่ ย่อมเป็นปฏิบัติการทางทหารที่สร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายจีน และเชื่อกันในวงการวิเคราะห์ทางการเมืองในเมียนมาว่า ปฏิบัติการเหล่านี้จะสิ้นสุดลงโดยเร็ว

ทว่าแม้การดำเนินการโค่นล้มผู้มีอิทธิพลในกลุ่ม 4 ตระกูลจีนเทาจะเสร็จสิ้น ด้วยการกวาดล้างจับกุมส่งตัวไปดำเนินคดี แต่ปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพ กลับไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ปรากฏมีการร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น กองทัพเพื่อปกป้องประชาชน (PDF) ในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (MUG) ตลอดจนกองกำลังกะเหรี่ยง เปิดฉากการรบไปทั่ว

ที่สำคัญก็คือ มีแต่ข่าวกองทหารรัฐบาลทหารเมียนมาประสบความพ่ายแพ้ มีหน่วยทหารหลายแห่งถึงกับยอมมอบตัวต่อกองกำลังพันธมิตรภราดรภาพเป็นจำนวนหลายร้อยคนโดยเชื่อกันว่า ทหารรัฐบาลเมียนมาประสบปัญหาขวัญและกำลังใจในการรบตกต่ำลงจากการไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารอย่างเพียงพอ

จนนับเป็นสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาลทหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้นำการก่อรัฐประหาร จนต้องเรียกประชุม สภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติ (National Defense and Security Council) ฉุกเฉินในต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเพื่อหารือถึงสถานการณ์สู้รบในรัฐฉาน

ขณะที่จีนในฐานะที่มีแนวพรมแดนติดต่อกับเมียนมาทางภาคใต้ของประเทศและยังมีส่วนได้ส่วนเสียในการปราบปราม กลุ่มจีนเทาในรัฐฉาน ก็ได้แสดงท่าทีเรียกร้องให้ยุติการสู้รบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตอนเหนือ แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไรมากไปกว่านั้นว่า แท้จริงแล้วจีนมีความโน้มเอียงไปในทิศทางไหน อีกด้านหนึ่งจีนก็ส่งเรือรบเข้ามาร่วมซ้อมรบกับรัฐบาลทหารเมียนมาด้วย

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์เรื่องความขัดแย้งทางตอนเหนือของรัฐฉาน เมียนมา และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันที มีนัยสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่ การเปิดให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม กับการเปิดช่องให้มีการอพยพชาวต่างชาติ (รวมถึงคนไทย) ที่ติดอยู่ในพื้นที่การสู้รบออกมา แต่ รมต.ต่างประเทศอาเซียนก็ยังย้ำถึงการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ “อย่างเต็มที่” ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์ในเมียนมาได้พัฒนาเข้าใกล้สงครามกลางเมืองเต็มทีแล้ว