แลนด์บริดจ์ ต้องถูกกว่าและเร็วกว่า

นายก แลนด์บริดจ์
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ผ่านมาได้ 2 เดือนสำหรับการ “Roadshow” โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือที่เรียกกันในชื่อของ “โครงการแลนด์บริดจ์”

จัดเป็น 2 เดือนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกเดินสายแนะนำ โครงการ Thailand Landbride Roadshow ให้กับนักลงทุนทุกเวทีที่ประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐ-ญี่ปุ่น-จีน-ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย จากความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนศูนย์กลางของอาเซียน ที่มีชายฝั่งทะเลติดกับมหาสมุทร 2 ด้าน คือ ฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก และฝั่งอันดามันด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย จนกลายเป็นความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่ไทยสามารถเปิดสู่ทะเลได้ทั้ง 2 ด้าน

ด้วยความได้เปรียบในด้านที่ตั้งของประเทศไทยดังกล่าว หากมีการเชื่อมต่อฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้านเข้าด้วยกัน โครงการแลนด์บริดจ์ก็จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งและหลีกเลี่ยงความแออัดในช่องแคบมะละกาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และจะยิ่งทวีความแออัดในอนาคตมากยิ่งขึ้น หากไม่มีเส้นทางใหม่ที่จะเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝั่งมหาสมุทรเข้าด้วยกัน

จากความได้เปรียบข้างต้น โครงการแลนด์บริดจ์ จึงเกิดขึ้นจากพื้นฐานโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ อาทิ โครงการคลองไทย ที่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ โดยองค์ประกอบสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์จะประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล ทางฝั่งอันดามันเลือกได้ที่ แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ออกแบบให้รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร กับท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยที่ แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ออกแบบให้รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ระยะทาง 90 กม. เข้าด้วยกัน ด้วยทางหลวงมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง เพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ ทางรถไฟขนาดรอง 10 เมตร จำนวน 2 ทาง เชื่อมต่อระบบโครงข่ายทางหลักของประเทศ และยังมีการเตรียมพื้นที่สำหรับการวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ

รวมไปถึงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ “หลังท่า” ด้วยการถมทะเลเพื่อรองรับกิจการสนับสนุนท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง โดยจะดำเนินการภายใต้การพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC ที่จะจัดตั้งเป็นกฎหมายต่อไป โดยทั้งหมดนี้จะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 257,453 ล้านบาท รัฐบาลจึงได้กำหนดรูปแบบการลงทุนด้วยการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ให้สิทธิภาคเอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี แบ่งการลงทุนเป็นระยะ ๆ โดยฝั่งท่าเรือระนอง 3 ระยะ ฝั่งท่าเรือชุมพร แบ่งเป็น 4 ระยะ

สายการเดินเรือและผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศมีความเห็นถึง “โอกาส” ของโครงการแลนด์บริดจ์จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแข่งขันใน 3 ด้าน คือ ต้นทุนที่ถูกกว่า-เวลาต้องเร็วกว่า ในการขนส่งสินค้าเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร หากจะเทียบกับเส้นทางปัจจุบันที่ต้องผ่านสิงคโปร์ และช่องแคบมะละกา ดังนั้นผู้ร่วมลงทุนจึงต้องเป็น Partner ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้าง-บริหารท่าเรือน้ำลึกระดับโลก การจัดการระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และการเป็นเจ้าของสายการเดินเรือ ซึ่งจะช่วย “การันตี” การมี “ลูกค้า” เข้ามาใช้แลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร

เมื่อกวาดตามองไปทั่วโลกเห็นจะมีได้ไม่เกิน 3 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มีจุดแข็งในเรื่องของเงินลงทุนจากกองทุนต่าง ๆ รวมไปถึงสินค้าหลักอย่าง น้ำมัน ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีจุดแข็งอยู่ที่การเป็นผู้บริหารท่าเรือทั่วโลก 78 ท่าเรือด้วย ทั้งการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ ส่วนจีน นอกจากมีความชำนาญในการก่อสร้างท่าเรือและระบบรางแล้ว จีนยังมี COSCO ซึ่งเป็นสายการเดินเรือใหญ่อันดับ 3-4 ด้วย จึงนับเป็น 3 Partner ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาร่วมทุนในการทำ โครงการแลนด์บริดจ์ ในขณะนี้มากที่สุด