Market-think : ความเชื่อ-ความชอบ

ป้ายหาเสียง
คอลัมน์​: Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

เหลือเวลาอีกแค่ 20 กว่าวัน ก็จะถึงวันเลือกตั้ง

ถ้ามองในเชิงการตลาด ทุกพรรคเริ่มวางตำแหน่งสินค้า และกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น

เราจะขายอะไร

จะแย่งลูกค้าจากใคร

ยกตัวอย่าง เช่น พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าหมายแลนด์สไลด์

ฐานของเพื่อไทยใหญ่มาก

ถ้าเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าแมส

เกมที่ถนัดของเพื่อไทย คือ เกมนโยบาย

เป็นพรรคการเมืองที่เติบโตมาจากการขายนโยบาย ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย จนมาถึงพลังประชาชน และเพื่อไทย

30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ

ใครจะไปนึกว่าผ่านไป 20 กว่าปี นโยบายเหล่านี้ยังขายได้

ยังทวนความทรงจำได้ทุกเวทีปราศรัย

เช่นเดียวกับชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” ทั้งที่ไม่อยู่เมืองไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว

วันนี้เพื่อไทยเล่นเกมเดิม คือ เกมนโยบาย

ค่าแรง 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

ตามมาด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงินให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท

นโยบายล่าสุดนี้ฮือฮามาก เรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ยิ่งสงสัย ยิ่งถามมากเท่าไร ก็เข้าทางพรรคเพื่อไทย

เพราะกลายเป็นเวทีให้เขาได้ตอบ และสร้างความจดจำ

จุดแข็งของพรรคเพื่อไทย คือ เรื่อง “ความเชื่อ”

เชื่อว่าพรรคนี้พูดแล้ว ทำได้จริง

ยิ่งนโยบายในอดีต เช่น 30 บาท กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ เคยถูกปรามาสว่าทำไม่ได้มาแล้ว

พอเจอเสียงวิจารณ์ในวันนี้ เรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัลว่าทำไม่ได้จริง

พรรคเพื่อไทยจึงไม่กลัว

ผมเชื่อว่าช่วงท้าย ๆ ของการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะออกแคมเปญ

ขาย “ความเชื่อ”

ประมาณว่า นโยบายดี ๆ ใคร ๆ ก็พูดได้

แต่ที่ทำได้ คือ เพื่อไทย

ในขณะที่พรรคก้าวไกล ที่มีกลุ่มลูกค้ากลุ่มเดียวกับพรรคเพื่อไทย

เพราะสังกัดกลุ่มประชาธิปไตยด้วยกัน

แม้ฐานเสียงของก้าวไกลจะไม่ใช่กลุ่มแมสเหมือนเพื่อไทย

ค่อนข้างเป็น นิชมาร์เก็ต มากกว่า

แต่ก็ยังทับซ้อนกันในบางส่วน

ตอนแรก พรรคก้าวไกลขยับตัวลำบาก เพราะเจอกระแสแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย

และการเรียกร้องให้เลือกทางยุทธศาสตร์

คือ ถ้าจะเอาชนะ 3 ป.ให้ได้ ต้องเลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

เพราะมีโอกาสชนะมากกว่า

ถ้าเลือกก้าวไกล คะแนนจะตกน้ำ ทำให้แพ้ 3 ป.

พูดบ่อย ๆ จนแฟนก้าวไกลเริ่มหวั่นไหว

จนล่าสุด พรรคก้าวไกลเริ่มหาทางของตัวเองเจอ

เขาอาศัยเวทีดีเบตของสื่อต่าง ๆ เป็นช่องทางหาเสียงหลัก

ส่ง “พิธา” ยึดพื้นที่ดีเบตใน กทม.

“ธนาธร-วิโรจน์” ลงเวทีในต่างจังหวัด

บนเวทีของสื่อต่าง ๆ ก้าวไกลไม่เคยกลัวใคร

เพราะ “จุดยืน” ของเขาชัดเจนมาก

…ตรงไปตรงมา

เป็น “จุดขาย” ที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น

จะถามเรื่องจะร่วมกับพรรคของ “ประยุทธ์-ประวิตร” ไหม

เพื่อไทยจะอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ เพราะเขาหวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ขืนผูกมัดตัวเองมากไป อาจสู้เสียง ส.ว.ไม่ได้

แต่ก้าวไกล ชัดเจนมาก

“มีลุง ไม่มีเรา”

เขาเน้นการชน-ชน-ชน แบบไม่เกรงใจใครในทุกเรื่อง

ถูกใจคนรุ่นใหม่ และคนที่เบื่อการเมืองแบบเดิม ๆ

ยิ่งโพลล่าสุดที่ออกมา คะแนนนิยมของพรรคเริ่มขยับ กระแส “พิธา” เริ่มมา

ตามด้วยความขยันของผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นคนหนุ่มสาว

คนเริ่มรู้สึกว่าเลือกก้าวไกลแล้วมีโอกาสชนะในพื้นที่

จุดขายวันนี้ของก้าวไกล จึงเป็นเรื่อง “ความชอบ”

ใครชอบแบบตรงไปตรงมา เลือกก้าวไกล

เป็นจุดขายเช่นเดียวกับ “ลุงตู่”

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแฟนคลับไม่น้อยเลย

มีคนที่เชื่อมั่นในทิศทางของ “ลูงตู่”

ชอบแนวทางของ “ลุงตู่”

พูดอะไรก็น่ารักไปหมด

แนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ พยายามโกยคะแนนของคนในกลุ่มเดียวกัน ที่กระจัดกระจายอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์

กวาดคะแนนทั้งหมดมาจบที่ “ลุงตู่”

จุดขายของเขาคือ “ความชอบ” เหมือนกับพรรคก้าวไกล

แต่ชอบกันคนละแบบ

สร้างดาวกันคนละดวง