Market-think : เงินดิจิทัล

เศรษฐา เงินดิจิทัล
ภาพพื้นหลังจาก Reto Scheiwiller จาก Pixabay
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ตอนนี้นโยบายเรื่อง “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของพรรคเพื่อไทยกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง

ในทางการเมือง นี่คือ “หมัดฮุก” ที่ทรงประสิทธิภาพสูงมาก

ยิ่งกว่าค่าแรง 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท

เป็นนโยบายที่ได้เสียงตอบรับจากชาวบ้านท่วมท้น

เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เงินไปใช้คนละ 10,000 บาท

ถ้าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ก็เพราะนโยบายนี้

นั่นคือ มุมของการหาเสียงทางการเมือง

แต่ในมุมทางเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยตั้งใจใช้นโยบายนี้กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยต้องการการปั๊มหัวใจ

การอัดฉีดเงิน 500,000 ล้านบาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล จะมีข้อกำหนดว่า ต้องใช้ให้หมดภายใน 6เดือน

และใช้ได้ในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร จากที่อยู่ในบัตรประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่

ถ้าคนต่างจังหวัดมาทำงานในเมืองกรุงก็ต้องกลับไปใช้ที่บ้านเกิด เพื่อบีบเงินให้ลงสู่พื้นที่ชนบท

และจำนวนเงิน 10,000 บาท สูงพอที่จะดึงดูดให้คนกลับบ้านไปใช้เงิน

ถ้าทำได้จริงเงินจะสะพัดอย่างรุนแรงในช่วง 6 เดือน

แม้ว่าจะไม่ถึง 500,000 ล้านตามเป้าหมาย เพราะคนที่มีเงินเมื่อได้เงินดิจิทัลมา 10,000 บาท

เขาก็อาจจะจ่ายต่อเดือนเท่าเดิม แต่เมื่อรัฐให้เงินมาใช้ฟรี 10,000 เขาก็จะใช้ก้อนนี้ก่อน และเก็บเงินเพิ่ม 10,000 บาท

แต่คนกลุ่มนี้คงมีไม่มากนัก เพราะคนส่วนใหญ่แต่ละเดือนจะหาเงินไม่พอจ่ายอยู่แล้ว

พอได้เงิน 10,000 บาทปั๊บ เขาก็จะใช้ทันที

หรือบางครอบครัวมีรวมกัน 4-5 คน ได้เงินไป 40,000-50,000 บาท เงินก้อนนี้สำหรับในชนบทสามารถตั้งตัวทำธุรกิจเล็ก ๆ ได้เลย

และเมื่อเงินหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ชนบท เงินจะหมุนหลายรอบ

นี่คือ มุมของคนที่มองเรื่องนี้ในแง่บวก

แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสายการเงินการคลังที่ตั้งคำถามว่า เงินก้อนนี้จะเอามาจากไหน

กู้อีกหรือเปล่า

และจะสะเทือนวินัยทางการเงินการคลังหรือไม่

เพราะใช้เงินถึง 500,000 ล้านบาท

พรรคเพื่อไทยนั้นยืนยันว่า จะไม่กู้ แต่จะใช้จากเงินภาษีที่คาดการณ์ว่าจะเก็บได้เพิ่มอีก 2 แสนกว่าล้าน และรีดไขมันจากงบใหม่ปีหน้าอีกส่วนหนึ่ง

รวมทั้งเชื่อว่าเมื่อเงินสะพัดขนาดนี้ รัฐจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น

แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อว่าเงินก้อนนี้จะเพียงพอ

ความจริงแล้วโครงการนี้คล้ายกับโครงการคนละครึ่ง คือ ใส่เงินเพิ่มในกระเป๋าประชาชน

แต่รัฐบาล “ลุงตู่” ใช้ “คนละครึ่ง” เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือน “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ

ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าโครงการคนละครึ่งใช้เงินประมาณ 220,000 ล้านบาท
ภายในเวลา 1 ปีครึ่ง

หรือใช้เงินไปครึ่งหนึ่งของที่พรรคเพื่อไทยจะใช้

และเป็น “เงินกู้”

ซึ่งไม่ค่อยมีใครบ่นว่าเสียวินัยการเงินการคลัง

พรรคเพื่อไทยแค่ใช้วงเงินที่มากขึ้น แต่บีบเวลาการใช้ให้เหลือ 6 เดือน 
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

หลักการตลาดพื้นฐาน คือ ถ้าเรื่องนี้ส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ประชาชนรู้สึกมี “ความหวัง”

เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

เขาจะจับจ่ายใช้สอย

แม้แต่เงินอนาคตก็กล้าใช้

เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ

แต่ถ้าเขาคิดว่าเศรษฐกิจจะแย่

ต่อให้มีเงินในกระเป๋า เขาก็จะเก็บ ไม่ยอมใช้

หลังเลือกตั้งถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง เราก็จะได้คำตอบว่า ผลของนโยบายนี้จะเป็นอย่างไร

แต่ก่อนอื่นพรรคเพื่อไทยต้องฝ่าด่าน ส.ว. 250 คน ตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน