Market-think : ทุนนิยมต้องมี “หัวใจ”

แรงงาน
ภาพจาก freepik
คอลัมน์ : Market-think 
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

“เศรษฐศาสตร์” มีชีวิต

ไม่ได้มีแต่ “ตัวเลข”

เราต้องมี “หัวใจ”

และคิดถึง “ลมหายใจคนอื่นด้วย”

นักเศรษฐศาสตร์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกผมเมื่อหลายปีก่อน

ผมคิดถึงประโยคนี้เมื่อเห็นตัวเลขการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรมการไตรภาคี

เขาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานไทย 2-16 บาท

มีการอ้างตัวเลขที่ใช้คำนวณมากมาย เพื่อที่จะยืนยันว่านี่คือ อัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเมืองไทย

…เปลี่ยนแปลงไม่ได้

คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่เพียงแค่ “รับทราบ” เท่านั้น

ขนาด คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาคัดค้านอย่างเต็มตัว

แต่บอร์ดค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่สนใจ

ประชุมใหม่อีกครั้ง แต่ก็ยังยืนยันแบบเดิม

“การปรับค่าจ้างเป็นหน้าที่ของบอร์ดค่าจ้างไตรภาคี

ถ้าเคาะแล้วไม่เห็นด้วยตามมติก็ไปยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 แล้วไปแก้ให้การปรับค่าจ้างอยู่ในอำนาจของนายกฯไปเลย

กลับไปสู่ยุคของไดโนเสาร์อีกครั้ง”

เป็นคำให้สัมภาษณ์ของกรรมการฝ่ายนายจ้างคนหนึ่ง

ท้าทาย คุณเศรษฐา ทวีสิน แบบตรง ๆ

คณะกรรมการไตรภาคีบอกว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 เฉลี่ยทั่วประเทศ คือ 345 บาท

ค่าแรงที่ปรับใหม่สูงที่สุด คือ ภูเก็ต 370 บาท

ต่ำที่สุด คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้330 บาท

กทม. 363 บาท

วิธีคิดเรื่องนี้ง่าย ๆ ก็คือ เมื่อปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

หลังจากถูกรัฐประหาร ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมา 4 ปี ก่อนจะขึ้นเป็น 310 บาท บางพื้นที่

จากนั้นค่อยขยับขึ้นทีละนิด-ทีละนิด

ถ้าอัตราค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 มกราคม 2567 เพิ่มขึ้นตามที่คณะกรรมการไตรภาคีประกาศ

ก็หมายความว่าตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2567

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขยับขึ้นมาเพียง 45 บาท

หรือ 15%

11 ปี ขึ้นมา 15%

เฉลี่ยปีละ 1.4%

ลองใช้ “หัวใจ” คิด และมองตัวเลขค่าแรงให้ทะลุถึงลมหายใจผู้ใช้แรงงาน

คิดแบบเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ไม่ต้องใช้ตัวเลขหรือสูตรคำนวณอะไรเลย

ถามใจตัวเองว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ขึ้นมานี้เหมาะสมกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดหรือไม่

เมื่อปี 2556 ก๋วยเตี๋ยวจากชามละ 25 บาท ขึ้นเป็น 50 บาท ใน พ.ศ.นี้แล้ว

ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ 11 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเท่าไร

แต่รายได้ของผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นแค่ 15%

คิดในมุมไหนก็ไม่เป็นธรรม

ไม่ต้องถึง 400 บาทในปีแรก ตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้

แต่ต้องไม่ใช่ขึ้นแค่ 2-16 บาทแบบนี้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ น่าจะทำให้สังคมไทยได้ตระหนักเสียทีว่า ปัญหาของเมืองไทยเป็นเรื่องระดับ “โครงสร้าง” จริง ๆ

จบจากการขึ้นค่าแรงปีนี้ อาจถึงเวลาที่ต้องรื้อกฎหมาย แก้วิธีการคัดเลือกตัวแทนฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้างใหม่

เอาคนที่มี “หัวใจ” เข้ามาบ้าง

ถ้ากรรมการฝ่ายลูกจ้างทุกคนเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 2-16 บาท แสดงว่าระบบการคัดเลือกกรรมการมีปัญหาแล้ว

มันเป็นไปได้อย่างไร

ผิดธรรมชาติของการเป็นตัวแทนลูกจ้างมาก

เช่นเดียวกับตัวแทนภาครัฐที่ไม่ยึดโยงกับแนวทางของรัฐบาล

ถ้าการแทรกแซงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลครั้งนี้ถูกกล่าวหาว่า เหมือนกับย้อนเวลากลับไปสู่ยุค “ไดโนเสาร์”

อย่างน้อย รัฐบาลชุดนี้ก็เป็น “ไดโนเสาร์” ที่กินพืช

ไม่เหมือนคณะกรรมการไตรภาคีบางคน

ที่เป็น “ไดโนเสาร์” ที่กินเนื้อคน

ทั้งย้อนยุค

และไม่มี “หัวใจ”