เกมวัดดวง

labour
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

สงสัยไหมครับว่าทำไมค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท จึงไม่ประกาศขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเลย

แต่กลับไปขึ้นค่าแรงในเดือนตุลาคม

หรือว่ารัฐบาลมีแผนอะไร

ถ้าอ่านเกมของรัฐบาล ผมรู้สึกว่าเขาวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

อัดฉีดเงินทุกก้อนลงในช่วงสั้น ๆ

Advertisment

เงินก้อนแรก คือ งบประมาณปีนี้ที่เพิ่งผ่านสภาไป

งบฯก้อนนี้อั้นมานาน จากปกติที่เคยเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว

และค่อย ๆ ทยอยใช้จนครบปีงบประมาณ

แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล กว่างบฯจะผ่านสภาก็เสียเวลาเกือบ 7 เดือน

Advertisment

หมายความงบฯทั้งหมดต้องใช้ให้หมดภายใน 5 เดือน

โดยเฉพาะงบฯลงทุนกว่า 700,000 ล้านบาท

ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เราจะเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณครั้งใหญ่

สภาพจะคล้าย ๆ กับน้ำในสายยางที่ถูกบีบ

น้ำจะพุ่งแรงมาก

และจะส่งผลในไตรมาส 3 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 4

เงินก้อนที่สอง คือ งบประมาณปีหน้า ที่จะเริ่มใช้จ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้

หรือไตรมาส 4

เป็นงบฯลงทุนประมาณ 742,000 ล้านบาท

เงินก้อนที่สาม คือ “ดิจิทัลวอลเลต” 500,000 ล้านบาท

ถ้าเป็นไปตามแผนของรัฐบาล ไม่ติดปัญหาเรื่องกฤษฎีกา หรือระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

เงินก้อนนี้จะเข้าสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4

วงเงิน 500,000 ล้านบาท อาจมีบางส่วนที่ซ้ำซ้อน เพราะกว่าครึ่งหนึ่งมาจากงบประมาณปี 2567 และ 2568

อีกส่วนหนึ่งมาจาก ธ.ก.ส.

เงินก้อนนี้จะอัดฉีดโดยตรงไปที่ผู้บริโภค

และบังคับให้หมุนอย่างน้อย 2 รอบ

ส่วนเงินก้อนสุดท้าย คือ การขึ้นค่าแรง 400 บาท

ผมไม่แน่ใจว่าเหตุผลที่เลือกขึ้นค่าแรงในเดือนตุลาคม ส่วนหนึ่งเพื่อลดแรงกดดันจากนายจ้างหรือเปล่า

ลองคิดดูนะครับ ถ้าขึ้นค่าแรงเดือนพฤษภาคม นายจ้างโวยหนักแน่นอน

เพราะยอดขายก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

จะมาเพิ่มต้นทุนอีก

แต่ถ้าเป็นเดือนตุลาคม รัฐบาลยังอ้างได้ว่าทุกธุรกิจมีโอกาสขายดีจากเงิน 3 ก้อนแรกในไตรมาส 4

“รายได้เพิ่ม-ค่าแรงเพิ่ม” ดูค่อยมีเหตุผลหน่อย

อีกส่วนหนึ่ง “ค่าแรง” ที่เพิ่มขึ้น มี 2 มุม

มุมหนึ่ง คือ เพิ่มต้นทุนให้นายจ้าง

อีกมุมหนึ่ง คือ การเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาด

เพราะเมื่อพนักงานได้เงินเพิ่มก็จะซื้อของมากขึ้น

นี่คือ เงินอีกก้อนหนึ่ง ที่อัดฉีดเข้าตลาดในไตรมาสที่สี่

และเมื่อมองภาพรวม ยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ คือ การรวมเงินทั้งหมดมาอัดฉีดพร้อมกันในช่วงเวลาสั้น ๆ

ทั้งงบฯลงทุนของภาครัฐ และการเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภค

พรรคเพื่อไทยนั้นคงมองว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้เหมือนเครื่องยนต์ที่ดับสนิท การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีการเหมือนกับการเข็นรถยนต์ที่สตาร์ตไม่ติด

ถ้าเข็นกันทีละคน

ใครหมดแรงก็ให้คนต่อไปมาเข็นต่อ

ผลัดเปลี่ยนกันกี่คน รถก็สตาร์ตไม่ติด

แต่ถ้ารวมพลังของคนทั้งหมด มาเข็นรถอย่างเต็มแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ

มีโอกาสที่รถจะสตาร์ตติด
ภาพฝันของพรรคเพื่อไทย คือ หากเศรษฐกิจไทยสตาร์ตติดเมื่อไร

การท่องเที่ยวหรือการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องใช้เวลาก็จะเป็นจรวดลูกที่สอง และสาม รับช่วงต่อไป

ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดจะเป็นจริงได้หรือไม่

แต่นี่คือ การเดิมพันครั้งสำคัญของ “เศรษฐา” และ “ทักษิณ”

เพราะถ้าพ้นจากไตรมาส 4 แล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

พรรคเพื่อไทยก็นับถอยหลังได้เลย