อายุของ “อนาคต”

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

ผมเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง “รู้ทันอนาคตที่ (อาจจะ) ไม่มีคุณ” หรือ THE INDUSTRIES OF THE FUTURE

คนเขียนคือ “อเล็กซ์ รอสส์” มือหนึ่งด้านนวัตกรรมของอเมริกา

อดีตที่ปรึกษา “ฮิลลารี่ คลินตัน” และ “บารัก โอบามา”

แค่เห็นเครดิตคนเขียนก็น่าอ่านแล้ว

คนที่เป็นที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐอเมริกา เรื่อง “นวัตกรรม” ต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน

ข้อมูลต้องเยอะ วิเคราะห์ต้องเฉียบ

ที่ผ่านมาผมติดตามเรื่องความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมาตลอด

แบบ “คนอยากรู้”

แต่ข้อมูลที่เข้ามาจะค่อนข้างเป็นก้อน ๆ

ไม่ได้เชื่อมโยงกันมากนัก

ถ้ามีคนที่มองไปข้างหน้า หรือทำนาย “ความเปลี่ยนแปลง” ที่วิเคราะห์แบบเชื่อมโยงได้

เราจะเห็นภาพชัดขึ้น

นั่นคือ “ความหวัง” ที่ผมอยากได้จากหนังสือเล่มนี้

ตอนนี้อ่านได้ครึ่งเล่มแล้วครับ แต่เป็นการอ่านแบบเจาะเป็นเรื่อง ๆ ที่สนใจ

แล้วก็แวบไปขโมยอ่านตอนจบ

อยากรู้ว่า “ความรู้” อะไรที่พ่อแม่ต้องเตรียมการให้กับลูก ๆ

เป็นบทที่เขาเขียนในมุมของคุณพ่อที่มีลูกวัยทีน

ในหนังสือเล่มนี้ “อเล็กซ์ รอสส์” จะเล่าเรื่องหุ่นยนต์ รหัสพันธุกรรม บล็อกเชน เงินดิจิทัล

ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน แฮกเกอร์ บิ๊กดาต้า ฯลฯ

หรือเรื่องราวที่เขาได้คุยกับคนต่าง ๆ มากมาย

น่าสนใจครับ

แต่…

ทำไมผมรู้สึกว่าเรื่องที่เขาเล่ามาไม่ได้ใหม่มาก

หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เคยอ่านมาแล้ว หรือได้ฟังมา

มีเรื่องที่ใหม่ ๆ น่าจะประมาณ 20%

ทั้งที่ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี

ติดตามแบบพอรู้เรื่อง

ไม่ใช่รู้อย่างลึกซึ้ง

ตอนที่หยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ผมคาดหวังในระดับเดียวกับ “คลื่นลูกที่สาม”

ของ “อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์”

หรือ “เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” (As The Future Catches You)

หรือ “ใครว่าโลกกลม” (The World Is Flat)

หลายคนคงเคยอ่านหนังสือ 3 เล่มนี้มาแล้ว

“คลื่นลูกที่สาม” น่าจะประมาณปี 2533

“เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ” ประมาณปี 2545

“ใครว่าโลกกลม” ปี 2549

ในยุคนั้นพอเราอ่านหนังสือ 3 เล่มนี้จบ

เราจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ

ว้าววว…

โลกจะเปลี่ยนไปขนาดนี้เชียวเหรอ

แต่เล่มนี้ไม่ถึงขนาดนั้นครับ

ทำไม ?

หรือว่าเขาเขียนมานานแล้ว

แต่พอพลิกไปดูปีที่หนังสือเล่มนี้ออกมา

“รู้ทันอนาคตที่ (อาจจะ) ไม่มีคุณ” เล่มนี้ “อเล็กซ์ รอสส์” เขียนขึ้นเมื่อปี 2559

หรือ 2 ปีที่แล้วเองครับ

วันที่เขาเขียนเรื่องเหล่านี้อาจจะใหม่

แต่ใครจะไปนึกว่าเพียงแค่ 2 ปี “ความใหม่” จะเก่าลงอย่างรวดเร็ว

อาจจะเป็นเพราะเราได้รับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

การไหลทะลักของข้อมูลก็มาทุกทิศทุกทาง

โลกนี้ไม่มีความลับอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ไหน ทุกคนจะรับรู้ในเวลาไม่นาน

นี่คือ “ความน่ากลัว” ของโลกปัจจุบัน

“ความทันสมัย” วันนี้หมดอายุเร็วมาก

อย่างหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่าอีก 2 ปีจะเริ่มล้าสมัย

นี่ขนาด “อเล็กซ์ รอสส์” เป็นคนที่รู้เรื่องนวัตกรรมดีมากคนหนึ่งของโลกนะครับ

แล้ว “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ของเราละครับ

เฮ้อ…ไม่อยากนึกเลยจริง ๆ