Pepsi-Suntory (3)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องราว Suntory ในระดับภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยด้วย ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญไม่น้อยทีเดียว

และแล้ว Suntory เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่นได้แถลงอย่างเป็นทางการ (โดย Suntory Beverage & Food Ltd. หรือ SBF ในฐานะกิจการตลาดหุ้นโตเกียว) เกี่ยวกับกรณี Pepsi ในประเทศไทย (เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2560)

สาระสำคัญของถ้อยแถลง ระบุว่า Suntory Beverage & Food Asia Pte Ltd. (SBFA) ซึ่งเป็นกิจการในเครือข่าย Suntory แห่งญี่ปุ่น เข้าซื้อหุ้น 51% จาก International Refreshment (Thailand) Co., Ltd. กิจการเครื่องดื่มในประเทศไทยซึ่งเป็นเครือข่าย PepsiCo แห่งสหรัฐ

ทั้งนี้ International Refreshment (Thailand) Co., Ltd ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2546 มีทุนจดทะเบียน 9,000 ล้านบาท ถือหุ้นโดย Pepsi-Cola (Thai) Trading Co., Ltd. (99.99%) จากดีลนี้แล้ว จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Suntory PepsiCo Beverage (Thailand) Co., Ltd. ที่สำคัญได้ให้รายละเอียด ซึ่งผู้คนสนใจกันมากเกี่ยวกับราคาซื้อขายหุ้น (Acquisition Price) โดยระบุว่า ประมาณ 33 พันล้านเยน (ญี่ปุ่น) หรือเกือบ ๆ 1 หมื่นล้านบาท

ดีลการซื้อขายหุ้นเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2560 ตามแผนการจะมีการโอนกิจการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 (สรุปความมาจาก Notice Concerning Conclusion of Definitive Agreement Regarding the Acquisition of PepsiCo”s Beverage  Business (Form of a Joint Venture) in Thailand-November 2, 2017 https://www.suntory.com)

ในภาพใหญ่สะท้อนความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง Suntory แห่งญี่ปุ่น และ PepsiCo แห่งสหรัฐ ที่ต่อเนื่องเกือบ ๆ 4 ทศวรรษ

เริ่มต้นจากปี 2523 Suntory แห่งญี่ปุ่นซื้อกิจการ Pepsi Bottling Ventures (PBV) ถือเป็น bottler รายใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์ Pepsi ในอเมริกาเหนือ ในช่วงเวลาสหรัฐกำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตามมาด้วยคลื่นการลงทุนธุรกิจญี่ปุ่นพาเหรดครึกโครม เข้าซื้อกิจการธุรกิจอเมริกัน

จากนั้น ปี 2541 Suntory กับ Pepsi บรรลุข้อตกลงทางธุรกิจ (master franchise agreement) ในตลาดญี่ปุ่น หลังจาก Pepsi เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นมาก่อนหน้านั้นแล้วเพียงทศวรรษกว่า ๆ ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

และครั้งที่ 3 ถือว่าเป็นโมเดลธุรกิจเดียวกันกับกรณีประเทศไทย ในปี 2556 Suntory กับ PepsiCo ตกลงกันตั้งบริษัทร่วมทุน (สัดส่วน 51/49) ดำเนินกิจการ Pepsi ในเวียดนาม หลังจาก Pepsi เข้าสู่ตลาดเวียดนามมาแล้ว 3 ทศวรรษ ตั้งแต่สหรัฐยกเลิก embargo ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดีมาก่อนนั้นแล้ว (สนใจรายละเอียด โปรดอ่านจาก www.suntorypepsico.vn)

Suntory มีมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทยในเชิงบวก ในฐานะเป็นตลาดธุรกิจเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และเชื่อว่าจะเติบโตต่อไป ขณะเดียวกันเชื่อมั่นในรากฐานทางธุรกิจอันมั่นคงของ Pepsi ในประเทศไทย “PepsiCo has a solid business platform in Thailand with its strong brand equity, manufacturing facilities and sales network.” จากตอนหนึ่งของถ้อยแถลงข้างต้น-อ้างแล้ว)

มุมมองเกี่ยวกับโมเดลการร่วมทุนทางธุรกิจ สอดคล้องกับแนวคิดที่เสนอไว้ในตอนที่แล้ว เป็นยุคของความร่วมมือระหว่างธุรกิจใหญ่ที่มีความสมดุล ร่วมประโยชน์ อย่างทัดเทียม เป็นวิวัฒนาการของแบรนด์ที่ฝังรากอย่างมั่นคง ต่อเนื่องมาจากโมเดลธุรกิจที่เกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า

ยุคแห่งการพึ่งพิง การนำพาสินค้าสมัยใหม่จากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก เพื่อการสร้างโอกาสทางธุรกิจ สร้างตัวของผู้ประกอบการท้องถิ่น

“ทั้ง SBF และ PepsiCo มีแผนการสร้างธุรกิจเครื่องดื่มให้เติบโตในประเทศไทย อันเนื่องมาจากจุดแข็งของแต่ละฝ่าย SBF มีความชำนาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขณะที่ PepsiCo มีแพลตฟอร์มธุรกิจที่เข้มแข็ง” (อีกตอนหนึ่ง ของถ้อยแถลงของ SBF ในหัวข้อ Back-ground of the Acquisition)

ในภาพรวม Suntory หรือ SBF ดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) อย่างคึกคัก ข้อมูลพื้นฐานระบุว่า ในภูมิภาคข้างต้น โดยเฉพาะในอาเซียนดำเนินการภายใต้ holding company ที่ชื่อ Suntory Beverage & Food Asia Pte Ltd (SBFA) ผลประกอบการทั้งเครือข่าย Suntory มียอดขายรวมเกือบ ๆ 9 แสนล้านบาท โดยกิจการในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย มีสัดส่วน 11% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะนี้ยอดขายในญี่ปุ่นมีสัดส่วนถึง 66% (อ้างอิงตัวเลขผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2559)

ในฐานะ Suntory เริ่มต้นจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก่อน และอยู่อย่างนั้นนานกว่า 70 ปี ก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เมื่อราว 45 ปีที่แล้ว และเพิ่งมีแผนการอย่างจริงจัง แสวงหาการเติบโตในต่างประเทศในทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง เมื่อพิจารณาโครงสร้างรายได้ตามประเภทธุรกิจแล้ว ถือว่า Suntory หรือ SBF มีโครงสร้างรายได้ค่อนข้างน่าสนใจ ในปัจจุบันยอดขายสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว นั่นคือมีสัดส่วน 53% ต่อ 37%

Suntory Beverage & Food Asia Pte Ltd (SBFA) เปลี่ยนชื่อมาจาก Cerebos Pacific Limited (CPL) ก่อตั้งขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อปี 2524 เพื่อผนึกและหลอมรวมกิจการซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักด้านอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ BRAND”S เข้าถือหุ้นในกิจการ Cerebos ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทยด้วย พร้อมแผนการเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ (Stock Exchange of Singapore) ในปี 2526 จากนั้นเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ดำเนินไป จนมีผลิตภัณฑ์หลากหลายพอสมควร แต่แล้วในปี 2533 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อ Suntory แห่งญี่ปุ่น เข้าซื้อกิจการ Cerebos Pacific และตัดสินใจถอนตัวออกจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ในที่สุด

ปัจจุบัน Suntory Beverage & Food Asia Pte Ltd (SBFA) มีผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องดื่ม (beverages) อาหารเสริม (health supplements) และอาหารกับกาแฟ food & coffee) มีเครือข่ายธุรกิจใน 11 ประเทศ ไดแก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ว่าไปความพยายามเข้าสู่สังคมไทย ของ Suntory มีมาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2533 เข้าครอบงำ บริษัทเซราบอส (ประเทศไทย) พร้อมกับในปีต่อมา (2534) วางรากฐานโรงงานผลิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่แหลมฉบัง ได้มีความพยายามอีกบางกรณี ซึ่งถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ นั่นคือ Suntory ซื้อหุ้น 50% ในกิจการเครื่องดื่มของ ไทยทิปโก้ เอฟแอนด์บี ในเครือข่ายบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด

เมื่อทศวรรษที่แล้ว 2550) ตามแผนการขยายทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะแผนการในปี 2556 ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชาสำเร็จรูป Oolong Tea ในอินโดนีเซีย (พฤษภาคม) เวียดนาม (สิงหาคม) และไทย (กันยายน)

บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เดิมคือ บริษัท สับปะรดไทย จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 ในช่วงปลายสงครามเชื่อว่ามีอิทธิพลมาจากโมเดลธุรกิจสหรัฐ-บริษัท โดลประเทศไทย (ก่อตั้งปี 2515) ตั้งกิจการในย่านเดียวกัน-ประจวบคีรีขันธ์ ผลิตภัณฑ์หลัก คือ สับปะรดกระป๋อง เพื่อการส่งออก ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปี 2532 จากนั้นได้ขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจน้ำผลไม้พร้อมดื่ม-บริษัท ทิปโก้เอฟแอนด์บีรวมทั้งซื้อกิจการเครื่องดื่มน้ำแร่ตราออรา (จากบริษัท ธรณีพิพัฒน์ จำกัด) และเริ่มร่วมมือกับ Suntory แห่งญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2547 ก่อนจะมาร่วมทุนกัน และแล้วก่อนที่ดีล Suntory-PepsiCo จะเริ่มขึ้นไม่นาน Suntory กับ Tipco ได้ตัดสินใจแยกทางกัน (ต้นปี 2560) สะท้อนความพยายามของ Suntory เข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย ด้วยแบรนด์ของตนเอง แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่เชื่อว่าเมื่อ Suntory PepsiCo Beverage (Thailand) ดำเนินการอย่างเข้าที่ข้างทางแล้ว แผนการใหม่ดังกล่าวคงเปิดฉากขึ้นอีก