การเติบโตของ e-Commerce ในอาเซียน

e-Commerce
ภาพจาก :freepik
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาพรวมของ e-Commerce ในอาเซียนเหลือผู้เล่นไม่กี่เจ้าแล้ว และตัวเลขของยอดขาย e-Commerce ในอาเซียนก็มีอัตราการเติบโตขึ้นประมาณ 2 เท่า จากในปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ประมาณ 54,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้มีการเติบโตมากจนถึงมูลค่า 1.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้เล่นที่จากไปอย่างประเทศอินโดนีเซียที่ชื่อ “JD.com” แต่มีผู้เล่นที่เข้ามาใหม่อย่างเช่น “TikTok” ที่เริ่มมีการเริ่มต้นก้าวเข้ามาในตลาด ปี ค.ศ. 2021 และอีกเจ้าที่ชื่อ “Temu” เป็นแอปพลิเคชั่นของประเทศจีนที่กำลังวางแผนจะตีตลาดเข้ามาในอาเซียน

หากเราตั้งคำถามว่า ปัจจุบันรายใดเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดของตลาด e-Commerce ในอาเซียน ต้องบอกเลยว่าทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ “Shopee” ที่มีมูลค่ามากถึง 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ “Lazada” ที่มีมูลค่าห่างกันเป็นครึ่งหนึ่งของ Shopee โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาอันดับ 3 เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากครับ เพราะผู้คนไม่ค่อยรู้จักแอปพลิเคชั่นนี้ มีชื่อว่า “Tokopedia” เป็นแอปพลิเคชั่นรายใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย มีมูลค่าการซื้อขายที่ห่างจาก Lazada ไม่มากนัก อยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่น่าสนใจเลยคือ Lazada มีการตีตลาดในประเทศอาเซียนกว่า 6 ประเทศ แต่ Tokopedia มีเพียงแค่ประเทศเดียวเท่านั้น คือประเทศอินโดนีเซีย ต้องยอมให้กับแอปพลิเคชั่นนี้เลยครับ ว่าเป็นแอปพลิเคชั่นที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ต่อมาในลำดับที่ 4 อย่างแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อคุ้นหู และกำลังได้รับความนิยมในขณะนี้อย่างมากคือ “TikTok” โดยมีการเผยตัวเลขออกมาอยู่ที่ประมาณ 4,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ มี 3 ประเทศในอาเซียนที่ไม่มีตลาด e-Commerce ท้องถิ่นเป็นของตนเอง ซึ่งก็คือประเทศไทย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กลับโดนปกครองด้วย Shopee, Lazada หรือ TikTok แต่ประเทศที่มี e-Commerce ท้องถิ่นของตนเองมากถึง 3 ราย อย่างประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูง ทำให้อินโดนีเซียสามารถต่อสู้และยืนหยัดใน e-Commerce ได้นาน

การมาของ e-Commerce ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี จึงส่งผลให้มีการพัฒนาในระบบนิเวศของธุรกิจ e-Commerce ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Platform, Payment หรือ Transportation แต่จุดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ e-Commerce ในอาเซียนเติบโตไปได้มี 4 แบบด้วยกันคือ

1.Selection แพลตฟอร์มใดมีทางเลือกของการซื้อสินค้าหลากหลาย เท่ากับว่าคุณก็จะได้เปรียบในวงการธุรกิจนี้

2.Speed แพลตฟอร์มใดที่สามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว จะถือว่าเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากลูกค้า

3.Quality แพลตฟอร์มใดมีสินค้าที่มีคุณภาพ ลูกค้าจะให้ความไว้วางใจ และกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ

และ 4.Save Cost แพลตฟอร์มใดที่ช่วยเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ ก็จะดึงดูดลูกค้าได้อย่างง่ายดาย

ปัจจุบันธุรกิจต่าง ๆ มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงโดยการขยายตลาด และหันมาให้ความสำคัญด้านการสร้าง Team Online มากขึ้น การปรับตัวของธุรกิจในอาเซียนต่อ e-Commerce ไม่เพียงแค่การสร้างแพลตฟอร์มการขายของตนเอง แต่ยังต้องการได้รับการลงทุนเพื่อที่จะนำมาพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้

การทำธุรกิจออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงการขายสินค้าอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างประสบการณ์การซื้อขายที่ทันสมัยและน่าทึ่ง จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมในประเทศไทยถึงไม่มี e-Commerce ท้องถิ่นเป็นของตนเอง เพราะประเทศไทยไม่ได้มี Market Size ที่ใหญ่มากพอในการพัฒนา