ดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยน

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สำหรับเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิด (small and open economy) อย่างประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย การส่งออกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ และการจ้างงาน รวมถึงการยกระดับการพัฒนาจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จนเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นน้องใหม่ที่จะได้เข้าไปอยู่ในสโมสรของการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต่อไปก็น่าจะเป็นประเทศไทย ถ้าไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารโดยทหาร ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจถดถอย แทนที่จะขยายตัวมากกว่านี้

การจะยกระดับการพัฒนาจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศไทยไม่มีทางอื่นนอกจากพัฒนาการส่งออกสินค้าและบริการให้ขยายตัวให้มากขึ้นจนมีมูลค่าไม่น้อยกว่ารายได้ประชาชาติ ขณะนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศเรามีมูลค่าประมาณร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หนทางยังอีกยาวไกลในการที่จะพัฒนาและผลักดันให้การส่งออกสินค้าและบริการเข้าใกล้ 100 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาคดังที่กล่าวมาแล้ว

การที่การส่งออกและการท่องเที่ยวของเราจะสามารถแข่งขันในตลาดสินค้าเดียวกันในต่างประเทศ ราคาที่คิดเป็นเงินดอลลาร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทุกวันนี้วิทยาการการผลิตหรือเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง นอกจากนั้น ปริมาณการขายก็สำคัญต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ปริมาณการผลิตย่อมเกี่ยวข้องกับการตลาด ซึ่งต้องอาศัยพื้นฐานของสินค้าที่ต้องมีคุณภาพ ต้องเป็นที่ต้องหูต้องตา ทันสมัย ตรงตามรสนิยมของผู้บริโภค ซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ราคาสินค้าก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญของผู้ซื้อหรือผู้บริโภคอยู่เสมอ

ในการค้าระหว่างประเทศสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองไป หรือสินค้ากึ่งถาวรที่มีอายุยืนยาวพอสมควร หรือแม้แต่สินค้าที่เป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์กลไกที่ใช้ผลิตสินค้าอื่น ๆ ซึ่งก็ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นทั้งในและต่างประเทศ ราคาก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการแข่งขัน นอกจากความคงทน อายุการใช้งาน การใช้พลังงานในการเดินเครื่องจักร

ผู้ผลิตสินค้าที่พึ่งพาการส่งออกไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม หรือแม้แต่บริการทั้งหลาย เช่น การค้าส่ง ค้าปลีก การขนส่งทางบก เรือ อากาศ หรือแม้แต่การท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การบริการอื่น ๆ ซึ่งหลายคนคิดว่าต้องใช้คุณภาพ การตลาด การโฆษณา เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแข่งขันอันไม่มีขีดจำกัดในเวทีการค้าของโลก แต่ถึงกระนั้น ?ราคา? ที่คิดเป็นเงินดอลลาร์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันราคาขายที่คิดเป็นดอลลาร์ นอกจากจะขึ้นอยู่กับต้นทุนของปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่า ดอกเบี้ย ค่าชิ้นส่วน วัตถุดิบที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตที่คิดเป็นเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์จึงมีความสำคัญยิ่ง ในขณะเดียวกันการส่งออกก็เป็นหัวใจของการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยส่วนรวม เพราะการส่งออกมีสัดส่วนที่ใหญ่เป็นที่ 2 รองลงมาจากการบริโภคของครัวเรือนในบัญชีรายได้ประชาชาติ รองลงไปคือเงินลงทุนทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรง หรือเป็นการลงทุนในการเก็บกักสินค้าและวัตถุดิบ

ทั้งระดับการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุน ดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ คนจะออมมากขึ้น บริโภคน้อยลง บริษัทห้างร้านจะลดการลงทุนลง ลดการเก็บกักสินค้าลง เพราะไม่คุ้มที่จะทำอย่างนั้น สู้ออมไว้เอาดอกเบี้ยดีกว่า เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวลง การนำเข้าสินค้าและสินค้าก็จะต่ำลง นโยบายดอกเบี้ยที่ถูกต้อง ประการแรกก็คือ พยายามรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ หรือพูดเป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรจะเป็นบวก แต่ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อบ้านเราอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 เป็นอันมาก

ขณะเดียวกัน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็ค่อนข้างร้อนแรง ทางธนาคารกลางของสหรัฐมีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังก่อตัว จึงประกาศจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ และจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์

การที่ทางธนาคารกลางของเราประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยทางการไว้ที่ 1.50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยทางการของธนาคารกลางสหรัฐอยู่ที่ 1.75 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะมีคนเกรงกลัวว่าเงินทุนจะไหลออก ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะการนำเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทยคงจะไม่ได้กำไรเท่าที่ควร แต่ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศในรอบ 7 เดือน นับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา มีฐานะเกินดุลถึง 6,732 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคม ดุลการชำระเงินจะขาดดุลอยู่บ้าง แต่ความที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลอยู่มากติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปี

เงินบาทจึงไม่อ่อนตัวลงตามค่าเงินเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งทั้งในอาเซียน ในเอเชีย รวมทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในทวีปอื่น เช่น อเมริกาใต้ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นหมด ค่าเงินบาทแข็งขึ้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจึงมีเพียงแค่ร้อยละ 10 เศรษฐกิจของเราจึงขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 5

สาเหตุเป็นเพราะนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย เงินบาทจึงแข็งเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันก็ทำให้บัญชีเงินทุนสำรองของธนาคารขาดทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาล เพราะตอนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อเงินดอลลาร์มา เป็นช่วงเวลาที่ค่าเงินบาทอ่อนกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย

การเงิน หรือ กนง.ในคราวหน้า ซึ่งจะมีขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาคงจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ทางการของไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามทางการสหรัฐอเมริกา

เหตุผลที่เรายังไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกาก็มีหลายประการ ประการแรก เศรษฐกิจของเรายังบอบช้ำอยู่ ยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างมั่นคง อัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับการพัฒนาขนาดกลาง ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้า แล้วถ้าขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 ต้องถือว่ายังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ยังไม่ควรจะขึ้นดอกเบี้ย ต้องยอมสละให้เงินทุนไหลออกให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแลกกับการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กล่าวคือให้น้ำหนักกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะขณะนี้ไม่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในด้านเสถียรภาพ เศรษฐกิจของไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล

เงินทุนไหลออกบ้างก็ไม่เป็นอันตราย ในทางตรงกันข้าม เมื่อเงินทุนไหลออกบ้างก็เพื่อลดความกดดันให้เงินบาทไม่แข็งค่าต่อไป จะได้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทางรัฐบาลต้องการให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมาย 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สมเหตุสมผล ค่าเงินบาทควรอ่อนตัวกลับไปที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่สำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเป็นอิสระจนเกินขอบเขต ไม่ฟังเหตุผลของผู้ใด และไม่ต้องรับผิดชอบความอยู่ดีกินดีของประชาชน ราคาสินค้าเกษตรและการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจ รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ รัฐมนตรีคลังต้องรับผิดชอบ แต่ไม่มีอำนาจอะไรเลยเกี่ยวกับนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและอื่น ๆ เป็นอำนาจของ ธปท.ทั้งสิ้น

รัฐบาลนี้ควรจะแก้กฎหมายไปตามเดิม คือ การเข้าดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการคานอำนาจระหว่างธนาคารกลางกับกระทรวงการคลัง โดยกระทรวงการคลังมีหน้าที่รับผิดชอบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยส่วนรวม

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อเสถียรภาพทางการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของเสถียรภาพทางด้านอัตราเงินเฟ้อของประเทศ แม้กรรมการนโยบายการเงินจะมีตัวแทนของกระทรวงการคลังอยู่ด้วย แต่เนื่องจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานโดยตำแหน่ง รองผู้ว่าการเป็นกรรมการ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมากที่ต้องรับผิดชอบต่อสภา แต่ไม่มีอำนาจสำหรับคานอำนาจของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเลย

ถ้าแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยให้กลับมาอย่างเดิม น่าจะเป็นผลงานที่สำคัญของรัฐบาลนี้ วิกฤตการณ์ทางการเงินทุกครั้งของประเทศไทยเกิดขึ้นจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ หรือความหวงเก้าอี้ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยทุกครั้ง ตั้งแต่ที่เห็นผ่านมาในรอบ 30-40 ปีนี้

สื่อมวลชนควรจะเลิกคิดว่า ธปท.เก่งกว่ากระทรวงการคลังได้แล้ว เพราะมันไม่จริง