ป๋านักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงศ์ รามางกูร

ป๋าได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2523 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันครั้งที่ 2 เกิดภาวะราคาน้ำมันแพง ราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะการรวมตัวกันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นองค์การผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก (OPEC) การที่ราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อไปทั่วโลก ประเทศต่าง ๆ ต้องพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินตราต่างประเทศไหลออก ซึ่งจะทำให้ค่าเงินตกต่ำลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยสูง ก็เป็นของธรรมดาที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาเกิดเป็นผลตามมา

เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซา ประเทศไทยก็ไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบ ราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผักผลไม้ และอุตสาหกรรมก็ตกต่ำตามมา เกิดความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ต้องพยายามผลักดันการส่งออกและลดการนำเข้า รณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน ต้องปิดโทรทัศน์ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 5 ไฟฟ้าตามถนนหนทางต้องเปิดดวง ดับดวง ต้องควบคุมการใช้น้ำมัน ปิดปั๊มน้ำมันตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 5 ป๋าประกาศใช้คำขวัญ “ประหยัด นิยมไทย ร่วมใจกันส่งออก”

ในความซบเซาทางเศรษฐกิจอย่างสาหัส ที่ใดมีปัญหา ที่นั่นก็มีโอกาส จึงเป็นโอกาสทองในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่ค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มากในการนำเข้าพลังงาน

ขณะเดียวกัน ก๊าซธรรมชาติสามารถแยกออกมาเป็นก๊าซหุงต้มและก๊าซที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งสามารถนำไปผลิตต่อได้ในหลายอุตสาหกรรม เป็นโอกาสเปลี่ยนโฉมหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแท้จริง

ด้วยคำแนะนำของศาสตราจารย์ ดร.โอกิตะ อดีตรัฐมนตรีคลังของประเทศญี่ปุ่น เห็นว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมหนัก และสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ตำบลมาบตาพุด ที่แหลมฉบังก็สร้างท่าเรือสำหรับอุตสาหกรรมเบา จึงได้เกิดแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกขึ้น

นอกจากสร้างท่าเรือที่มาบตาพุดและแหลมฉบังแล้ว หลายอย่างก็ต้องพร้อม เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ รางรถไฟ ทางรถยนต์ โรงเรียน โรงพยาบาล ที่พักอาศัยและอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในอำนาจของส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยประสานการทำงานร่วมกันได้ ป๋าจับทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกันในรูปแบบคณะกรรมการ

เมื่อมีแผนพัฒนาเพื่อความโชติช่วงชัชวาลรับกับการค้นพบก๊าซธรรมชาติ ก็เกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรกับความโชติช่วงชัชวาลนี้ ที่ประชาชนทั่วประเทศควรจะได้รับผลพวงและประโยชน์จากการค้นพบทรัพยากรอันสำคัญนี้อย่างทั่วถึง จึงได้เกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ยากจนในแผนพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นแผนแม่บทด้วย

ในยุคนั้นประชาชนในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประสบกับความขาดแคลนน้ำ แห้งแล้ง มีทั้งน้ำท่วม มีทั้งฝนแล้ง หน้าแล้งประชาชนต้องอพยพเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาชุมชนแออัด ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นปัญหาใหญ่

การจะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ด้วยมาตรการทางลบ ด้วยการขึ้นภาษีทางตรง เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีทรัพย์สิน ภาษีลาภลอย หรือ capital gain tax ก็จะทำให้เราแข่งขันกับประเทศคู่แข่งไม่ได้ ประเทศไทยต้องอาศัยการส่งออกไปยังตลาดที่ใหญ่กว่า เพราะเราสามารถผลิตสินค้าทุกอย่างได้เกินความต้องการใช้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง สัตว์ปีก สุกร

การลดช่องว่างทางด้านรายได้และทรัพย์สินเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่สิ่งที่สามารถทำได้โดยไม่มีแรงต่อต้านก็คือ การลดช่องว่างของคุณภาพชีวิต quality of live โดยรัฐประกาศใช้แผนพัฒนาชนบทเขตยากจน ชนบทไทยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล แต่ไม่ได้ยากจนไปเสียทั้งหมด จึงต้องแยกชนบทออกเป็น 2 เขต

คือ ชนบทในเขตชลประทาน หรือเขตเกษตรก้าวหน้า กับเขตชนบทล้าหลัง ความยากจนมักจะเกิดในเขตชนบทล้าหลังที่อยู่นอกเขตชลประทาน ขณะเดียวกัน เขตที่สามารถปลูกพืชอย่างอื่นได้นอกจากข้าวและพืชไร่ เช่น ภาคใต้ฝนตกชุกสามารถทำสวนยางพาราได้ ประชาชนภาคใต้จึงมีรายได้สูงกว่าประชาชนในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน เหนือนครสวรรค์ขึ้นไป

ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาเขตชนบทยากจน ให้เป็นหน้าที่ของ 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของตน แต่ต้องประสานกันผ่านทางคณะกรรมการพัฒนาชนบทยากจน ซึ่งมีป๋าเป็นประธาน เช่นเดียวกับ คณะกรรมการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ป๋าก็เป็นประธาน ที่ปรึกษาเศรษฐกิจได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมด้วยทุกคณะกรรมการน่าจะถึง 14-15 คณะ เพื่อสามารถอธิบายป๋าได้ก่อนประชุมและหลังประชุม ถ้าป๋าเกิดมีความสงสัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะป๋าให้เกียรติรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่จะใช้ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำงานให้

สิ่งใดที่ป๋าไม่รู้หรือไม่เข้าใจ ก็เป็นหน้าที่ที่ปรึกษาต้องไปหาข้อมูลมาอธิบายให้ป๋าเข้าใจ จนสามารถตัดสินใจได้ ป๋าจะไม่ตัดสินใจถ้ายังไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง แต่ป๋าก็มักจะออกตัวกับที่ปรึกษาเสมอว่า “ความรู้เศรษฐศาสตร์ป๋า ไม่จบ ป.4 เรามีความรู้ถึงด็อกเตอร์ ต้องอธิบายให้ป๋าเข้าใจ จนป๋าตัดสินใจได้” ป๋าจึงเป็นนักฟัง นักอ่าน นักถาม เพราะท่านทำการบ้านมาก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในปีแรก ๆ ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ป๋าอาจจะใช้เวลาซักถามรายละเอียดมากและนาน แต่ผ่านไป 1-2 ปี

ป๋าเข้าใจประเด็นเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง เป็นอย่างดี ถึงขั้นสามารถอนุมัติให้ขึ้นภาษี และอนุมัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศลดค่าเงินบาทจาก 23 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 27 บาทต่อดอลลาร์ ด้วยความเข้าใจ

ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ตรึงค่าเงินไว้กับดอลลาร์สหรัฐมาตลอด การลดค่าเงินบาทครั้งนั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่โตมาก เพราะนักธุรกิจต่างก็กู้เงินตราต่างประเทศมาใช้ เพราะดอกเบี้ยถูกกว่าดอกเบี้ยเงินบาทมาก และไม่มีการประกันอัตราแลกเปลี่ยน

ป๋าเคยเล่าให้ฟังว่า ป๋าซาบซึ้งถึงปัญหาความยากจนในชนบทในภาคอีสานมาก เพราะท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในชนบทในภาคอีสาน เข้าใจปัญหาคอมมิวนิสต์เป็นอย่างดี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชนบทในประเทศไทย ต้องมีไฟฟ้าใช้ ต้องมีน้ำสะอาดดื่ม ต้องได้รับบริการสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. โดยนำรูปแบบหมอเท้าเปล่าของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาใช้ ให้แม่บ้านเลือกสมาชิกกันเอง เพื่อจะมาเป็น อสม. มีตู้ยาประจำหมู่บ้าน พัฒนาความรู้ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขและโภชนาการแม่และเด็ก

จนบัดนี้ไม่มีเด็กพุงโลก้นปอดจากการเป็นโรคขาดสารอาหาร รณรงค์ให้ใช้นมแม่เลี้ยงเด็กแทนนมผงและนมข้นหวานตัดวงจร โง่-เจ็บ-จน หรือ จน-โง่-เจ็บ หรือ โง่-จน-เจ็บ ลงให้ได้ภายใน 10 ปี

ซึ่งบัดนี้ปัญหาโง่-จน-เจ็บก็หมดไปแล้ว ป๋าตั้งคำถามว่า ประเทศเราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร แล้วปล่อยให้คนไทยเป็นโรคขาดสารอาหารได้อย่างไร ต้องเร่งให้ความรู้กับ อสม. เพื่อ อสม.จะได้นำไปดูแลแม่และเด็กในหมู่บ้านของตน บัดนี้เราจึงไม่เห็นเด็กเป็นโรคขาดอาหารพุงโลก้นปอดแบบแอฟริกาอีกต่อไป

ป๋าสอนพวกเราที่ปรึกษาว่า ปัญหาความยากจนในชนบทนั้นเป็นต้นตอของปัญหาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาคอมมิวนิสต์ ปัญหาชุมชนแออัดในเมือง ปัญหาโสเภณี และปัญหาอื่น ๆ ดังนั้นถ้าเราพัฒนาชนบทให้สำเร็จได้

ทุกหมู่บ้านมีไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง ชาวชนบทประกอบอาชีพได้ในหมู่บ้านของตน เจ็บป่วยก็มีโรงพยาบาลอำเภอที่พัฒนาขึ้นมาจากสุขศาลา นักเรียนแพทย์ ถ้าไม่ต้องการใช้ทุนก็ต้องออกไปทำงานในโรงพยาบาลประจำอำเภอ ป๋าจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทมาอันดับหนึ่ง การพัฒนาอุตสาหกรรม การลงทุน ท่าเรือน้ำลึก การปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศเป็นอันดับสอง การพัฒนาการเมืองก็ทำสมัยป๋าเป็นอันดับสาม

หลังจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 เกิดภาวะเงินเฟ้อ เกิดภาวะการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาบริษัทเงินทุนล้มและจะลุกลามมาถึงธนาคารพาณิชย์ ต้องบริหารจัดการเรื่องน้ำมันและพลังงาน รณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน การรณรงค์ให้ใช้ของไทย ให้นิยมไทย ร่วมใจกันส่งออก ยังก้องอยู่ในหูจนบัดนี้

ป๋ามีความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง ป๋าพูดอยู่เสมอว่า “เกิดมาเป็นคนไทยต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ป๋าดูแลบ้านเมืองมาตลอด 8 ปี 5 เดือน ทั้งทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง

วันหนึ่ง ป๋าเดินเข้ามาหาคณะที่ปรึกษา ซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ที่ตึกบัญชาการ บอกให้ที่ปรึกษาแต่ละคนเขียนความเห็นว่า ป๋าควรจะรับเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยหรือไม่ โดยห้ามปรึกษากัน

ทราบภายหลังว่า ที่ปรึกษาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีความเห็นว่า ป๋าได้รักษาเศรษฐกิจจนฟื้นและปลอดภัยแล้ว ป๋าต่อต้านรัฐประหารถึง 3 ครั้ง 2 ครั้งแรก เป็นข่าว หนที่ 3 ไม่เป็นข่าว รักษาระบอบรัฐสภาไว้ได้มั่นคงดีแล้ว ถึงเวลาป๋าจึงได้กล่าววาจาอมตะกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่มาเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง

“ผมพอแล้ว”