จับตา ครม.เศรษฐกิจเฉพาะกิจ เคาะแผนรับมือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
Photo : www.thaigov.go.th

จับตาวาระ ครม.เศรษฐกิจเฉพาะกิจ ประยุทธ์ เคาะแผนรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ-สภาพัฒน์ ประเมินเอฟเฟ็กต์สงครามรัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2565 ในวันพรุ่งนี้ (11 สิงหาคม 2565) เวลา 10.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รวมถึง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปลัดกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงร่วมหารือ

นายธนกรกล่าวว่า สำหรับวาระเพื่อทราบที่จะมีการรายงานในที่ประชุม โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นผู้นำเสนอการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเชีย-ยูเครน และขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะนำเสนอการประเมินสถานการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ

Advertisment

นายธนกรกล่าวว่า โดยที่ประชุมมีวาระพิจารณาที่สำคัญคือ ข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ

“การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และรัฐภูมิศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการร่วมกันประเมินผลกระทบดังกล่าว และพิจารณาหาแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในระยะต่อไป” นายธนกรกล่าว

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการติดตาม วิเคราะห์ปัจจัย และความเสี่ยงให้ครบทุกมิติ เพื่อใช้ในการกำหนดมาตรการแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นการเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุรองรับล่วงหน้าหากเกิดวิกฤต แทนการรอให้วิกฤตเกิดก่อนแล้วค่อยดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทย คนไทย สามารถ ต้านทาน พร้อมรับ และไปต่อได้ ในช่วงเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นในขณะนี้