ส.ส.รอเส้นตาย ย้ายบิ๊กลอต หนีเพื่อไทย ไม่เป็นฝ่ายค้านซ้ำสอง

รวมนักการเมือง

จังหวะชีวิตของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นสูงสุด แม้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี แทน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย คดีวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ในวันที่ 30 กันยายน ที่จะถึงนี้

โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว เต็มใบ ได้หรือไม่

เพราะฉากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีอยู่ 3 ทาง สุดเกินคาดเดา คือ 1.ครบ 8 ปี ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ก็จะหลุดเก้าอี้นายกฯ ทันที 2.ครบ 8 ปี วันที่ 6 เมษายน 2568 คือนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และ 3.ครบ 8 ปี 9 มิถุนายน 2570 คือวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2

แม้จะเก็งกันว่าทางที่เป็นไปได้มากที่สุด อาจจะออกในคำตอบที่ 2 คือ พล.อ.ประยุทธ์ อาจอยู่ได้ถึงปี 2568

กระนั้น คนการเมืองมอง “ข้ามชอต” ไปไกลกว่าการตัดสินวันที่ 30 กันยายนไปแล้ว โดยเฉพาะนักเลือกตั้งค่ายพรรคเพื่อไทย ที่วิเคราะห์กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะได้ไปต่อ แต่อาจยุบสภาในช่วงหลังการประชุมเอเปค ธันวาคม 2565-มกราคม 2566 ชิงความได้เปรียบเรื่องทางการเมือง ในการดูดคนให้ย้ายพรรค-สลับขั้ว

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ไปต่อ แม้จะกลับมาเป็นนายกฯรักษาการ ที่มีอำนาจเต็ม อาจถูกแรงต้าน ต้องปล่อยมือให้ พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร คุมสถานการณ์ต่อไปเพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ในสภา หรือคว่ำกระดานเพื่อยุบสภา

นี่คือจังหวะที่ นักเลือกตั้ง กำลังตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตตัวเองบนกระดานการเมือง

ตามล็อกอันตราย 2 ล็อก คือ ล็อกแรก 24 กันยายน เป็นวัน “นับถอยหลัง” 180 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร กับล็อกที่สอง 24 ธันวาคม เป็นวัน “นับถอยหลัง” 90 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งสองล็อกมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองอย่างยิ่ง

ไม่ว่าระยะเวลา นับถอยหลัง 6 เดือน (180 วัน) หาก ส.ส.คนไหน ต้องการย้ายพรรค-สลับขั้ว สามารถทำได้ทันที ไม่มีการเลือกตั้งซ่อม แค่ลาออกจาก ส.ส.เปิดตัวไปอยู่พรรคใหม่ แล้วลุยหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ผิดกฎหมาย

กระนั้น หากนักการเมืองประเภทงูเห่า หรือปันใจไปอยู่พรรคใหม่ แต่ยังไม่กล้าย้ายพรรคตอนล็อกแรก ช่วงนับถอยหลัง 6 เดือน (180 วัน) ด้วยเหตุความพร้อม หรือเหตุผลแรงต้านในพื้นที่ ก็สามารถเลือกใช้ล็อกที่ 2 คือ ล็อก 90 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร (นับถึงวันเลือกตั้ง)

แต่ถ้าระยะเวลาล่วงเลยเข้าสู่โซนอันตราย นับถอยหลัง 90 วัน “นักเลือกตั้ง” ที่อยากย้ายพรรคต้องตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่าจะ “อยู่” หรือ “ไป”

เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่รัฐบาลอยู่ครบเทอมแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ดังนั้น ระยะเวลา 90 วันจึงบีบหัวใจนักเลือกตั้ง

แต่ถ้าพ้นเส้นตาย 24 ธันวาคมแล้ว ยังเตรียมตัวไม่ทัน ไม่ว่านักเลือกตั้ง หรือพรรคการเมือง “ผู้มีอำนาจ” ที่มีอำนาจยุบสภา ยังสามารถ “เล่นเกม” จัดตัวผู้เล่นได้อีก ด้วยการ “ยุบสภา”

เพราะการยุบสภา จะทำให้ “กำแพง” 90 วัน พังทลายลง เนื่องจากการยุบสภา กำหนดให้ ส.ส.สังกัดพรรค 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้น การสังกัดพรรคของ ส.ส.ที่มีเส้นตาย 90 วัน เป็นเบื้องต้นในวันที่ 24 ธันวาคม กรณีรัฐบาลอยู่ครบเทอม จึงหมดความหมายไปโดยปริยาย

ประกอบกับ “กติกา” เลือกตั้ง และการประกาศ “เขตเลือกตั้ง” ยังไม่ชัดเจน ทุกฝ่ายจึงรอจังหวะอยู่ในที่ตั้ง ดังเช่นพรรคเพื่อไทย ขณะนี้เปิดตัว ส.ส.กทม.ไปแล้ว 21 เขต 21 คน ยังไม่เปิดตัวอีก 12 เขต ที่ยังจัดทัพไม่ลงตัว

ข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง นอกจากมีข่าวว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ และ การุณ โหสกุล 2 ส.ส.กทม.จะเก็บข้าวของไปอยู่พรรคไทยสร้างไทยอีกไม่นานนี้ ยังมีระดับ ส.ส.กทม. และ ส.ส.อีสานที่รอดูกฎหมาย-จังหวะ ล็อกการเมืองที่เหมาะสม จะลาออกจากเพื่อไทยหลายชีวิต ไปเปิดตัวที่ไทยสร้างไทย ไม่นับ 7 งูเห่า อีสาน ที่จ่อลงหลักปักฐานที่พรรคภูมิใจไทยอยู่ก่อนแล้ว

ที่เหลือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.กันแล้วแทบทุกพรรค

แต่ที่แน่ ๆ นักการเมืองระดับเก๋าเกมในพรรคเพื่อไทย ที่รอย้ายสลับขั้ว เชื่อว่าหากอยู่พรรคฝ่ายค้านแบบในปัจจุบันคง ในอนาคตก็คงไม่ได้เป็นรัฐบาล

เพราะวันข้างหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถอนตัวจากการเมือง ทุกพรรคคงคุยกันง่าย ในการจัดตั้งรัฐบาล เว้นพรรคเพื่อไทยยังเป็นฝ่ายค้าน แม้จะได้ ส.ส.มากที่สุดเช่นเคย