16 ปี ปฏิวัติ 19 กันยา ทักษิณ ฆ่าไม่ตาย หวังคืนชีพกลับบ้าน

ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว

19 กันยายน 2549 และองคาพยพรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก นำทัพ-ลับ ลวง พราง เข้ายึดอำนาจ

หวังสลายอำนาจการเมืองทักษิณ และพันธมิตร หลังจากนั้น พรรคเครือข่ายทักษิณ ถูกยุบมาแล้ว 3 พรรค

30 พฤษภาคม 2550 พรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จากพิษจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง ลงแข่งกับพรรคไทยรักไทย เพื่อหนีเกณฑ์ 20% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น ในกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียว

2 ธันวาคม 2551 พรรคพลังประชาชน ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จากกรรมการบริหารพรรค (ยงยุทธ ติยะไพรัช) ทุจริตเลือกตั้ง

7 มีนาคม 2562 พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค จากการเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมา 16 ปี “ทักษิณ” ฆ่าไม่ตาย และยังไม่ยอมแพ้ เพราะการเดิมพันยิ่งกว่าเดิมพันครั้งสุดท้าย เข็นลูกสาวคนสุดท้อง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร จ่อนั่งเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย หวังปูทางกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน

ย้อนไป 4 มกราคม 2565 ทักษิณกล่าวในรายการของกลุ่มแคร์ บอก 4 เงื่อนไข ขอกลับบ้านว่า

1.อยากเลี้ยงหลานในเวลาที่เหลือ

2.ใครเป็นรัฐบาลก็ช่าง ถ้าอยากให้ช่วยคิดแก้ปัญหาให้ ตนพร้อมไม่คิดเงิน

3.จะรับจ้างบรรยายให้โอเลี้ยงแก้วหนึ่งก็พอ

4.จะไปชวนบรรดาเศรษฐีในเมืองไทย มาลงขันช่วยส่งเสริมสตาร์ตอัพ

“อะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ ผมปวารณาตลอด ในเรื่องของยุทธศาสตร์ ผมอยากเห็นยุทธศาสตร์เราเข้มแข็ง วันนี้ค่อนข้างจะเป๋ ซึ่งผมอยากช่วย”

จากนั้น “ทักษิณ” พูดเรื่องความต้องการ “กลับบ้าน” อีกหลายต่อหลายครั้ง

26 กรกฎาคม 2565 วันเกิดของทักษิณ ได้ปล่อยคลิปสัมภาษณ์จากมหานครดูไบ บอกเหตุผลที่อยากกลับบ้านเพราะ “เห็นคุณหญิง (คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) ผมสงสารคุณหญิง ผมตัดสินใจที่จะกลับเมืองไทย เพราะคุณหญิงรับภาระมาเยอะ รับภาระแทนผมมาเยอะ สงสาร เมื่อกลับไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวแล้ว มันก็จบ ทุกอย่าง”

“ซึ่งวันนั้นผมกลับไปอยู่กับครอบครัวแล้ว ผมก็ต้องทำตัวให้แข็งแรงขึ้น เพื่อชดเชยเวลาที่หายไป ผมก็อาจจะเล่นกับเทคโนโลยีมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถเดินทางได้เยอะเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น ผมก็ต้องใช้เทคโนโลยีช่วย เพื่อให้ตัวเองไม่บกพร่อง และผมเองผมสั่งครอบครัวแล้วนะ ตายไม่เผา ให้เก็บไว้ เก็บร่างไว้ ไม่ให้เผา นี่คือสิ่งที่ผมต้องการให้การต่อสู้ของผม ให้ชีวิตผมเป็นอมตะของครอบครัว ของลูกหลาน”

หลังการปรากฏตัวของ “หญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา ที่ไปให้กำลังใจบุตรสาว “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ขึ้นเวทีโชว์นโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ จ.เชียงใหม่ อันเป็นต้นกำเนิดตระกูล “ชินวัตร” ในรอบ 16 ปี พร้อมยกไปทั้งครอบครัว

ไม่ต้องแปลความก็เดาออกว่า การยกทัพครอบครัว “ชินวัตร” ปรากฏตัวที่ จ.เชียงใหม่ และการปรากฏตัวของคุณหญิงพจมานในรอบ 16 ปี คือการส่งสัญญาณทางการเมืองที่แท้จริง

ข่าวการเปิดดีลทักษิณ และพี่ใหญ่ในรัฐบาล อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นข่าวลือหนาหูที่คนการเมือง แม้ไม่มีใครกล้า “ยืนยัน” แต่ไม่มีใคร “กล้าปฏิเสธ” ความเป็นไปได้

13 กันยายน 2565 ทักษิณกล่าวในรายการของกลุ่มแคร์อีกเช่นเคยว่า “ไม่มีใครรู้จักคุณหญิงพจมานดีเท่าผม ยืนยันว่าคุณหญิงไม่ชอบการเมือง ตอนผมจะลงเล่นการเมืองใหม่ ๆ คุณหญิงรู้สึกอึดอัดและไม่สนับสนุน แต่เมื่อลูกสาวเข้ามาทำหน้าที่ จึงไปให้กำลังใจลูกสาว โดยไม่มีนัยยะอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะเป็นธรรมชาติของแม่ที่ไปให้กำลังใจลูก และเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและให้กำลังใจกันแบบนี้มาตลอด”

“สำหรับผมเอง หากจะกลับบ้านไม่มีหมากอะไรหลายชั้น ไม่ต้องคิดว่าผมจะให้รัฐบาลเพื่อไทยเสนอนิรโทษกรรม ไม่มีแน่นอน มีหมากชั้นเดียวตื้น ๆ คือกลับ หรือไม่กลับ ดังนั้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายอย่าคิดเยอะ”

ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ว่ากันว่าทักษิณ และผู้มีอำนาจ มีการเปิดโต๊ะเจรจาขึ้นหลายครั้ง

ตัวอย่างเช่น 26 ตุลาคม 2549 คุณหญิงพจมาน และนายบรรพจน์ ดามาพงศ์ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ผ่านการประสานงาน พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ประมาณ 15 นาที ก่อนจะกลับออกมา ว่ากันว่า ครั้งนั้นเป็นการ “เจรจา” ครั้งที่ 1 ของ “ทักษิณ” กับฝ่ายอำมาตย์

พล.อ.เปรมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในวันรุ่งขึ้นว่า “ผมรู้ว่าคุณจะถามเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องถาม ตามที่ พล.อ.อู้ด พูดไปเมื่อวานมันมีอยู่เท่านั้น ไม่มีอะไรมาก”

ต่อมาข้อเสนอเจรจาไม่ได้รับการตอบสนอง “ทักษิณ” จึงระบุผ่านเวทีการชุมนุมเสื้อแดงว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ที่เขามักพูดถึงหลายครั้ง ก็คือ พล.อ.เปรม

การเมืองเปลี่ยนฉากมาสู่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่ามกลางการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ 2 ครั้ง 2 หน ในเดือนเมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง นำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ (ประธาน นปช. เวลานั้น) เจรจาทางลับกับแกนนำในรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลายรอบ แต่ดีลก็ล่ม เพราะมีวาระทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้อง สุดท้ายจบลงด้วยการนองเลือด

ทักษิณส่งน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ใช้เวลา 49 วัน ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 28 และเป็นนายกฯ หญิงคนแรก ในนามรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีความพยายามเดินหน้าการ “ปรองดอง-นิรโทษกรรม” ผ่านการออกกฎหมาย 2 ครั้ง

ครั้งแรก พ.ร.บ.ปรองดอง มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ผันตัวมาเป็น “นักการเมือง” หัวหน้าพรรคมาตุภูมินำเสนอกฎหมายดังกล่าว แต่ก็กลายเป็นวาระค้างในสภา เพราะโดนต่อต้านอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงกระแสคัดค้านนอกสภา ต่อมามีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งครั้งแรกเป็นแนวคิดนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุม ไม่รวม “แกนนำและผู้สั่งการ”

ทว่า บรรดาลูกหาบในพรรคเพื่อไทย ต่างแย่งกันออกหน้า ชิงเสนอทางเลือกนิรโทษกรรมให้กับทักษิณ ท้ายที่สุด “ทักษิณ” เลือกใช้แผน “นิรโทษกรรมสุดซอย” กลายเป็นการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สุดนำมาสู่เหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยึดอำนาจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยละม่อมในสโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต

8 ปีเศษ นับจากวันยึดอำนาจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อ่อนกำลัง แม้ยังแข็งแกร่งในเชิงการเมือง แต่อ่อนด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่ยากแค้นเพราะพิษเศรษฐกิจ กระแสเรียกหาความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลยิ่งสูง

19 กันยา 2549 ผ่านมา 16 ปี ทักษิณผู้ประทับตรา “ประชาธิปไตยกินได้” จึงยังไม่ยอมแพ้ ยังมีความหวังกลับประเทศมาเลี้ยงหลาน หวังคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง