ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง กฎหมายเลือกตั้ง หาร 100 ขัด รธน.

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง ส.ส.พรรคเล็ก-ส.ว. ปมกฎหมายเลือกตั้ง หาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ

วันที่ 21 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติรับคำร้องกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 105 คน เข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติเอกฉันท์รับไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งผู้ร้องทราบ พร้อมทั้งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ให้ผู้ร้องและประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนด และจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีมติเอกฉันท์รับคำร้อง กรณีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 77 คน เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ แจ้งให้ผู้ร้องทราบ พร้อมทั้งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ให้ผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือ พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีประเด็นถกเถียงในรัฐสภาเกี่ยวกับ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 หรือ 100 โดยที่ร่างเดิมที่ผ่านการรับหลักการวาระที่ 1 ได้เห็นชอบสูตรหาร 100 ซึ่งการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการก็ยืนยันใช้สูตรหาร 100 เช่นกัน แต่ปรากฏว่า ในการพิจารณาวาระที่ 2 เป็นรายมาตรา มีการส่งสัญญาณจากทำเนียบรัฐบาลว่า ให้เปลี่ยนไปใช้สูตรหาร 500 ทำให้การลงมติในวาระที่ 2 เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจึงโหวตเห็นชอบกับสูตรหาร 500

กระทั่งพอมาถึงการลงมติในวาระที่ 3 สัญญาณจากทำเนียบรัฐบาลได้เปลี่ยนกลับไปใช้สูตรหาร 100 อีกครั้ง ทำให้ในการประชุมรัฐสภา มีการใช้วิธีทำให้องค์ประชุมรัฐสภาไม่ครบ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ทันเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ 180 วัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาไม่ทันตามกำหนด จะต้องย้อนกลับไปใช้สูตรหาร 100 ตามร่างหลักที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้รับการเห็นชอบในวาระที่ 1 ต่อมา ส.ส.ที่ส่วนใหญ่เป็นพรรคขนาดกลาง พรรคเล็ก ที่เห็นด้วยกับสูตรหาร 500 และ ส.ว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่างสูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันเป็นที่มาของการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว