“วิษณุ” ชี้ดัชนีคว่ำเลือกตั้ง มิติปริศนา “ความมั่นคง” สถานะเสี่ยง กกต.

สัมภาษณ์

 

ปมยืดระยะเวลาการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …ออกไปอีกอย่างน้อย 90 วัน หรือ 120 วัน สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงโรดแมปการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศคำมั่นสัญญาไว้

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล-คสช. เนติบริกร หลายรัฐบาล-นายกฯ ใช้โอกาสตีความแง่มุมกฎหมาย-ทางออกของรัฐบาล-คสช.บนเวที “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ในหัวข้อ “กฎหมายหลายรส กับอนาคตประเทศไทย” ตอบคำถาม-ทุกคำตอบของโรดแมปเลือกตั้งรอบใหม่

3 สูตรยืดเวลาใช้ กม.ลูก

กฎหมายทุกฉบับในมาตรา 2 จะเขียนกำหนดการตรากฎหมายฉบับนั้นใช้บังคับเมื่อใด เป็นสูตรสำเร็จ ซึ่งมาตรา 2 สามารถแยกออกเป็น 3 สูตร ได้แก่ สูตรที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ สูตรที่ 2 ประกาศวันนี้และให้มีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้เตรียมตัว และสูตรที่ 3 ประกาศวันนี้แล้วให้มีผลบังคับใช้ในอีก 30 วัน 60 วัน 90 วัน หรืออีก 6 เดือน อีก 1 ปี อีก 2 ปีก็เคยมี เพื่อทิ้งเวลาให้ออกกฎหมายลำดับรอง

สำหรับร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.ในมาตรา 2 ขณะนี้สามารถออกมาได้ 3 สูตร คือ 1.ใช้บังคับในวันถัดไป  2.ใช้บังคับอีก 90 วัน และ 3. ใช้บังคับอีก 120 วัน แต่ใครจะมาเหนือเมฆขอยืดเวลาออกไปอีก 2 ปีไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในคำแปรญัตตินี้ ก่อนจะต้องโหวตในสภาเพื่อให้ได้ข้อยุติไม่ว่าสภาจะโหวตออกมาเป็นสูตรไหนก็ตาม ต้องกลับไปถามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ในทุกประเด็นที่ขอแก้ไข เช่น เรื่องมหรสพ

ซึ่งถ้ามีข้อสังเกตหรือไม่แน่ใจ ให้ตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ กรธ. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งสามารถแก้ไขใหม่ได้ และนำกลับมายังสภาอีกหน เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าจะจบอย่างไร

กางปฏิทินนิติบัญญัติ”61

ผมจะไม่ขีดเส้นใต้ แต่ผมจะเล่าว่า หลักว่าอย่างไร กฎหมายว่าอย่างไร แล้วไปคิด นับนิ้วกันเอง ว่าจะออกมาเป็นกี่วัน สูตรมีเท่านี้ กฎหมายว่าอย่างนี้ ไม่มีใครที่จะพูดผิดไปจากนี้

ซีเนริโอของกฎหมายเลือกตั้ง เมื่อเข้าสภาแล้ว สภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือน หรือเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมและมีการทักท้วงในชั้นกรรมาธิการ สนช. เช่น เรื่องมหรสพ เรื่องการตัดสิทธิข้าราชการไม่ไปเลือกตั้ง เรื่องระยะเวลาในการบังคับใช้ ทำให้ต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย มาจาก กรธ. สนช. และกกต. ซึ่งใช้เวลา 1 เดือน หรือเดือนกุมภาพันธ์ 61 ปลายเดือนกุมภาพันธ์ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย คาดว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในเดือนมีนาคม ซึ่งทรงมีพระราชอำนาจพิจารณา 90 วัน นับตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน 61

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศในเดือนมิถุนายน แต่ยังไม่มีผลใช้บังคับได้ ถ้า สนช.กำหนดให้มีผลบังคับใช้บวกอีก 90 วัน หรือ 120 วัน

ช้าสุดได้เลือกตั้ง มี.ค. 62

กรณีบวกไปอีก 90 วัน หรือตรงกับเดือนกันยายน 61 จะมีผลใช้บังคับ จากนั้นให้นับ 1 เพื่อไปสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ 62 ช้ากว่านี้ไม่มีใครทำได้ กรณีบวกไปอีก 120 วัน ก็ให้บวกไปอีก 1 เดือน หรือตรงกับเดือนมีนาคม 62 หรือเร็วกว่านั้นได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 150 วัน ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองว่ามีความพร้อมหรือไม่ และผมเชื่อว่าพร้อมหรือไม่พร้อมวันนี้ไม่มีใครพูดได้ ใครมาพูดผมก็ไม่เชื่อ เพราะยังไม่เคยประชุมใหญ่ของพรรค กำหนดข้อบังคับพรรค เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค ไม่ได้นับสมาชิก เงินค่าธรรมเนียม ค่ามัดจำพรรค ยังไม่มีใครทำกันเลยต้องเดินทางไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งในเดือนมิถุนายน 61 จะรู้แล้วว่า เลือกตั้งเมื่อไหร่ หาเสียงเมื่อไหร่ และการที่จะกำหนดวันเลือกตั้งได้ก็ต้องรู้ว่าคุณพร้อม ผมพร้อม พรรคการเมืองพร้อมไหม กกต.พร้อมไหม ถ้าพร้อมก็จบ

กกต.ปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง

แต่ถ้าวันนั้น กกต.ก็ยังไม่มี คำตอบก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถามว่าทุกพรรคพร้อมหรือไม่ที่จะให้ กกต.เก่าจัดการเลือกตั้ง แต่ถ้าระหว่างหาเสียงกันอยู่เกิด กกต.ใหม่มาตูม ระเบียบถูกเปลี่ยนใหม่ ช่วยไม่ได้นะ เพราะถ้าเกิดมีการเกิดใบแดง ใบเหลือง กกต.ใหม่ หรือ กกต.เก่าจะเป็นคนแจก ไม่รู้ด้วยนะ

ทั้งหมดมัดรวมกันอยู่ในเดือนมิถุนายน 61 เขาเขียนว่าให้นับเอาวันที่ประกาศเป็นหลัก ว่าตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร ถ้าจะคาดคั้นว่า วันไหน เดือนไหน ตอบไม่ถูก

มิถุนายนกำหนดโรดแมปประเทศ

เนื่องจากคำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ข้อที่ 8 กำหนดไว้ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้ง คสช.ว่า บัดนี้กฎหมายประกาศใช้แล้ว ให้เชิญ กกต. กรธ. และพรรคการเมืองมาประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดวันเพื่อประกาศวันเลือกตั้งให้คนไทยรู้ทั้งประเทศ ตรงนั้นจึงเป็นการกำหนดร่วมกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ หาเสียงเมื่อไหร่ เนื่องจากปกติ กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง แต่เมื่อมีปัญหาที่พิสดาร ไม่เหมือนกับที่เคยเป็นมา แทนที่ กกต.จะเป็นผู้กำหนดก็ให้มาฟังพรรคการเมืองหน่อย ฟังรัฐบาลหน่อย ฟัง กรธ.หน่อย เพื่อมาตกลงร่วมกัน

พรรคการเมืองพรรคเก่า พรรคใหม่ ได้เวลาเท่า ๆ กัน ไม่มีใครได้เวลาเกินกว่าใครสักชั่วโมงเดียว ความเดือดร้อนของพรรคการเมืองขณะนี้คือการปลดล็อก คลายล็อก มากกว่า เพราะเมื่อมีคำสั่งคสช. 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 3/2557 กับฉบับที่ 12/2557 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ไม่ได้ ห้ามร่างข้อบังคับใหม่ ห้ามเลือกหัวหน้าใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคอยากทำทั้งนั้น จึงเป็นล็อกที่มีอยู่ ไม่ได้ปลด

เป็นที่มาของคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 เพื่อให้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 61 ให้คนที่จะตั้งพรรคใหม่ดำเนินการได้ก่อน และวันที่ 1 เมษายน 61 ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่สามารถดำเนินการได้เรื่องอะไรบ้าง และเมื่อกฎหมายเลือกตั้งประกาศใช้เมื่อไหร่ คำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ในข้อ 8 กำหนดให้ คสช.เชิญพรรคการเมืองทุกพรรค กกต. กรธ. และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาคุยและวางโรดแมปร่วมกันว่า จะกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นวาระสำคัญของชาติที่จะกำหนดโรดแมปของประเทศอย่างชัดเจนที่สุด ในวันที่ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ เป็นโรดแมปสุดท้ายของประเทศ เป็นโรดแมปที่ชัดเจนที่สุด ว่าพร้อมจะเลือกตั้งเมื่อไร กกต.พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งเมื่อไหร่

แต่คำประกาศ 53/2560 มีมติเดียวคือความมั่นคงที่ คสช.ให้ความสำคัญอย่างหนักแน่น และจะเป็นดัชนีในการชี้โรดแมปการเลือกตั้ง ซึ่งดัชนีความมั่นคงแม้แต่คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีใครอธิบายได้ มีแต่ คสช.เท่านั้นที่อภิปรายในที่ลับว่าความหมายที่แท้จริงครอบคลุมปัจจัยอะไรบ้าง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรดแมป

โรดแมปเลื่อนอย่างมาก 2 เดือน

ผมไม่เคยคิดว่าการเลือกตั้งจะยืดไป 1 ปี หรือ 2 ปี เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ยืด 1 เดือน 2 เดือนเป็นไปได้ ถึงจะเลื่อนการบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน ก็ไม่กระทบต่อการเลือกตั้งยาวนานมากนัก ขอให้นับนิ้วหน่อย เพราะความจริงก็ควรจะยื่นออกไปเพียง 2 เดือน

ปัจจัยเสี่ยงล้มกระดานใหม่

ถ้าถามว่า มีปัจจัยอะไรที่ควบคุมไม่ได้จนทำให้โรดแมปต้องเลื่อนออกไป ก็ต้องตอบว่า มี แต่เป็นเรื่องพูดได้ ถึงแม้จะไม่ลึกลับซับซ้อนอะไร แต่ถ้าพูดก็เหมือนกับการชี้นำ เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นจริง จึงไม่อยากพูด เพราะถ้าพูดไปแล้ว คนที่ไม่คิดจะทำก็จะทำ จึงไม่ขอพูดเช่น สนช.โหวตคว่ำร่างกฎหมายเลือกตั้งในขั้นสุดท้ายและต้องร่างใหม่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ซึ่งในกระบวนการนิติบัญญัติมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่ไม่ควรจะเกิดขึ้น สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตกลงกันได้ พบกันคนละครึ่งทาง

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์