ดร.สมเกียรติ Remake ประเทศ พรรคไหนทำได้ มีสิทธิชนะเลือกตั้ง

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

หลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาดโลก ยาวนานกว่า 3 ปีกว่าจะคลี่คลาย

ยังซ้ำเติมด้วยพิษภัยสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลสะเทือนไปทั่วทั้งโลก

เกิดภาวะวิกฤตน้ำมันแพง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย เกือบทุกประเทศหนีไม่พ้น และไทยคือหนึ่งในนั้น ตอกย้ำด้วยภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ชาติมหาอำนาจแบ่งขั้วข้างอำนาจชัดเจน จีน-สหรัฐอเมริกา

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงาน The Great Remake เศรษฐกิจไทย เสนอทางสู้ ทางรอดของประเทศไทย ชง 4 เรื่องที่ต้อง Remake ไปยังรัฐบาล-พรรคการเมือง

ดร.สมเกียรติ หมายเหตุตัวโตว่า ถ้าพรรคการเมืองนำ 4 เรื่องดังต่อไปนี้ไปทำนโยบายหาเสียง มีสิทธิชนะเลือกตั้ง

ชี้จุดอ่อนรัฐ-ประเทศไทย

ก่อนเข้าเรื่อง Remake ประเทศไทย “ดร.สมเกียรติ” ฉายภาพว่า รัฐบาลไทย ทำหน้าที่ขั้นต่ำ คือรักษาเศรษฐกิจมหภาคให้มีเสถียรภาพได้ดีพอสมควร หลังจากเกิดวิกฤต 2540 เกิดการปฏิรูปธนาคารแห่งประเทศไทย มีความอิสระมากขึ้น มีวินัยการเงิน การคลัง มากยิ่งขึ้น แม้ยังมีปัญหาหลายจุด แต่เราพ้นจากประเทศที่บริหารเศรษฐกิจมหภาคแย่ ๆ ไปได้แล้ว คะแนนนี้ดีเสมอมา 90 เต็ม 100

เราสามารถจัดสรรบริการสุขภาพเข้าถึงประชาชนได้อย่างดี ที่สำคัญคือ มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก เราสามารถลดความยากจนได้ดี กระทั่งมีเหตุโควิด-19 ทำให้ความยากจนกลับมา

นี่คือหน้าที่ขั้นต่ำที่รัฐไทยมีขีดความสามารถและทำได้ดีพอสมควร แต่มีส่วนที่เริ่มเป็นห่วงคือ ทำอะไรที่ยากขึ้นมากกว่าเศรษฐกิจมหภาค

คือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ในอนาคต ถ้ากฎระเบียบในประเทศไทยไม่ออกมาสอดคล้องจะยากมากที่ธุรกิจจะปรับตัว และจะเป็นจุดอ่อนสำคัญ

และรัฐไทยยังมีจุดอ่อนสำคัญ ที่ไม่สามารถรักษาการแข่งขันให้เกิดการแข่งขัน ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค เป็นธรรม ระหว่างธุรกิจใหญ่ ธุรกิจเล็ก พูดตรงไปตรงมาคือ ทุนขนาดใหญ่เอาเปรียบทุนขนาดเล็ก กีดกันการแข่งขัน ผูกขาด

รัฐไทยทำได้ดีในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ เราเป็นรองสิงคโปร์ที่มีระบบขนส่งมวลชนดีเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ เรามีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ขณะที่เวียดนามรถไฟใต้ดินยังไม่เสร็จ เรามีแต้มต่อพอสมควร

“จุดอ่อนของเราอยู่ที่ทักษะ กระจายรายได้ ถ้าถามว่าเราจะ Remake Thailand เราก็ต้อง build on foundation ที่เรามี คือเศรษฐกิจมหภาค แล้วลงไปเรื่องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ป้องกันการผูกขาด ฝึกทักษะของคน กระจายรายได้ ซึ่งจะลดความเหลื่อมล้ำได้”

และทำหน้าที่ขั้นสูงคือ พัฒนาอุตสาหกรรมและกระจายความมั่งคั่ง โดยเรื่องกระจายรายได้ทำได้ง่ายกว่าการกระจายความมั่งคั่ง เพราะความมั่งคั่งสะสมระหว่างชั่วคน ถ้าจะแก้ต้องแก้ด้วยภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ซึ่งแม้ออกกฎหมายมาแล้ว แต่การจัดเก็บแทบไม่มีผลอะไรสำคัญ

แต่ถ้าเป็นเรื่องกระจายรายได้ สามารถใช้ภาษีเงินได้ มาตรการทั่วไป ขอให้ภาษีก้าวหน้านิดหน่อยก็ช่วยกระจายรายได้ได้

ชง 4 ข้อ Remake ประเทศ

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า การที่ประเทศจะโตได้ ไม่ใช่โตจาก input คือใส่ของเข้าไปเยอะ ๆ แต่ต้องโตจากผลิตภาพ ถ้าประเทศเปรียบเสมือนโรงงาน ก็จะมีองค์ประกอบสำคัญคือ มีการลงทุน มีการใช้แรงงาน มีเรื่องนวัตกรรมทำของใหม่ และทำให้ธุรกิจง่ายขึ้น

ดังนั้น มี 4 เรื่องที่จะกำหนด Productivity ของประเทศ เราต้องมาลงเรื่องของทุน แรงงาน นวัตกรรม และเรื่องของรัฐ ในวาระที่ใกล้กับการเลือกตั้ง โดยเลือกประเด็นที่สามารถทำได้ในทางการเมืองเป็น 2 เวอร์ชั่น

เวอร์ชั่นเข้มหน่อย ถ้ามีพรรคการเมืองดุ ๆ กล้า ๆ ห้าว ๆ แบบพรรคก้าวไกล ซึ่งเชื่อว่าจะยังไม่ได้เป็นรัฐบาลในเร็ววันนี้ คิดว่ายังเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกพักใหญ่ ๆ ด้วยความที่ก้าวไกลไปเร็วจนภาคสังคมหลายส่วนยังตามไม่ทัน

จึงเสนออีกเวอร์ชั่นที่อ่อนลงมา ที่ทำได้ง่ายกว่าในทางการเมือง ถ้าพรรคการเมืองสนใจเอาไปทำนโยบาย นอกจากนำไปทำให้เกิด Productivity ของประเทศแล้ว ยังได้คะแนนเสียงด้วย

ฟื้นโครงการช่วย SMEs

เรื่องแรก สร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล ถ้าจะลุยกับทุนใหญ่ก็ต้องลุยโดยป้องกันการผูกขาด ก็ต้องยกให้พรรคก้าวไกล เป็นพรรคเดียวที่ต่อต้านการควบรวมทรูและดีแทค พรรคเพื่อไทยมาทีหลัง เมื่อควบรวมแล้วค่อยออกมาพูด ส่วนพรรคอื่นเงียบหมดเลย นี่คือบรรยากาศการเมืองของไทย ถ้าจะลุยกับทุนใหญ่จะได้สตางค์จากทุนใหญ่หรือเปล่า

ดังนั้น เน้นท่าง่ายและได้คะแนนด้วยก็คือ สร้างความเข้มแข็ง SMEs โดยที่ยังไม่ต้องไปทุบทุนใหญ่ เพราะ SMEs ทุกวันนี้ ถ้าเอาภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ มีความสูญเปล่ามากมายสารพัด ผลิตเกินความต้องการ เพราะวางแผนไม่ดี ออกแบบแปลนโรงงานไม่ดี รอคอยนาน สต๊อกบวม ขั้นตอนเยอะ ของเสียซ่อมบ่อย คนว่างงาน เพราะจัดวางงานกับคนไม่ตรงกัน

จะดีไหมถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการหาพี่เลี้ยงเข้าไปช่วย SMEs ซึ่งเคยมีโครงการเอาผู้เชี่ยวชาญเดินเข้าไปในโรงงาน เดินเข้าไปในสถานประกอบการ วินิจฉัยว่ามีจุดอ่อนเรื่องอะไร เช่น วางแผนลึก สต๊อกไม่ดี ทำการตลาดไม่เป็น ไม่มีระบบบัญชีที่ดีพอ แล้วให้หมอเฉพาะทาง เช่น คนที่เก่งด้านบัญชี ไอที การตลาด การทำออโตเมชั่น เข้ามาช่วย

นี่คือโครงการที่เคยดำเนินการไปแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ชื่อโครงการ “ชุบชีวิตธุรกิจไทย” เป็นโครงการที่ “เกือบดี” เพราะดำเนินการไปแล้ว สุดท้ายไม่ได้ทำต่อมันจึงไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม

ดังนั้น สามารถเอากลับมาทำในเวอร์ชั่นที่เข้มข้นได้ และจะได้คะแนนเสียง และถ้าต่อยอดเป็นการทำแบรนด์ทำมาร์เก็ตติ้งเก่ง ๆ SMEs ไทยก็จะลืมตาอ้าปากได้

เปิดคอร์ส รีสกิล IT

2.เรื่องแรงงาน ถ้าจะเล่นท่ายากต้องปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ยกเครื่องกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศหลักสูตรใหม่ ซึ่งจะเห็นแล้วว่าทำไม่ได้เลยในรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นนักการเมืองที่ดูแลด้านนี้เองที่ออกมาเบรกว่าประเทศไทยอย่าไปทำหลักสูตรใหม่ เพราะสำนักพิมพ์จะกระทบกระเทือน ผมฟังแล้วกระทบกระเทือนจิตใจอย่างยิ่ง ว่าทำไมผลประโยชน์สำนักพิมพ์มากกว่าผลประโยชน์ของนักเรียน แต่ก็เป็นที่รับทราบว่าการปฏิรูปในระบบราชการใหญ่ ๆ ทำไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การฝึกทักษะให้คนมีงานจำนวนมากที่สร้างรายได้ให้คนหมู่มากได้ ฝึกไม่ยากเกินไป ตลาดมีความต้องการมหาศาล เช่น โครงการบิ๊กดาต้าตลาดแรงงานของทีดีอาร์ไอ ที่เราใช้ AI ไปกวาดประกาศหางานจากเว็บไซต์หางานในเมืองไทย 15 แห่ง แล้ววิเคราะห์ทุกไตรมาส

เราพบอยู่เสมอว่า มีงานกลุ่มหนึ่งที่อยากได้คนงานอยู่เยอะ คืองานด้านไอที เบสิกที่สุดก็คือการเขียนโปรแกรม ซึ่งอยากไปดูตัวอย่างของสิงคโปร์ คนขับแท็กซี่สิงคโปร์อายุ 53 ปี เปลี่ยนอาชีพเป็น Full Stack Developer ได้ มีวิธีเทรน ไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัย 4 ปี แต่เป็นการเข้าคอร์ส 6 เดือน 9 เดือนแล้วสามารถทำอะไรได้เพิ่มขึ้นได้ ตลาดในเมืองไทยต้องการเฉพาะหน้า ถ้าตลาดเมืองไทยล้นแล้ว ก็ยังมีตลาดโลกอีกมากมายมหาศาล

ถ้าพรรคการเมืองไหนอยากได้คะแนนเสียง ไม่ต้องปฏิรูปการศึกษาแบบ scale ใหญ่ที่ไปกระทบกระทรวงศึกษาฯ ผู้ประกอบการ ถ้าฝึกคนงานดี ๆ ธุรกิจไทยก็จะชอบ คนงานไทยก็จะได้ประโยชน์ จะสร้างคนชั้นกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ

3.นวัตกรรมมีหลายอย่าง มีนวัตกรรมแบบไฮเทคซึ่งประเทศไทยควรต้องมีสตาร์ตอัพ ต้องมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง เป็นบริษัทตามโลกให้ทัน คือเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอนนะครับ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นที่น่าจะได้คะแนนเสียงคือ เป็นนวัตกรรมที่แก้จนให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะนวัตกรรมที่แก้ปัญหาเรื่องดินเค็ม ที่ในภาคอีสาน 16 จังหวัดมีดินเค็มอยู่ 17 ล้านไร่ เรื่องนี้มีกระบวนการเทสต์มาแล้วที่ทำได้

ปฏิรูปภาครัฐ ลดใบอนุญาต

4.ปฏิรูปภาครัฐ ถ้าในเวอร์ชั่นท่ายากจะต้องเจอกับการต่อต้านจากระบบราชการเยอะ เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงปฏิรูปให้สำเร็จจึงต้องเอาประชาชนมาเป็นพวก คือปฏิรูปภาครัฐเพื่อทำให้ประชาชนทำมาหากินได้ง่ายขึ้นจึงจะมีสิทธิชนะเลือกตั้งได้

เช่น ปรับกฎระเบียบให้ประชาชนทำมาหากินได้ง่ายขึ้น ทำให้คนต่างด้าวมาลงทุนประเทศไทยลงทุนได้ง่ายขึ้น ถ้าดูผลการสำรวจจะพบโจทย์เดิม ๆ ที่ติดอยู่ เช่น เจโทรจะสำรวจธุรกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยปีละ 2 ครั้งต่อเนื่องมา พบผลเดิม ๆ ตลอดเวลาที่นักลงทุนญี่ปุ่นใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยากเห็นคือ พิธีศุลกากรติดแล้วติดอีกแก้ไม่ได้เสียที ติดเรื่องภาษีเงินได้

“ติดเรื่องกฎหมายธุรกิจคนต่างด้าว ซึ่งเป็นเรื่องเบสิกกว่าการขายที่ดินให้คนต่างด้าวที่ถูกเรียกว่าขายชาติมากมาย มาแก้เรื่องนี้ได้เงินเข้าประเทศ เศรษฐกิจเติบโต ไม่เสี่ยงกับการขายชาติ รวมถึงเรื่องใบอนุญาตทำงาน เรื่องวีซ่า นักลงทุนญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ชาติอื่น ๆ ต้องการทั้งสิ้น”

หรือกับธุรกิจไทยที่จะทำให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้ มีเรื่องใบอนุญาต เพราะประเทศไทยคือประเทศแห่งใบอนุญาต เช่น จะทำร้านอาหารต้องมีใบอนุญาตประมาณ 5 ใบ ถ้าจะขายสุราด้วย ทำไมไม่ทำให้มันง่ายกว่านั้น

หรือในธุรกิจโรงแรม ปัจจุบันมีความหลากหลายมากมายมหาศาล มีโรงแรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงโรงแรมแบบ airbnb โรงแรมขนาดเล็ก แบบโฮมสเตย์ แต่กฎหมายโรงแรมของไทยโบราณมาก ไม่ realistic และก็ขอใบอนุญาตมากมายมหาศาล การทำโรงแรมเล็ก ๆ สำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยทำไมยากเย็นเหลือเกิน จนมีธุรกิจโรงแรมที่ผิดกฎหมายอยู่มากมาย

“พรรคการเมืองไหนเอาเรื่องแบบนี้ไปหาเสียง ผมเชื่อว่าได้คะแนนเสียง เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้จริง”