10 ธันวาคมวันรัฐธรรมนูญ รัฐสภาเกือบ 4 ปี แก้รัฐธรรมนูญ 26 ฉบับ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

10 ธันวาคมวันรัฐธรรมนูญ รัฐสภาเกือบ 4 ปี แก้รัฐธรรมนูญ 26 ฉบับ ผ่านแค่ 1 ร่าง ล็อกสำคัญคือ ส.ว. 250 เสียง

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 เป็นวันรัฐธรรมนูญ เพจ ilaw นำเสนอข้อมูลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วง 90 กว่าปีที่ผ่าน มีข้อความน่าสนใจ ในช่วงเกือบ 4 ปี ของสมาชิกรัฐสภาปัจจุบัน ที่มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. 250 เสียง ที่ถูกแต่งตั้ง จาก คสช. มีสิทธิในการโหวตนายกรัฐมนตรี และมีสิทธิในการลงมติกฎหมายต่าง ๆ ทั้งนี้เพจ ilaw ระบุว่า …

10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญไทยถูกจดจำในฐานะวันที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 2475 ประกาศใช้ อันนำมาสู่การเริ่มต้นประชาธิปไตยในไทยหรือสยาม ผ่านมากว่า 90 ปี ประชาธิปไตยไทยยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ พร้อมกับรัฐประหารอีก 13 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 2560

ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถูกร่างขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ก่อการเข้ายึดอำนาจในปี 2557 และผ่านประชามติที่มีการปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เนื้อหามากมายในรัฐธรรมนูญ 2560 กลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยยังไม่สามารถกลับเข้าสู่หนทางประชาธิปไตยได้แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว

โจทก์สำคัญหลังจากสภาที่มาจากการเลือกตั้งเข้าทำงานคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้โดยง่าย แม้ในหลายประเด็นจนได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อย่างท่วมท้นจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเงื่อนไขให้ต้องได้รับเสียง ส.ว. ที่ คสช. เลือกมาอย่างน้อยหนึ่งในสามหรือ 84 จาก 250 คน ถึงจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทำให้ข้อเสนอจำนวนมากต้องไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เพจ Ilaw ชวนดูสถิติสำคัญของศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเกือบสี่ปี ที่สภาที่มาจากการเลือกตั้งเข้าทำหน้าที่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2565 รัฐสภาร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ต้องอภิปรายลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ห้ายก รวมทั้งหมด 26 ข้อเสนอ โดยมาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และภาคประชาชนที่ร่วมกันล่ารายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง

แต่จนแล้วจนรอด ส.ว. ก็ยังทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญของ คสช. ได้อย่างแข็งขัน ปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด ผ่านได้เพียงแค่ร่างเดียวคือข้อเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งตามเนื้อหาได้เป็นดังนี้

(บางฉบับเสนอเป็น “แพ็กเกจ” มีเนื้อหาหลายประเด็น)

  • แก้ไขเพื่อเปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3 ฉบับ
  • ปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายก 6 ฉบับ
  • กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 2 ฉบับ
  • สิทธิเสรีภาพของประชาชน 5 ฉบับ
  • ระบบเลือกตั้ง 4 ฉบับ
  • รื้อมรดก คสช. 6 ฉบับ

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 14 ฉบับ ที่จะผ่านถ้าไม่มีเงื่อนไขต้องได้รับเสียง ส.ว. ถึงหนึ่งในสาม

หลักเกณฑ์ให้ต้องได้เสียง ส.ว. หนึ่งในสามหรือ 84 เสียงคือทางตันของการเมืองไทย เพราะหากไม่มีเงื่อนไขนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านมากถึง 14 ฉบับ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอสำคัญอย่างการแก้ไขเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพิ่มสิทธิพื้นฐาน กระจายอำนาจ รื้อมรดก คสช. และปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีการเสนอจากทุกภาคส่วน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ ส.ว. แต่งตั้งยอมยกมือตัดอำนาจตัวเองได้ถึงหนึ่งในสามเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยครั้งที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจาก ส.ว. คือร่างที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเสนอให้ตัดมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีและกลไกนายกคนนอกออกทั้งมาตรา ได้ไป 56 เสียงจากที่ต้องการ 84 เสียง ทำให้ต้องตกไปตามระเบียบ คสช.

หมายความว่า เพียงเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนให้ต้องใช้เสียง ส.ว. แต่งตั้งอย่างน้อย 84 คนเพื่อผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ข้อเสนอที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองไทยถึง 13 ข้อเสนอต้องถูกเก็บขึ้นชั้นไป สิ่งเดียวที่ ส.ว. ยอมให้ผ่านก็คือร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ในโลกคู่ขนานที่หลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญใช้ตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2517 เป็นต้นมาจนถึงฉบับปี 2550 ซึ่งให้ใช้เพียงเสียงกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาโดยไม่ได้มี “เงื่อนไขพิเศษ” ของ ส.ว. ทั้ง 13 ฉบับที่ตกไปก็จะพลิกกับมาผ่านทั้งหมด หรือหากไม่มี ส.ว. ร่วมโหวตเลย จะมีร่างที่ผ่านเนื่องจากได้เสียงข้างมากจาก ส.ส. มากถึง 20 ฉบับ

สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่า ส.ว. จะให้ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของประชาธิปัตย์ผ่าน แต่ก็ไม่ได้โหวตให้ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งที่มีหลักการคล้ายกันของพรรคเพื่อไทยให้ผ่านไปด้วย เหมือนว่า ส.ว. แต่งตั้งจะไม่ได้มีเนื้อหาของร่างกฎหมายอยู่ในใจเพียงอย่างเดียวเมื่อต้องตัดสินใจว่าจะยกมือให้กับร่างใด แต่ยังมองไปถึงว่า “ใคร” เป็นผู้เสนอด้วย หากเป็นฝ่ายตนเองก็คงจะพอรับได้ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามต้องไม่ยอมให้ผ่าน แม้จะมีเนื้อหาแทบไม่ต่างกันก็ตาม

ข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายก แต่ไม่เคยผ่าน ส.ว. 6 ฉบับ

อำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งพิสดารอันดับต้น ๆ ของรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ข้อเสนอการปิดสวิตช์ ส.ว. จะได้รับการเห็นด้วยจากแทบทุกกลุ่มก้อนของ ส.ส. ไม่ว่าจะสังกัดพรรคใด ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. มีทั้งหมด หกฉบับ โดยมีความแตกต่างไปในข้อเสนอ ตั้งแต่การยกเลิก ส.ว. ไปเลย ไปจนถึงข้อเสนอเดียวประเด็นเดียว ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ “ทุกกระบวนท่า” ของข้อเสนอนี้ก็ยังไม่มีครั้งใดที่ ส.ว. จะยอมยกมือตัดอำนาจตัวเองแม้แต่ครั้งเดียว

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “ฉิวเฉียด” ที่สุดคือข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ท่ามกลางกระแสกดดันทางการเมืองที่พุ่งขึ้นสูงจากการชุมนุมของนักศึกษา ในครั้งนั้น มี ส.ว. ทั้งหมด 53 คนที่ลงคะแนนเห็นชอบตัดอำนาจตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผ่านวาระแรกไปได้

หลังจากนั้นเมื่อกระแสการเมืองเริ่มเบาบางลง กลับมี ส.ว. จำนวนมากที่ “เปลี่ยนใจ” ไม่ตัดอำนาจเลือกนายกฯ ของตัวเองแล้ว ข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสองฉบับในเดือนมิถุนายน 2564 ได้คะแนนเสียงจาก ส.ว. น้อยลงมาก แม้ว่า ส.ส. จากทุกพรรคการเมืองจะร่วมกันโหวตให้อย่างท่วมท้นจนคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่เมื่อได้คะแนนเสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 เสียง ข้อเสนอเหล่านั้นจึงต้องตกไป

ดังนั้น ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 สภาแต่งตั้งก็ยังขอมีส่วนร่วมเข้ามาโหวตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยได้

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีประชาชนเป็นผู้เสนอ และถูกปัดตกทั้งหมด ทั้ง 4 ฉบับ

นอกจากช่องทางการการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส. แล้ว ประชาชนยังสามารถรวบรวมรายชื่อกันเองเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ด้วย โดยต้องใช้เสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนล่ารายชื่อเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญเองสี่ครั้ง แต่ก็ได้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเลยแม้แต่ครั้งเดียว พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวที่ไม่เคยโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนเลย

  • รื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (ไอลอว์) – เสนอเมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563
  • รื้อระบอบประยุทธ์ (Resolution) – เสนอเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564
  • ปิดสวิตช์ ส.ว. ประเด็นเดียว (No272) – เสนอเมื่อวันที่ 6-7 กันยายน 2565
  • ปลดล็อกท้องถิ่น (คณะก้าวหน้า) – เสนอเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 7 ธันวาคม 2565

2 ส.ว. ที่ไม่เคยรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้แต่ฉบับเดียว

ในบรรดา ส.ว. 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. มีสองคนที่ยังทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างแข็งขัน ไม่เคยยกมือให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แก่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และ ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี

สำหรับ พล.อ.ธวัชชัย เป็นอดีตแม่ทัพภาคสอง และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 12 ของประยุทธ์อีกด้วย ธวัชชัยเคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคชาติพัฒนาในการเลือกตั้ง 2557 ซึ่งสุดท้ายต้องกลายเป็นโมฆะ หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะเสื่อมศรัทธาในการเลือกตั้ง หลังจากการรัฐประหารได้เข้ารับตำแหน่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ธวัชชัยเป็นคนที่เคยลุกขึ้นอภิปรายเห็นค้านกับข้อเรียกร้องสามข้อของผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ โดยกล่าวว่าเด็กควรฟังผู้ใหญ่

ส่วน พล.อ.วงศ์สยาม ก็เป็นผู้ที่เคยลั่นวาจาไว้ในคราวแก้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2564 ว่าให้ ส.ส. ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับถอนร่างไปเสีย เพราะไม่มีประโยชน์ “หากไม่มีการถอนจะได้เห็นว่าวุฒิสภาลงมติอย่างไร”