ผอ.สำนักงบฯ เปิดเกณฑ์ใช้เงิน รับยุบสภา มีรัฐบาลใหม่ช้าเกิน 6 เดือน

เฉลิมพล เพ็ญสูตร
เฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (ภาพจาก มติชน)

ผอ.สำนักงบประมาณ เผยหลักเกณฑ์การใช้งบฯปี 2567 กรณียุบสภา เปลี่ยนรัฐบาล ใช้งบฯล่าช้ากว่ากำหนด 6 เดือน

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยถึงปฏิทินกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ว่าในวันที่ 4 ม.ค. 2566 จะนำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.35 ล้านล้านบาท เพื่อหารือกับ 4 หน่วยงาน

ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ เนื่องจากงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3.185 ล้านล้านบาท เป็น 3.35 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นแสนกว่าล้านบาท

นายเฉลิมพลกล่าวถึงเหตุผลการจัดทำงบประมาณขาดดุลการคลังลดลงจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 695,000 ล้านบาท (ร้อยละ 3.70 ต่อจีดีพี) เหลือจำนวน 593,000 ล้านบาท (ร้อยละ 3.00 ต่อจีดีพี) ในปีงบประมาณ 2567 ว่า เจตนาของกระทรวงการคลังต้องการให้ขาดดุลต่ำกว่าร้อยละ 3 เพื่อนำไปสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในอนาคต

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลลดลงเรื่อย ๆ จะกระทบงบลงทุนหรือไม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่าไม่กระทบ เพราะงบประมาณมากขึ้น จากการจัดเก็บรายได้มากขึ้น กู้น้อยลง แต่วงเงินงบประมาณได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องไปดูตัวเลขภาระสำหรับรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนต้องเพิ่มขึ้น บำเหน็จบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล หนี้ชดใช้เงินคงคลังต้องจ่ายเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ต้องจัดทำงบประมาณในส่วนของงบลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

เมื่อถามว่า กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566 หรือยุบสภาก่อนจะกระทบต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 หรือไม่ นายเฉลิมพลกล่าวว่า ถึงเวลานั้นเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ จะทำอย่างไร แต่สำนักงบประมาณไม่มีปัญหา กรณีเดินตามกระบวนการตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณ

สิ่งที่ได้และไม่มีการเปลี่ยนคือ รายจ่ายประจำที่เป็นไปตามกฎหมาย ภาระโครงการผูกพันต่อเนื่อง จะได้ตัวเลขที่นิ่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือจะเป็นยุทธศาสตร์ อาจจะต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ สำนักงบประมาณก็เตรียมการรองรับอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา

“เพียงแต่ว่าการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 อาจจะช้ากว่ากำหนด แต่เราก็สามารถใช้จ่ายงบประมาณปี 2566 ร้อยละ 50 หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทไปพลางก่อน ซึ่งทำเตรียมไว้แล้ว และสามารถใช้ต่อไปได้อีกประมาณ 6 เดือน เพื่อรองบประมาณปี 2567 ประกาศใช้” นายเฉลิมพลกล่าว

เมื่อถามว่า กรณีเลวร้ายที่สุดยังไม่มีรัฐบาลใหม่เกินกว่า 6 เดือน นายเฉลิมพลกล่าวว่า สามารถออกระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณไปพลางก่อนเพิ่มเติม

“งบลงทุนอาจจะมีได้บางส่วนที่เป็นโครงการต่อเนื่องและเป็นรายการที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ เช่น รายการครุภัณฑ์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท การจัดซื้อจัดจ้างต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะไม่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ เราดูอยู่ว่าสามารถให้หน่วยงานไปพิจารณาว่า เอาเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ถ้าไม่ทำจะเสียหาย

และเป็นภารกิจต่อเนื่องตามกฎหมายของหน่วยงานจำเป็นต้องทำ และต้องให้ในระดับที่อยู่ในกรอบที่สามารถขับเคลื่อนได้ กำลังดูอยู่ ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะในอดีตทำไม่ได้ ไม่ได้ปล่อย ผมจึงเห็นว่า ระยะเวลาของปีงบประมาณอาจจะเลยไปนานพอสมควร อาจจะต้องดูตรงนี้เพิ่มเติมขึ้นมา แต่ต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ ถ้าไม่จำเป็นจะเสียหาย” นายเฉลิมพลกล่าว

นายเฉลิมพลกล่าวว่า โครงการใหม่ โครงการใหญ่ ๆ โครงการผูกพันไม่สามารถใช้งบประมาณได้ เพราะต้องผ่านการพิจารณาของสภา

“แต่กรมบัญชีกลางเคยออกหลักเกณฑ์ว่า ให้สามารถประกาศประกวดราคาได้ เมื่อผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการแล้ว ถ้าเอามาใช้โดยประกาศประกวดราคาและหมายเหตุไว้ว่า สามารถลงนามในสัญญาได้ต่อเมื่องบประมาณผ่านสภาและประกาศเป็นกฎหมายได้ ก็สามารถทำงานต่อเนื่องได้” นายเฉลิมพลกล่าว

นายเฉลิมพลกล่าวว่า สำนักงานอาจจะเปิดให้โครงการผูกพัน โครงการใหญ่ ๆ สามารถให้สำนักงบประมาณพิจารณาตามความเหมาะสมของราคาล่วงหน้าไปก่อน แต่ยังไม่อนุมัติจนกว่ากฎหมายงบประมาณจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันที