ปริญญา ท้าประยุทธ์ ไม่พึ่งเสียงโหวต ส.ว.เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง 2566

ปริญญา และสิริพรรณ
ภาพจาก มติชน

ไอลอร์ จับมือ เครือข่ายภาคประชาชน จัดเสวนา “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” ปริญญา ท้า ประยุทธ์ ไม่พึ่ง 250 ส.ว. – ไม่โหวตสวนเสียงประชาชนข้างหน้า กระทุ้ง กกต.จัดการเลือกตั้งโปร่งใส เชื่อ เลือกตั้งจุดเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ สิริพรรณ ชำแหละ ระบบเลือกตั้ง 2562 ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้ ชี้ ส.ส.ปัดเศษยังอยู่ ห่วง ถ่ายโอนอำนาจไม่สันติ เชื่อ ส.ว.ลากตั้ง ไม่แตกแถว

วันที่ 11 มกราคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาชน iLaw We Watch ACTLAB และ ทะลุฟ้า ร่วมกันจัดงาน  “เข้าคูหา จับตา การเลือกตั้ง 2566 Protect Our Vote” โดยมีการจัดเสวนาวิชาการ “เข้าคูหา จับตา เลือกตั้ง 66” ซึ่งมีวิทยากรร่วมวงเสวนา ประกอบด้วย

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (WeWatch) นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw โดยมี ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ท้า ประยุทธ์ ไม่พึ่งเสียง 250 ส.ว.

ผศ.ดร.ปริญญาเริ่มต้นเสวนาว่า ระบบการเลือกตั้งการเลือกตั้งที่ต่างออกไปจากเลือกตั้งปี 2562 มี 2 เรื่อง คือ การจัดการเลือกตั้งและระบบเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง เป็นเรื่องใหญ่มากและไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย คือ ส.ว.250 คน

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมี ส.ส.เพียง 116 เสียง จาก ส.ส. 500 พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯได้อย่างไร เพราะมี ส.ว.250 เสียง เป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างออกไป แต่ในแง่ตัวผู้เล่นแตกต่างออกไป เพราะ พปรช.แยกเป็น รทสช. ก็ไม่เชิง เพราะ รทชส.ก็ประกอบด้วย ส่วนหนึ่งของ พปชร.เดิม แต่มี ส.ส.เก่าจากพรรคอื่น หรือ ตกปลาในบ่อเพื่อน เป็นเรื่องการเมือง

“ผมฟังท่านนายกฯปราศรัยบอกว่า ท่านเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปัไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเท่าเที่ยม ผมสงสัยเท่าเทียมได้ยังไง ท่านมี ส.ว.ที่ท่านเลือกไว้ ถ้าท่านเท่าเทียมจริง ถ้าท่านเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แล้วท่านปฏิวัติทำไมเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จากนี้ไปท่านประกาศได้หรือไม่ว่า ส.ว.ท่านจะไม่ยุ่งเกี่ยว ให้ประชาชนตัดสิน ถ้าประชาชนเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากท่านก็เป็นนายกฯต่อไป”

“ท่านประกาศไหมครับ ใครได้เสียงข้างมากของประชาชนก็ได้เป็นนายกฯไป ไม่ใช่เป็นนายกฯได้เพราะเสียง ส.ว.ของท่าน ถ้าท่านอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ส.ว.ต้องเคารพเสียงของประชาชน และคนที่เลือก ส.ว.ไว้ก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน”

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ปัญหาการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีมาก เหตุผล 2 ประการ เพราะบัตรเลือกตั้งใบเดียว หาร 500 ทำให้มีผู้สมัครมาก มากที่สุดเขตหนึ่งมี 44 คน เฉลี่ยน 28 คน ใน 350 เขต จากปกติเฉลี่ย 1 เขต 7-8 คน  เพราะคะแนนทุกคะแนนในเขตเลือกตั้งจะนำมาร่วมแล้วคิดเป็น ส.ส.พึงมี ทำให้เกิดการส่งผู้สมัครเป็นจำนวนมาก

โดยไม่ได้หวังชนะการเลือกตั้งแต่หวังหาคะแนนให้หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดันที่ 1 ของพรรคตัวเอง เพื่อจะได้เป็น ส.ส.

“การเลือกตั้งปี 2554 มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแข่งเขต 2,400 คน แต่การเลือกตั้งปี 2562 ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 11,128 คน หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า การจัดการเลือกตั้ง กกต.จึงผิดพลาดเยอะมาก”ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ระบบเลือกตั้งคราวนี้กลับไปเหมือนการเลือกตั้งปี 2554 แตกต่างกันแต่เพียงจำนวน ส.ส. ปี 2554 หรือ 12 ปีที่แล้ว ส.ส.เขต 375 เขต ผู้ชนะได้คะแนนมากที่สุดชนะ ตอนนี้เพิ่มเป็น 400 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่มีขั้นต่ำ 5 % เหมือบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แต่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ในปี 2554 เหลือ 100 คน ต่างกันแต่ตัวเลข ระบบเดียวกัน ดังนั้นการบริหารจัดการเลือกตั้งของ กกต.ความผิดพลาดจะน้อยละ

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ประการที่สอง ปัญหาระดับรัฐธรรมนูญในกฎหมายเลือกตั้ง หลักการตั้งแต่มี กกต.ในปี 2540 ใช้หลักการเลือกตั้งจะโปร่งใสได้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตัดออกหมด แล้วเอาผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน ซึ่งไม่เวิรก์เลย เพราะไปยก กกต.จังหวัดออก เอาภาคประชาชนทิ้งไป เอาหลักการนี้กลับมาการโกงจะหายไป

“ส่วนระบบการเลือกตั้งนี้ ดีที่สุดหรือยัง เป็นหัวข้อที่ต้องพูดกันต่อไป แต่อย่างน้อยดีกว่าระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว หาร 500 แน่ ในแง่ทำให้ผู้สมัครที่ไม่ได้หวังชนะเลือกตั้งมาลงเป็นจำนวนมาก ปัญหานี้ก็จะน้อยไป ทุกคนที่สมัครคราวนี้ คือ หวังชนะ ไม่เหมือนคราวนี้แล้วไม่หวังคะแนน แต่ส่งไปเอาคะนนมาเป็น ส.ส.พึงมี ซึ่งจะหายไป”ผศ.ดร.ปริญญากล่าว

กระทุ้ง ส.ว.ไม่ยุ่งเลือกนายกฯ

ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า ส.ว.250 คนจะครบวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 หรือ 1 ปีอีก 4 เดือน สมการการเป็นนายกรัฐมนตรียังเหมือนเดิมเมือปี 62 คือ ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงในสองสภารวมกัน (ส.ส.500 คน ส.ว.250 คน) หรือ 376 เสียง มีเสียงส.ว.250 คน ต้องการเสียง ส.ส.อีก 126 หลังการเลือกตั้ง 2 ป.จะถอยให้คนหนึ่ง ส.ว.ก็ยังเป็นกลุ่มก้อนใหญ่สุด ต้องการ 126 เสียงก็ไม่น่ายาก

รวมไทยสร้างชาติ + พลังประชารัฐ + ภูมิใจไทย + ประชาธิปัตย์  แต่เป็นปัญหา ต้องรวมให้ได้ 250 แล้วจะได้ได้อย่างไร เอาให้ปริ่มที่สุดแล้วไปดูดเอาดาบหน้า

“พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯต่อไม่ใช่ปัญหา ถ้าได้เสียง ส.ส.เกินครึ่ง แต่ เลือกตั้งจะโปร่งใสหรือเปล่า ใช้เสียง ส.ว.250 หรือเปล่า 2 เรื่องนี้ต้องไม่มี ส.ว.อย่ามายุ่ง ได้โปรดอย่ามายุ่ง ส.ว.ต้องรับปาก ต้องโหวตตามเสียงข้างมาก ส.ว.ต้องพูดออกมาเลย ต้องพูดก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งไม่ทันแล้ว ต้องทำก่อนและป้องกันการรัฐประหารไปในตัว”

“การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน แต่ 11 พฤษภาคม 2567 คือ จุดเปลี่ยนแท้จริง เพราะ ส.ว.หมดวาระ เพราะเป็นกลไกการสืบทอดอำนาจ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้เรากลับสู่ประชาธิปไตยเร็วขึ้น เมื่อ ส.ว.ไม่โหวตเลือกนายกฯ และส.ว.หมดวาระในปีหน้า เราจะแก้รัฐธรรมนูญที่ขัดขวางประชาธิปไตย เพื่อกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ เริ่มต้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ให้โปร่งใส”ผศ.ดร.ปริญญากล่าวทิ้งท้าย

ถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ

ด้าน รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ประเด็นแรก ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง 5 ครั้ง คำถามใหญ่ คือ ทำแบบนั้นทำไม ใครได้ประโยชน์ ประเทศไทยเป็นท็อปไฟฟ์ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่เรื่องดี เพราะทุกครั้งที่เปลี่ยนประชาชนต้องทำความเข้าใจใหม่

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ย้อนกลับไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 เราใช้ระบบเลือกตั้ง 1 เขต 1 พรรคสามารถส่งได้ 3 คน ระบบเลือกตั้งแบบนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในพรรคการเมือง ถูกยกเลิกไป เปลี่ยนมาใช้ระบบการเลือกตั้งคู่ขนาน ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งใช้ในการเลือกตั้ง 2 ครั้ง คือ การเลือกตั้งในปี 2544 กับ 2548 คล้ายกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 คือ มีบัตรสองใบ บัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง

บัตร ส.ส.เขต 400 เขต แตกต่างกันที่การเลือกตั้งปี 2544 กับการเลือกตั้งปี 2548 มีเกณฑ์ ส.ส.ขั้นต่ำ 5 % ซึ่งระบบนี้ กล่าวกันว่า เอื้อพรรคใหญ่ เพราะระบบเขตมีผู้ชนะได้คนเดียว ผู้เลือกก็อยากเลือกคนชนะมากกว่าคนแพ้ เพราะคนแพ้จะไม่ถูกนำมารวม สำหรับระดับประเทศ คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้น พรรคที่ติดหูอยู่แล้ว มีผลงานอยู่แล้ว หรือ มีทรัพยากรที่จะหาเสียงทั้งประเทศจึงได้เปรียบ แถมยังมีขั้นต่ำ 5 % ด้วย

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 2548 จะเหลือพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียงพรรคไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทย 3 พรรคเท่านั้น จนหลายคนบอกว่าเป็นระบบพรรคเด่นพรรคเดียว นำไปสู่การรัฐประหารปี 49 ปี และเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นปี  50 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งมี ส.ส.ทั้งสภา 480 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 100 คน เหลือ 80 คน แถมแบ่งประเทศออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด เพื่อไม่ให้ใครอ้างได้ว่าได้รับการเลือกตั้งจากคนทั้งประเทศ 16 ล้านคน 18 ล้านคน

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ก่อนการเลือกตั้งปี 54 มีการผลัดรัฐบาล จากรัฐบาลนายสมัคร เป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับเลือกในสภา มีการแก้ระบบเลือกตั้งอีกครั้งจาก ส.ส.ทั้งสภา 480 เป็น 500 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน ไม่มีขั้นต่ำ นำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อปี 54 แต่เปลี่ยนแล้ว ประชาธิปัตย์ไม่มาตามนัด แต่เป็นน.ส.ยิ่งลักษ์ที่หาเสียง 20 กว่าวันมาเป็นนายกรัฐมนตรี นำมาสู่การเลือกตั้งปี 2562

ระบบเลือกตั้งปี 62 ไม่ขอเรียกเป็นระบบเลือกตั้ง แต่เรียกว่าเป็นเทคนิกเลือกตั้ง เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกเลยใช้ระบบนี้ จากอ้างว่าเยอรมนีใช้ระบบนี้ ไปดูได้เลยว่า ไม่เหมือนกัน เพียงแต่ไปเอาไอเดียมา

“ข้อเสียที่เห็นได้จากระบบการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 หรือ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ข้อแรก เป็นเพราะเป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะเน้นตัวบุคคล และรากเหง้า ซากเดนของปัญหานี้สืบทอดมาจนปัจจุบัน ทำไมทุกวันนี้เราถึงเห็นการย้ายชพรรคอย่างไร้ยางอาย การซื้อ ส.ส. การซื้อผู้สมัคร บ้านใหญ่แตกเป็นบ้านเล็ก บ้านน้อย เพราะว่าเป็นผลพวงจากระบบการเลือกตั้งปี 62 บางพรรคได้ 5 คะแนน”

“อาจจะเป็นครอบครัวของผู้สมัคร แต่คะแนนเหล่านี้ยังมีความหมาย เพราะทุกคะแนนไม่ตกน้ำ เป็นข้ออ้างของผู้ร่างระบบเลือกตั้ง คะแนนไม่ตกน้ำดีตรงไหน เพราะระบบเลือกตั้ง คือ ระบบคัดเลือกผู้ชนะ ไม่ใช่ให้โบนัสให้กับผู้แพ้ ระบบนั้นเรียกว่า แพ้ก็ยังได้ประโยชน์อยู่ ทำให้ตัวบุคคลมีความสำคัญมาก ทำให้บ้านให้ ผู้มีอิทธิพล เจ้าพ่อ เจ้าแม่กลับมาบูมอีกครั้ง”รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ปัญหาประการที่สอง ลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองต้องไปเน้นที่ตัวบุคคล ดึงตัวผู้สมัครเข้ามา ครั้งที่แล้วแข่งขันกันเรื่องนโยบายก็จริง แต่ถ้าใช้ระบบเลือกตั้งนั้นไปเรื่อย ๆ นโยบายของพรรคจะลดลงและไปเน้นตัวบุคคลเพิ่มขึ้น ประการที่สาม เกิดการแข่งขันกันเองในพรรค หากเป็นผู้สมัครของบางพรรค เช่น

พรรคก้าวไกล หรือ อนาคตใหม่เดิม อยากจะเป็นผู้สมัครแบบเขตหรือไม่ เพราะโอกาสชนะยาก จึงอยากเป็น  ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่า ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค ยังไม่ต้องพูดว่าระบบการเลือกตั้งที่จะใช้ในปี 66 ดีที่สุดหรือไม่ เพราะคำถามใหญ่ คือ ดีที่สุดสำหรับใคร อาจจะยังไม่กลมกล่อม แต่เชื่อว่า ดีกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 62 โดยเฉพาะวิธีการคำนวณคะแนน

 ส.ส.ปัดเศษยังอยู่

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ประเด็นที่สอง เรื่องการจัดการเลือกตั้ง กกต.คำนวณถูกต้องแล้ว การที่มีพรรคได้รับเลือกตั้งมา 24 พรรค หรือ พรรคปัดเศษ ไม่ใช่การคำนวณผิด หรือ จงใจเอื้อประโยชน์ ปัญหาอยู่ที่การเขียนตัวระบบเลือกตั้งตั้งแต่แรก  ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าเราเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนั้น ถึงแม้ว่าระบบการเลือกตั้งที่จะใช้ในปี 66 เป็นระบบที่คุ้นเคย ที่เคยใช้ในปี 40 และ 48

แต่เพื่อความโปร่งใสและชัดเจน ขอเรียกร้องให้กกต.ออกหนังสือวิธีการคำนวณการจัดสรรที่นั่ง ส.ส.ออกมาก่อน เพราะครั้งนี้ก็จะมี ส.ส.ปัดเศษเหมือนเดิม เพราะระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ที่เรียกว่า “ระบบเหลือเศษสูงสุด” จะไม่มีพรรคที่ได้ 1 % แต่จะมีพรรคที่ได้ 0.5 0.9  % พรรคที่ได้เศษเหลือสูงสุด ก็จะได้รับ 1 ที่นั่ง แม้จะไม่ได้คะแนนเต็มก็ตาม คำว่า ส.ส.พึงมีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

ถึงไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกติกา มาตรฐานทั่วไป ภาษาอังกฤษใช้คำว่า โควตา ดังนั้น เพื่อความโปร่งใส รักษาศักดิ์ศรีของกกต.ควรออกแนวทางในการคำนวณให้เป็นที่ประจักษ์

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งปี 62 ทำลายประชาธิปไตยมากที่สุด คือ เรื่องของการมีพรรคเล็กจำนวนมาก เราเป็นประเทศที่มีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดในโลก คือ 19 พรรค ถึงแม้จะอยู่รอด 4 ปี แต่ปัญหาคือ ประสิทธิภาพในการบริหาร และความอยู่รอดตั้งอยู่บนการต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์มากกว่าการอยู่รอดของการบริหารประเทศ เป็นผลพวงจากระบบเลือกตั้ง

เพราะเป็นเครื่องมือแรกของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ถ้าเปลี่ยนเครื่องมือก็จะได้รัฐบาลอีกแบบหนึ่ง หน้าตารัฐบาลก็อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้

 พรรคเดียว “คนละเบอร์” บั่นทอนพรรคการเมือง

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า วิธีการจัดการเลือกตั้งที่มีปัญหา 3 ประเด็น ประการแรก บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต กับ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ คนละเบอร์ ตกทอดมาถึงครั้งนี้  เป็นความจงใจให้พรรคการเมืองลดความสำคัญลงในใจคน ประการที่สอง ความรู้ความเข้าใจของกกต. 2 เรื่อง หนึ่ง การนับบัตรที่ส่งจากต่างประเทศ นับไม่ทัน ไม่ได้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแค่ 90 % ต้อง 100 % สอง ความโปร่งใส ความเป็นธรรม สำคัญมาก การเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้

“ประการที่สาม ประการสุดท้าย ฝันอยากเห็นอะไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า สิ่งที่กลัวที่สุด คือ ปัญหาการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการถ่ายอำนาจอย่างสันติ ไม่เกิดความรุนแรง การเปลี่ยนมืออำนาจจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง”รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า หากมองย้อนหลังการเมืองไทย 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีการถ่ายโอนทางอำนาจอย่างสันติ การอ่านโอนอำนาจในมือของขั้วอำนาจหนึ่งไปสู่อีกขั้วอำนาจหนึ่ง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์ถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติและครั้งนี้ สิ่งที่กังวลใจก็คือ หลังการเลือกตั้งจะยอมรับให้พรรคหรือขั้วการเมืองที่ได้รับเสียงมากที่สุดของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถ้าไม่ยอม

โดยยังใช้เสียง ส.ว.250 คนอยู่จะเกิดปัญหาใหญ่ แต่คำถาม คือ ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ไม่มีความละอาย ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่คำนึงถึงความชอบธรรมทางการเมืองใด  ๆและยังมี ส.ว.250 อยู่ในมือ แม้ว่าจะแตกออกเป็น 2ฝั่งก็ตาม มี ส.ว.ท่านหนึ่งออกมาพูดว่า น้ำบ่อไหนก็จะไปลงที่น้ำบ่อนั้น แสดงว่าน้อยมากที่จะมี ส.ว.แตกแถวมาเลือก ที่เคารพเสียงของประชาชน คำถามคือ เราพร้อมที่จะรับความไม่สงบใด ๆ หลังจากนี้หรือเปล่า

 ส.ว.250 ไม่แตกแถว

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ประเมินว่าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวจะได้ ส.ส.เกิน 100 ที่นั่ง ส่วนตัวคิดว่า จะไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.250 ที่นั่ง แต่สมมุติว่ามีพรรคหนึ่งได้เกิน 250 คน หรือ ถ้าไม่ถึง หรือ ถ้าจะแลนด์สไลด์จริง ๆ โอกาสที่เป็นไปได้มากจริง ๆ คือ ฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันแล้วแลนด์สไลด์ เป็นไปได้

“ประเด็นคือ ไม่จำเป็นต้องมีพรรคหนึงเกิน 250 พรรคที่ได้อันดับหนึ่ง โดยสิทธิ์อันชอบธรรมควรได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลก่อนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิน 250 หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารวมกับพรรคฝ่ายค้านแล้วได้เสียงข้างมากในสภา พรรคนั้นก็ถือว่าได้รับเจตจำนง เจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนอยู่แล้ว

ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มก้อนในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่จำเป็นต้องมีคำถามว่า พรรคเดียวต้องเกิน 250 หรือเปล่า อย่าไปตกหลุมพรางว่า พรรคเดียวต้องเกิน 250 เพราะภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว พรรคที่ได้อันดับ 1 และร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ ควรจะได้รับเจตนารมณ์นี้ แต่คำถาม คือ ทิศทางตอนนี้ดูแล้วไม่เป็นแบบนั้น เพราะอีกฝั่งหนึ่ง หรือ ฝั่งรัฐบาลตอนนี้ต้องการเพียง 125 เสียง

โจทย์เดิมในการเลือกตั้งปี 62 ก็ยังอยู่ เพราะมี ส.ว.อยู่แล้ว 250 ดูแนวโน้มน้อยมากที่ ส.ว.จะแตกแถว เพราะ  ส.ว.พูดออกมาแล้วว่า มาจากบ่อไหนก็จะกลับไปบ่อนั้น”รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ถึงแม้จะวิเคราะห์ว่า ส.ว.สายพล.อ.ประยุทธ์ มีอยู่ประมาณ 150 ส.ว.สายพล.อ.ประวิตร มีประมาณ 80 บวกบวก มีส.ว.สายเสรีอยู่บ้างไม่ถึง 10-15 แต่ถึงเวลาโหวต ก็จะโหวตให้นายพลคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ สิ่งที่เราจะเรียกร้องได้ก่อนเลือกตั้ง คือ ขอให้ส.ว.เคารพเสียงของประชาชน ถ้าไม่ยอมรับเสียงประชาชนจะไปไกลถึงพม่าโมเดลหรือไม่ คิดว่า ไม่ไปไกล

เชื่อว่าใครทำรัฐประหารตอนนี้ก่อน คือ แพ้ เพราะยังมีเครื่องมืออื่น และ ส.ว.250 คือ เครื่องมือสำคัญ จึงเห็นการย้ายพรรคของ ส.ส.เยอะมาก เพราะหลังเลือกตั้งจะใช้เวลานานมากในการจัดตั้งรัฐบาล

เพราะฉะนั้นพรรคที่เป็นแม่เหล็กมากที่สุด คือ พรรคที่มีโอกาสเป็นพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าฝั่งไหนจะชนะ แม่พรรครวมไทยสร้างชาติจะแยกออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ แต่บอกว่าเลยว่า พรรคพลังประชารัฐยังมีโอกาสเป็นรัฐบาลมาก พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลมาก ตัวแปรที่น่าสนใจ คือ กลุ่มสามมิตร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตรจะบอกว่า ใครเป็นรัฐบาล เพราะแทบไม่เคยเป็นฝ่ายค้านเลย