ครม.เห็นชอบ แผนใช้เงินกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา 7,985 ล้าน

กสศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ครม. เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา งบฯ 2567 วงเงิน 7,985,786,100 บาท แก้ปัญหาเหลื่อมล้ำการศึกษา ปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ช่วยนักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส 2,636,304 คน

วันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเสนอ ซึ่งประกอบไปด้วย 9 แผนงาน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น วิจัยและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่างๆ กรอบวงเงินงบประมาณ 267.50 ล้านบาท

2.พัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา (ปฐมวัย-ภาคบังคับ) เช่น พัฒนาระบบคัดกรองและช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 15 ล่างของประเทศเพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้ การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบ

มีเงื่อนไขสำหรับ(นักเรียนทุนเสมอภาค โดยผลักดันให้มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน รวมทั้งติดตามนักเรียนเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา กรอบวงเงินงบประมาณ 5,359.05 ล้านบาท

3.พัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เช่น พัฒนากลไกและสร้างเครือข่ายโรงเรียนเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัดให้เป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา กรอบวงเงินงบประมาณ 280 ล้านบาท

4.จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้/สังเคราะห์ข้อมูลระหว่างคณะทำงานจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ กรอบวงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท

5.พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล เช่น ส่งเสริมนักเรียนยากจนพิเศษและครูตำรวจตระเวนชายแดนประจำการพื้นที่ห่างไกลที่มีใจรักในวิชาชีพครูได้เรียนครูและกลับไปเป็นครูยังภูมิลำเนาของตนเอง กรอบวงเงินงบประมาณ 394.11 ล้านบาท

6.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น สนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในสายอาชีพที่เสมอภาคกับเยาวชนทุกคน กรอบวงเงินงบประมาณ 1,025.92 ล้านบาท

7.ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชน และประชากรวัยแรงงานนอกระบบ เช่น ส่งเสริมให้ได้รับโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถจนมีทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพตามศักยภาพ กรอบวงเงินงบประมาณ 251 ล้านบาท

8.สื่อสารความรู้และระดมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เช่น สนับสนุนให้เกิดพื้นที่การมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ กรอบวงเงินงบประมาณ 46.50 ล้านบาท

9.บริหารและพัฒนาระบบงานโดยพัฒนาระบบตามแผนดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อช่วยลดภาระงานเชิงปริมาณ เกิดความแม่นยำ ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดเชิงปฏิบัติงาน กรอบวงเงินงบประมาณ 291.71 ล้านบาท

“ผลผลิตสำคัญ ผลต่อประชาชนและประเทศ ของการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่สำคัญ เช่น เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสได้รับการอุดหนุนเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 2,636,304 คน/ครั้ง

เยาวชนและแรงงานนอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม และครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพทั่วถึง” น.ส.ทิพานัน กล่าว