ปิดฉากแก้รัฐธรรมนูญ 4 ปี ส.ส. นักการเมืองฟันกำไรแก้ไขวิธีเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญ

และแล้วก็ถึงเวลาปิดฉากการแก้รัฐธรรมนูญ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2

ภายหลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะเป็นผู้เสนอ

อันมีสาระสำคัญที่ขอแก้ไข คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 ที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการขอปิดสวิตช์ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง

ทว่า ที่ประชุมรัฐสภากลับไม่ได้พิจารณาวาระดังกล่าว เมื่อ ส.ว.ลุกขึ้นค้านการเลื่อนระเบียบวาระแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็น “วาระพิเศษ” เพราะในการประชุมวิปนอกรอบ ส.ว.ไม่ถูก “เชิญ” เข้าร่วมประชุม จึงพลาดการรับทราบวาระดังกล่าว และต้องการพิจารณาตามวาระ “ปกติ” จึงต้องมีการโหวต

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองซีกรัฐบาลก็ผสมโรงกับ ส.ว. สั่ง ส.ส.งดแสดงตัวตอนลงมติ สุดท้ายเมื่อห้องประชุมรัฐสภา คนโหรงเหรง “ประธานชวน” จึงต้อง “จำใจ” ปิดประชุม ปล่อยเป็น “วาระค้าง”

“สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รอในฐานะหัวหอกด้านแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจ “จบแล้ว” ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์

แม้ว่าวาระพิเศษ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของพรรคเพื่อไทยยังไม่ตกไป เพราะยังเป็น “วาระค้าง” แต่การประชุมสภาในเดือนกุมภาพันธ์ เหลืออีก 3 ครั้ง ก็จะหมดสมัยประชุม ดังนั้น ประธานรัฐสภาอาจจะไม่นำวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา

ดังนั้น จึงเป็นการปิดฉากแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพราะการประชุมร่วมรัฐสภาหลังจากนี้ เนื่องจากสมัยประชุมรัฐสภาจะสิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

“สมคิด” บอกว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะจบแล้วในสมัยนี้ แต่พรรคเพื่อไทยจะชูประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) บรรจุไว้ในแคมเปญหาเสียง หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะลงมือแก้ทันที

อย่างไรก็ตาม 4 ปีรัฐบาลประยุทธ์ มีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ครั้ง 6 ยก รวมกับครั้งล่าสุด ตกไป 25 ฉบับ ผ่านแค่ 1 ฉบับ คือ แก้ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตร 2 ใบ เพิ่ม ส.ส.เขต จาก 350 เขต เป็น 400 เขต และลด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 ที่นั่ง เหลือแค่ 100 ที่นั่ง ในระบบคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบ “สัมพันธ์ทางตรง”

อันเป็นร่างที่ชงโดยพรรคการเมือง ผ่านการเห็นชอบกันทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. และยังเป็น “วาระค้าง” อีก 1 ฉบับ คือ ฉบับล่าสุดของพรรคเพื่อไทย

สำรวจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พิจารณาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด 4 ปี

ครั้งแรก เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 โดยแบ่งเป็น ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ฉบับ มีประเด็น อาทิ แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตนายกฯ, ยกเลิกคำสั่ง คสช., แก้ไขระบบเลือกตั้งมาเป็นบัตร 2 ใบ, ลดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูปประเทศ

ส่วนฉบับของฝ่ายรัฐบาลมี 1 ฉบับ คือ แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และฉบับของไอลอว์ เสนอแก้ไข 6 ประเด็น

ได้แก่ ประเด็นหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นการลดอำนาจและแก้ไขที่มาของ ส.ว. ประเด็นการยกเลิกมาตราว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีให้มาจากรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ประเด็นอำนาจของ ส.ส.ร. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประเด็นการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ปรากฏว่าที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านแค่ 2 ฉบับ คือ ร่างของฝ่ายค้าน และร่างฝ่ายรัฐบาล ในประเด็นให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่า ปลายทางของทั้ง 2 ร่างก็จบลงกลายเป็น “วาระแท้ง” ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้อำนาจรัฐสภา ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเสียก่อน

ครั้งที่สอง เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวม 13 ฉบับ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ประเด็นใหญ่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าผ่านเพียงฉบับเดียว คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ปลายทางของเรื่องนี้กลับกลายเป็นความสำเร็จ สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตร 2 ใบ และการนับคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเป็นสูตรสัมพันธ์ทางตรงแบบหาร 100 ที่จะใช้ในการเลือกตั้ง 2566 นี้

ครั้งที่สาม เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มรีโซลูชั่น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นำโดยคณะก้าวหน้า ตั้งชื่อว่ารัฐธรรมนูญ “ฉบับรื้อระบอบประยุทธ์” แต่ก็ไม่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา

ครั้งที่สี่ เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ฉบับแรก แก้ไขมาตรา 272 เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 เรื่องสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน ของพรรคเพื่อไทย

3.ร่างเพิ่มเติมมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 ของพรรคเพื่อไทย ให้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ ให้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ มีคุณภาพ เท่าเทียม เสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า และเรื่องสิทธิสวัสดิการประชาชน เพื่อเติมเต็มดูแลตั้งแต่ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

และ 4.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง ของพรรคเพื่อไทย แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ซึ่งแก้ไขให้มาจาก ส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88 แต่ทั้ง 4 ร่างถูกตีตกทั้งหมด

ครั้งที่ห้า ที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ “ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” ของคณะก้าวหน้า เสนอโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ

และครั้งที่หก คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย ที่แก้ไขมาตรา 159 ที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการขอปิดสวิตช์ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ หลังเลือกตั้ง

บทสรุปทั้งหมด การแก้ไขรัฐธรรมนูญตลอด 4 ปี ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการชงแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด 6 ครั้ง 26 ฉบับ ถูกตีตกทั้งหมด 25 ฉบับ ในจำนวนนี้เป็นกฎหมายที่ “นักเลือกตั้งเสนอ” 23 ฉบับ และฉบับที่ประชาชนเสนอ 2 ฉบับ

ผ่านเพียงฉบับเดียว ที่เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ที่นักเลือกตั้งเสนอ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่ 4 ปี ประชาชนมีแต่ขาดทุน นักการเมืองได้กำไร เพราะคว้าชัยเรื่องระบบเลือกตั้ง