ธนาธร เชื่อฝ่ายอนุรักษนิยมอ่อนแรง ก้าวไกลร่วมรัฐบาลไม่ต้องกลัวรัฐประหาร

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กระแสพรรคก้าวไกลยิ่งมาแรงทะลุโซเชียล แกนนำทุกคนประกาศตัวเลขเป้าหมายที่นั่งในสภาเป็นตัวเลข 3 หลัก – หลักร้อย หวังสร้างปรากฏการณ์ก้าวไกล ซ้ำอดีตปรากฏการณ์อนาคตใหม่ ในการเลือกตั้ง 2562 ที่ได้ตัวเลข ส.ส. 80 ที่นั่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตอบตรงธงชัดเจนเลือกก้าวไกลไม่ต้องกลัวรัฐประหาร เลือกก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม “ทำไมไม่ลองเลือกก้าวไกลดูสักตั้ง”

ปาร์ตี้ลิสต์เป็นกอบเป็นกำ

“ธนาธร” เชื่อว่าคะแนนโพลที่ก้าวไกลกระแสแรง สามารถแปลงเป็นคะแนนจริงได้ ไม่คลาดเคลื่อนจากนั้น

“มันไม่หนีกันจาก 2-3 แหล่ง โพลจากสื่อมวลชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ชี้ชัดว่าก้าวไกลมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น รวมถึงโซเชียลมีเดีย ถ้าไปติดตามกดไลค์ กดแชร์ ตามช่องทางต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ติ๊กต๋อก ก้าวไกลก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน”

“เสียงจากผู้สมัครของเราบอกชัดเจนว่า มีคนเข้ามาพูดคุยทักทาย ถามไถ่มากขึ้น ดูจากคอลเซนเตอร์ของพรรคก็ได้ เดี๋ยวนี้พนักงานคอลเซนเตอร์ของพรรคแทบจะตอบคำถามไม่ทันแล้ว คนโทรเข้ามาถล่มทลาย และสิ่งสุดท้ายคือผมใช้ตัวเองเป็นปรอทก็รู้ชัดว่าเดินไปไหนคนก็มาขอแผ่นพับ มาขอถ่ายรูป คนมาพูดคุยถึงนโยบาย”

“ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้ดัชนีตัวไหนทุกสิ่งทุกอย่างชี้ไปทางเดียวกันว่าคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล และคุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) สูงขึ้นเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่ปีกลองการเลือกตั้งดังขึ้น ดีขึ้นเป็นลำดับ”

“ผมว่าใบปาร์ตี้ลิสต์สอดคล้องแน่นอน ส่วนใบเขตถ้าจะวัดด้วยคะแนนเขต อาจพูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะมีคะแนนนิยมเยอะไม่ได้หมายความว่าจะชนะเขต คะแนนนิยมเยอะวัดที่ใบปาร์ตี้ลิสต์ เราเชื่อว่าใบปาร์ตี้ลิสต์ไม่อันดับหนึ่งหรืออันดับสองแน่นอน ไม่ต่ำกว่านั้น”

“แต่ใบเขตเป็นอันดับสองหรือเปล่า…ไม่เสมอไปแล้ว หวังว่าจะได้ เพราะตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ถึงพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นพรรคที่ยึดติดกับพื้นที่ แต่เป็นพรรคที่ยึดติดกับชุดความคิดชุดหนึ่งมากกว่า ใครเห็นด้วยกับชุดความคิดและอุดมการณ์แบบนี้ก็จะเลือกเรา ไม่ว่าอยู่ที่ไหน”

“ถามว่าคะแนนที่ไม่ติดกับพื้นที่ แต่ติดกับกลุ่มก้อนความคิดมีพลังพอไหม..ไม่แน่ใจ ต้องว่ากันเป็นเขต แต่ตอบคำถามคือ บัตรปาร์ตี้ลิสต์น่าจะจับต้องได้เป็นกอบเป็นกำ จับต้องได้ว่าคนมีความคิดแบบเรามีกี่เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย”

“พรรคก้าวไกลมีความตั้งใจ มีเป้าหมายเกินร้อย เลข 3 หลัก ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไม่กล้าคาดเดา บอกได้แต่ว่าเป้าหมายเราพยายามไปถึงจุดนั้น ส่วนจะเป็นจริงหรือเปล่าไว้รอดูตอนปิดหีบ”

อย่างไรก็ตาม “ธนาธร” ยังไม่กล้าประเมินว่า ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของก้าวไกลรวมกันแล้วจะได้กี่ที่นั่ง แต่มั่นใจว่าได้ ส.ส.มากกว่าอนาคตใหม่ที่ได้ ส.ส. 80 คน

“ไม่กล้าประเมินเลย ปาร์ตี้ลิสต์ให้ผมดูก็..ตอนนี้น่าจะเป็นอันดับสอง ที่ปิดช่องว่างเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนอันดับหนึ่งคือเพื่อไทย อย่างที่รู้กัน แต่อีกสองอาทิตย์ไม่รู้ว่าเราจะปิดช่องว่างตรงนี้ได้หรือเปล่า และอาจจะขึ้นไปแซงได้หรือเปล่า อันนี้ขึ้นอยู่กับการทำงานของแกนนำพรรค ผู้สมัคร และผู้ช่วยหาเสียงอย่างผม แต่มั่นใจว่าได้ ส.ส.มากกว่าอนาคตใหม่”

เลือกก้าวไกล ไทยไม่เหมือนเดิม

ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ธนาธร บอกเหตุผลคำขวัญเลือก “ก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” ว่า  ผมเดินทางไปทั่วประเทศใน 4-5 ปีที่ผ่านมา คำพูดที่ผมได้ยินเสมอคือ เลือกใครไปก็เหมือนเดิม กาให้พรรคไหนก็เหมือนเดิม เลือกกี่ครั้งก็เหมือนเดิม ทุกคนเคยได้ยินคำพูดนี้ คำถามคืออะไร เพราะอะไร คำตอบของเราที่มีให้กับประชาชนคือ วิธีการวิเคราะห์ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาต่างกัน

วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นตอของปัญหา แก้ปัญหาที่โครงสร้างคือทางออก ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบขอไปที แบบปะผุ ตรงนี้รั้วก็เอาไปปะ ตรงนี้ผุก็เปลี่ยน… ไม่ใช่ เพราะแก้ปัญหาแบบนี้ประเทศไทยจึงเหมือนเดิม

ยกตัวอย่างเรื่องค่าไฟ ไม่ใช่ไปลดราคาให้ประชาชน 3 เดือน 6 เดือน แต่วิธีการจัดการคือยกเลิกการผูกขาดในอุตสาหกรรมพลังงาน เรื่องความเท่าเทียม จะสร้างความเท่าเทียมได้อย่างไรในเมื่อลูกหลานคนจน ยังต้องไปเกณฑ์ทหาร 2 ปี คืน 2 ปีให้กับเขาสิ

นี่คือวิธีการคิด แก้ปัญหาที่ต่างกัน นี่จะทำให้เราสร้างประเทศไทยให้ไม่เหมือนเดิมได้ เป็นที่มาของคำขวัญว่าเลือกก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม  เพราะเราอยากให้คนกลับมามีความหวังกับประเทศอีกครั้ง ศรัทธากับประชาธิปไตยอีกครั้ง อยากทำให้คนกลับมาเชื่อมั่นในบัตรเลือกตั้ง เชื่อมั่นในระบบรัฐสภาอีกครั้ง ว่าระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ได้

“ถ้าเราทำไม่สำเร็จประชาชนเสียอะไรไหม ประชาชนจำนวนมากบอกเองว่ากาใครไปก็เหมือนเดิม ถ้าเรากาไม่สำเร็จอย่างมากก็เท่าทุน แต่ถ้าเราทำสำเร็จล่ะ ลูกหลานเราไม่ต้องเกณฑ์ทหารอีกเลย ไม่ต้องมีการผูกขาดเหล้าเบียร์อีกเลย ไม่การผูกขาดเรื่องไฟฟ้าอีกเลย ตำรวจไม่มีการรีดไถประชาชนอีกเลย”

“ไม่ลองเดิมพันกับอนาคตใหม่ ก้าวไกล ให้เป็นรัฐบาลดูเหรอ…มีอะไรต้องเสีย”

พูดถึงคู่แข่งเพื่อไทย

ธนาธร กล่าวถึงการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคเพื่อไทย – ก้าวไกล ว่า ก็ขับเคี่ยวกันทุกพรรค ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมืองกัน แย่งความไว้วางใจจากประชาชนเหมือนกันก็ไม่มีอะไร

ผมมองเห็นความสวยงามอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือมีเฉดสีเยอะ มีพรรคบางกลุ่มที่บอกว่าประเทศไทยไม่ต้องไปข้างหน้าหรอก อยู่อย่างนี้ก็พอ อย่าไปแก้หลักสูตรตำราเรียน อย่าไปแก้เรื่องการเกณฑ์ทหาร อย่าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บางพรรคบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่าไปแก้ไขมาตรานู้น มาตรานี้นะ ขยับมาหน่อยมีพรรคตรงกลางที่ไม่สนใจปัญหาอะไรเลย ขอดูแลพ่อแม่พี่น้องประชาชน ขยับมาอีกก็บอกว่าปัญหาการเมืองก็สำคัญ แต่ขอแก้ปัญหาปากท้องก่อน มาถึงพรรคก้าวไกล ดังนั้นมีเฉดสีเยอะแยะ มีทางเลือกเยอะแยะไปหมด

“พรรคก้าวไกลก็นำเสนอสิ่งที่พวกเรานำเสนอชัดเจนว่าไม่ต้องเลือกระหว่างปัญหาปากท้อง กับการแก้ไขโครงสร้างการเมืองที่มันบิดเบี้ยว ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้ รัฐมนตรีมีตั้งหลายคน รมว.พาณิชย์ก็เอาสินค้าไทยไปขายในตลาดโลก รมว.อุตสาหกรรมก็ไปลงทุนสร้างเทคโนโลยีของคนไทยสิ รมว.กลาโหม ก็ปฏิรูปกองทัพสิ รมว.ยุติธรรม ก็ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสิ มันทำหลายเรื่องไปพร้อมๆ กันได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน”

“ยิ่งมีพรรคบางพรรคบอกว่า ไล่คนชังชาติออกนอกประเทศ ยิ่งดี จะได้รู้ว่าแต่ละพรรค แต่ละกลุ่มก้อนความคิดมีคนคิดอย่างนั้นเท่าไหร่..ยิ่งดี และคะแนนของพรรคก้าวไกลจะตัดสินอนาคตของประเทศในแบบหนึ่ง ก็คือดูว่าคนที่อยากเห็นการปฏิรูปยาก ๆ แต่จำเป็นมีเยอะแค่ไหน คะแนนของก้าวไกลจะเป็นตัวสำคัญ และถ้ามี ส.ส.เยอะมีโอกาสทำได้ด้วย”

เลิกกินข้าวทีละคำ

เหตุผลที่พวกเราเสนออย่างนี้เพราะเราทำตรงไปตรงมา เราอยากได้อะไรเราพูแบบนั้น ถ้าเราอ้อม ๆ แอ้ม ๆ ไม่กล้าพูด โหวตไปก็วัดไม่ได้ว่าสังคมต้องการความก้าวหน้าเยอะเท่าไหร่ แต่พอพูดตรง ๆ มันวัดได้แล้ว และนี่คือข้อดี

เรายืนยันว่า จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองมาจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมเกิดในยุคที่บอกว่าเหตุการณ์การเมืองเริ่มสนใจคือพฤษภาคม 2535 ถามคนที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกัน หลัง 2535 ไม่มีใครคิดว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกแน่นอน แต่เราก็เจอมันอีกจนได้ จนถึงวันนี้ 17 ปี เราเสียเวลากับการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยมาแล้ว 17 ปี

17 ปีมานี้เวลาฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการบดขยี้พลังของความเปลี่ยนแปลง พลังประชาธิปไตย เขาไม่เคยเกรงใจประชาชน เขากล้าทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 เขากล้าสลายการชุมนุมของประชาชนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากมาย ในปี 2553 เขาจับเอาคนเข้าคุกเข้าตาราง คนที่เห็นต่างจำนวนมากต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ

คนรุ่นใหม่จำนวนมากที่พูดความจริงที่พวกเขาไม่อยากรับฟัง ถูกยัดข้อหาเข้าคุกเข้าตาราง เขายุบพรรคที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยไปถึง 4 ครั้ง คือ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ บิดเบือนกระบวนการนิติรัฐนิติธรรม แต่งตั้งคนของตัวเองไปคุมองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อใช้ทำลายคู่แข่งทางการเมืองและปกป้องตนเอง โดยไม่เห็นหัวประชาชนเลย 17 ปี

“วันนี้อนุรักษนิยมอ่อนแรงที่สุดในรอบ 17 ปี ทั้งทางความชอบธรรมทางการเมือง และทางวัฒนธรรม ผมบอกว่าวันนี้ชวนคนไทยมาทะเยอทะยานด้วยกัน นี่คือเวลาของการทะเยอทะยาน เวลาเขากระทำกับเราเขาไม่เคยเกรงใจเรา แต่วันนี้คือโอกาสที่เขาอ่อนแอ โอกาสที่จะทำเรื่องยาก ๆ ให้เป็นจริงได้ในประเทศไทย อย่าเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ต้องกินทีละคำ”

“แก้ปัญหาหลายเรื่องไปพร้อม ๆ กันได้ อย่าทิ้งโอกาสนี้ไป ทิ้งไปไม่รู้โอกาสจะมาอีกเมื่อไหร่ ผมถามคำถามที่สำคัญ ไม่ทำวันนี้จะทำวันไหน วันไหนที่จะมีโอกาสดีมากกว่าวันนี้ ดังนั้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลากความคิดอยู่บนกระดานการเลือกตั้ง ความคิดของพรรคก้าวไกลได้อธิบายชัดไปแล้ว ดูว่าพี่น้องประชาชนจะเห็นด้วยกับเรามากน้อยแค่ไหน”

ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวลวง-ข่าวลือในวงการเมืองใต้ดิน มักสร้างจินตภาพว่า หากก้าวไกลร่วมรัฐบาลจะเกิดรัฐประหารอีกรอบ “ธนาธร” ตอบว่า “สำหรับผมนี่คือคำขู่ เหมือนเล่นก้าวเก เขาเก แต่ชิปไม่เหลือแล้ว คือต้นทุนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ไม่เหลือต้นทุนมาทำรัฐประหารอีกแล้ว ก่อนเกิดรัฐประหาร 2549 เกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2548 และพันธมิตรฯ ก็ดร็อปลงด้วยซ้ำไป แต่คุณทักษิณ ชินวัตร ขายชินคอร์ปให้เทมาเส็ก”

“พันธมิตรฯ จึงกลับมาอีกรอบ ปูทางไปสู่การรัฐประหาร พาประเทศไทยไปสู่ทางตัน ทำลายความศรัทธาประชาธิปไตยด้วยวาทกรรมนักการเมืองเลว รัฐประหาร 2557 ก็เหมือนกัน มีการปูทาง ทำงานมาตั้งเยอะ ดังนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ”

“ภารกิจจึงไม่ใช่แค่ฟื้นฟู แต่ต้องปกป้องด้วย เพราะข้าราชการ สื่อมวลชน นักธุรกิจ นักวิชาการ จำนวนมากไม่ออกมาปกป้องประชาธิปไตย ปล่อยให้ขบวนการเหล่านี้พาประเทศไทยไปสู่ทางตัน”

“ผมคิดว่าครั้งนี้รัฐประหารไม่ง่ายเหมือนเดิม ประเทศไทยเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว ต้นทุนของความดีหมดไปเยอะแล้ว ไม่เหลือให้ใช้แล้ว ใช้หมดแล้ว”

แต่โอกาสรัฐประหารยังมีอยู่หรือไม่ “ธนาธร” กล่าวว่า “มีแน่นอน ปิดประตูไม่ได้ แต่ครั้งนี้จบไม่เหมือนเดิม  ไม่ต้องไปกลัว ความคิดผมเขาไม่กล้าทำหรอก ไม่มีทาง สิ่งสำคัญก็คือ ถ้ารัฐบาลใหม่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยอย่าพลาดแล้วกัน เช่น ทุจริตคอรัปชั่น อย่าปล่อยให้ตรงนี้มันกลับมา ให้เขาไปสร้างกระแสทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยได้ ต้องช่วยกันปกป้อง”

“ต่อให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ถ้ารัฐบาลหน้ามาจากการเลือกตั้งแล้วมีกลุ่มคนที่จะมาทำรัฐประหาร เราก็พร้อมไปปกป้องรัฐบาลหน้า ปกป้องประชาธิปไตย”

“แต่ผมเชื่อว่าต้นทุนทางสังคมเขาไม่มีแล้ว ลองทำอีกรอบสิ ผมคิดว่าคราวนี้หนักกว่าเดิมอีก แค่ไม่ต้องรัฐประหาร ยุบอนาคตใหม่ตอนปี 2563 สังคมยังมาไกลขนาดนี้เลย”

ธนาธร

กลัวก้าวไกลทำไม

ถามธนาธรว่า พรรคก้าวไกลควรได้ ส.ส.เท่าไหร่ ถึงเพื่อน (พรรคอื่นๆ) จะไม่กล้าปฏิเสธพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล

“ต้องถามเขาล่ะครับ ไม่ใช่ถามผม เราก็ต้องได้เยอะที่สุด ส่วนถ้าเราได้พรรคอันดับหนึ่งทุกพรรคก็คงให้เกียรติเราจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ถ้าพรรคอื่นได้อันดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าเพื่อนของผมและพรรคก้าวไกลก็จะให้เกียรติพรรคอันดับหนึ่งตั้งจัดรัฐบาล ถ้าเขามาชวนเราก็พูดคุยกัน ถ้าเขาไม่มาชวนเราก็พร้อมเป็นฝ่ายค้าน”

เพราะว่าพรรคบางพรรคอาจไม่กล้าจับมือกับพรรคก้าวไกล บางพรรคปฏิเสธไม่จับมือเลย อธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร “ธนาธร” ตอบสวนทันทีว่า …

“กลัวอะไร…ผมถาม หนึ่งในความสำเร็จที่ผมภูมิใจมากที่เป็นส่วนเล็กๆ ทำให้มันเกิดขึ้นมา การประชันวิสัยทัศน์ในเวทีใหญ่ๆ แทบจะทุกเวทีพูดเรื่อง ม.112 มีการประชันวิสัยทัศน์ในการเลือกตั้งครั้งไหนไหมที่ ม.112 เป็นประเด็นเท่ากับวันนี้”

“ชนะไปแล้วทางความคิดในแง่หนึ่ง ดันสังคมไทยมาไกลแล้ว แคร์อะไร ไม่มาร่วมกับเรา so what เรารู้ว่าเราทำงานกับประชาชน ประชาชนจำนวนมากสนับสนุนเรา ดังนั้น แน่นอนที่สุดตั้งพรรคการเมืองก็อยากเป็นฝ่ายบริหาร เพื่อที่จะผลักดันวาระของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพร้อมเป็นฝ่ายบริหารถ้าประชาชนให้โอกาส”

“แต่ถ้าประชาชนไม่ให้โอกาส และการเป็นฝ่ายบริหารต้องประนีประนอมไม่ต้องทำเรื่องนู้น ห้ามปฏิรูปยากๆ เยอะแยะไปหมดก็เป็นฝ่ายค้านดีกว่า ก็ให้กับประชาชนได้ และ 4 ปีที่ผ่านมาเป็นฝ่ายค้าน ผลักดันวาระสังคมได้ตั้งเยอะ”

“ทั้งสุราก้าวหน้า ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ และสมรสเท่าเทียม ผมคิดว่า 3 เรื่องนี้ สภา 2566 ผ่านแน่นอน ใครจะเคลมอะไรก็ช่าง แต่ทุกคนรู้ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นการณรงค์อย่างหนักแน่นของพรรคก้าวไกล วันนี้มาได้ไกลแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นการเลือกตั้งปี 2570 ก็จะยิ่งสนุก”

ธนาธร เชื่อว่า หากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โควตา “กระทรวงสำคัญ” ไม่สำคัญเท่า “วาระสำคัญ”

“สำหรับผมไม่สำคัญ วาระสำคัญกว่า คุมกระทรวงไปทำอะไร คุยกันก่อน กระจายอำนาจแบบนี้เอาไหม เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างนี้นะ ตัดลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้เขาทำงานรับใช้ประชาชนได้เต็มที่ ไม่ต้องขออนุมัติจากส่วนกลาง 30-40 ข้อนี้เอาไหม”

“ผมว่าผลักดันวาระเหล่านี้ จำเป็นกว่าการกำหนดกระทรวง ถ้ากำหนดกระทรวงไม่คุยเรื่องวาระกัน เข้าไปถึงก็ขัดแข้งขัดขากัน คุยให้จบว่าวาระ 4 ปี เรื่องใหญ่ๆที่เราจะทำมีอะไรบ้าง พรรค ก. มีเรื่องอะไรบ้าง พรรค ข.มีเรื่องอะไรบ้าง ของเรามีเรื่องอะไรบ้าง”

“เรื่องที่เห็นด้วยกัน ทำด้วยกัน เรื่องที่ไม่เห็นด้วยกัน ถอยได้ถอย คุยเรื่องวาระเสร็จค่อยดูว่าเกี่ยวข้องกี่กระทรวง ใครต้องดูกระทรวงไหนบ้าง”

“บางเรื่องถอยได้  วาระหลัก ๆ ตรึงไว้ ส่วนวาระที่อยากทำ ถ้าได้เสียงมากก็จะผลักดัน มันก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเสียง ถ้าเราได้ 30 เสียงก็คงได้สัก 5 วาระ แต่ถ้าได้ 100 เสียง ก็อาจจะได้ 10 20 วาระ แต่แน่นอนถ้าไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่งก็ต้องถอยอยู่แล้ว ในการทำงานหน้างานที่เป็นจริงก็ต้องผ่อนปรน วาระของพรรคอื่นถ้าเราเห็นว่ามันดีก็พร้อมผลักดันด้วย”

“วาระของเราถ้าเขาเห็นว่าดีก็ต้องมาผลักดันร่วมกัน แต่บอกให้ร่วมรัฐบาลแล้วไม่เอาวาระของเราเลย ไม่รู้จะร่วมทำไม”

“วาระ” อะไรที่พรรคก้าวไกลต้องตรึงไว้ไม่สามารถถอยได้ ธนาธร กล่าวว่า “เรื่องรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ แต่ผมตอบแทนพรรคก้าวไกลทั้งหมดไม่ได้ และคิดว่าพรรคก้าวไกลยังไม่มีเส้นชัดเจนขนาดนั้นอะไรหย่อนได้อะไรต้องตึงจนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้ง”