ธำรงศักดิ์ ชี้ผลโพลสะท้อน เพื่อไทย-ก้าวไกลเจาะฐานเสียงอนุรักษนิยมภาคใต้

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ วิเคราะห์โพล มติชนXเดลินิวส์
รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ธำรงศักดิ์ ชี้ผลโพลมติชนxเดลินิวส์ เลือกตั้ง’66 สะท้อนความอัดอั้น ประชาชนไม่เอาระบอบทหาร ยันเพื่อไทย-ก้าวไกลเจาะป้อมค่ายภาคใต้แน่

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 มติชน รายงานว่า ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน และ เดลินิวส์ จัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 10.10 น. มีการเสวนา หัวข้อ “สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ มติชน-เดลินิวส์ โพล” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เวลา 10.45 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์โพลมติชน-เดลินิวส์ และแนวโน้มการเลือกตั้งโค้งสุดท้าย” โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กล่าวว่า เมื่อดูโพลมติชน x เดลินิวส์ จะเห็นว่าภาคการเกษตรอยู่ที่ 40% นอกภาคการเกษตร 60% และคนนอกภาคการเกษตรจะอยู่ในเทศบาลเป็นหลัก หมายความว่าเป็นโพลของคนที่อยู่ในเมือง

“เมื่อเป็นภาพของคนในเมืองจึงหมายความว่า คนเมืองไม่เอารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ คสช. โดยปีกคะแนนเสียงพรรคร่วมรัฐบาลหรือสืบอำนาจ คสช.คะแนนตกต่ำมาก มันสะท้อนว่าคนไม่เอาแล้ว มันอัดอั้นเต็มที่ การเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ลำบากมาก การออกแบบโครงสร้างกลไกระบบการเลือกตั้ง ทำให้คนไม่สามารถแสดงเจตจำนงของตัวเองได้อย่างเสรี การเลือกตั้งของไทยเป็นการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาอยู่ตลอดเวลา มันทำลายระบอบประชาธิปไตย นี่คือกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐประหาร” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์อธิบายต่อไปว่า หลังจากรัฐบาล 4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 9 ปี สะท้อนถึงความไม่มีฝีมือ ทำให้คนต้องการออกจากระบอบของรัฐทหาร ซึ่งตรงนี้เป็นกระแสที่สูงมาก

“ถ้าดูตามโพล คนตอบโจทย์ของการจะไปเลือกตัังสูงมาก ถ้าดูโพลเมื่อก่อนคนจะลังเลใจว่าจะไปเลือกตั้งหรือไม่ไป สัก 30-40% แต่ตอนนี้ทุกโพลบอกว่าจะไปเลือกตั้ง ตอนนี้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งมีอยู่ 52 ล้านคน ถ้าเราตีความว่าไปเลือกตั้งครั้งนี้สักเท่าไหร่ ผมว่า 75-80% ซึ่งสูงมาก คนราว 39-42 ล้านคน เสียงออกมาว่าประมาณ 80% อยู่ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือผู้นำประเทศ

และข้อสำคัญกรณีคะแนนนำของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, คุณแพทองธาร ชินวัตร และคุณเศรษฐา ทวีสิน รวมกัน 80-85% มันหมายความว่าเขาไม่เอากลุ่มการเมืองแบบเดิมดังฉากทัศน์ที่เราจะเห็นต่อไป คือฉากทัศน์ที่ต้องเปลี่ยนรัฐบาล” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า คำถามที่ว่าแล้วคนในชนบทจะเลือกใคร ถ้าเป็นอีสาน เหนือ และกลาง ที่เลือกแน่คือเพื่อไทย แล้วเลือกก้าวไกลหรือไม่ ตั้งแต่หลังเลือกตั้ง ปี 2562 ผู้สมัครของก้าวไกลทำงาน 4 ปีอยู่ในท้องถิ่น

“ภาพตอนไทยรักไทยจัดตั้งขึ้นมาในปี 2541 ตอนนั้นคิดว่า คุณชวน หลีกภัย จะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้ง แต่คุณชวนยื้อจนเหลือไม่กี่วันถึงยุบสภา 3 ปีกว่าตอนนั้น ทำให้ไทยรักไทยต้องลงพื้นที่ถึงหมู่บ้าน และนำไปสู่การฝังตัวในระดับหมู่บ้าน ดังนั้นโมเดลนี้เป็นโมเดลที่ผมเห็นก้าวไกลกำลังทำ 3-4 ปี ที่ผ่านมา เขาลงไปทำงานในหมู่บ้าน ดังนั้นก้าวไกลไม่ได้ทิ้งหมู่บ้าน” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

ในตอนท้าย รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวว่า ฉากทัศน์ของการเปลี่ยนคือ ประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตร 40% ตีว่า 14 ล้านคน ในจำนวนนี้เขากำลังแย่งกัน ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล

“เขาแย่งกันที่ไหนบ้าง เช่น ภูมิใจไทย มีฐานที่ภาคเหนือตอนล่าง อีสานตอนล่าง พรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ พรรคฝ่ายสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ก็พยายามเจาะภาคกลางและใต้ เขาไปแย่งที่กันเอง แต่ในโพลครั้งนี้ชี้ว่า ทิศทางพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลก็เจาะป้อมปราการของอนุรักษนิยมในภาคใต้ด้วย พูดง่าย ๆ ว่าคนชนบทหรือคนในภาคการเกษตรที่เคยเป็นของฝ่ายอนุรักษนิยมเดิมทั้งหมด ตอนนี้ไม่ใช่ ถูกแชร์ไปแล้ว” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว