ประจักษ์ ชี้ เทรนด์ใหญ่ โพลปาร์ตี้ลิสต์ชัด ฟาก ส.ส.เขตวัดกันวันเลือกตั้ง

ประจักษ์ ก้องกีรติ วิเคราะห์โพล มติชนXเดลินิวส์
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ประจักษ์’ ชี้เทรนด์ใหญ่ไปทางเดียว เตือนฝ่ายค้าน สมการง่าย แต่ทำให้ยาก ถกแรง ทะเลาะหนัก ระวังทำงานยาก เสี่ยงเข้าทางรัฐบาลเสียงข้างน้อย

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 มติชน รายงานว่า ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน X เดลินิวส์ จัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 10.45 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์โพลมติชน-เดลินิวส์ และแนวโน้มการเลือกตั้งโค้งสุดท้าย” โดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ คอลัมนิสต์ มติชนสุดสัปดาห์

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ในทางวิชาการการทำโพลหรือแบบสำรวจมีวิธีการที่ต่างกันได้มากกว่า โพลที่มติชนและเดลินิวส์ทำเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับวิธีแบบสุ่มตัวอย่าง แบบนี้คือเราให้เขาวิ่งมาหา ไม่ใช่เราวิ่งไปหาเขา ฉะนั้น แน่นอนทุกโพลมีความคลาดเคลื่อนเสมอ ไม่มีโพลไหนเพอร์เฟ็กต์ตรงกับผลการเลือกตั้งจริง

ซึ่งความคลาดเคลื่อนเกิดจากหลายสาเหตุ ต่อให้วิธีการเก็บดีที่สุดอย่างไรก็ตาม คนยังเปลี่ยนใจได้ เขาอาจจะตอบตามจริงแต่อีก 10 วันในการเลือกตั้งเขาอาจจะเปลี่ยนใจ

“ถ้าดูจากโพลมติชนกับเดลินิวส์ต้องพูดตามวิชาการว่ามีบางกลุ่มตอบแบบสอบถามเกินกว่าสัดส่วนประชากรที่มีอยู่จริง คือไปสะท้อนคนบางกลุ่มเสียงดังขึ้นมามาก เช่น เพศชายและหญิงในสังคมไทยไม่ได้มีสัดส่วนที่ห่างมาก แต่กลายเป็นว่าเพศชายมาตอบถึง 62% เพศหญิงแค่ 34%

ตรงนี้เสียงของผู้หญิงก็อาจไม่ถูกสะท้อนเท่าความเป็นจริง ด้านของการศึกษาและอาชีพที่ความจริงคนที่ไม่จบการศึกษาปริญญาตรีคือคนส่วนมากของประเทศ แต่ในแบบสอบถามคนจบต่ำกว่าปริญญาตรีมาตอบแค่ 28% แบบนี้เสียงของคนจบปริญญาตรีก็จะดังที่สุด

ส่วนอาชีพคนที่มาตอบมากที่สุดคือพนักงานบริษัทคือ 1 ใน 4 ของแบบสำรวจนี้ แต่อาชีพเกษตรกรมาตอบแค่ 3% สัดส่วนของคนที่เป็นชาวนาและเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 20% ด้านรายได้คือคนรายได้สูงมาตอบจำนวนมาก รายได้มากกว่า 50,000 ขึ้นไปมาตอบถึง 23% ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่จุดที่ค่อนข้างแม่นและสะท้อนสัดส่วนคืออายุ ที่ค่อนข้างไปตามสัดส่วนประชากรที่เป็นจริง เกือบจะตรงตามสัดส่วนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

พรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมตกในสถานะลำบาก แข่งกันเองมากขึ้น

อีกทั้งสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ไม่ว่าโพลของสำนักไหนเทรนด์ใหญ่ออกมาไม่ขัดแย้งกัน ไปในทิศทางเดียวกัน แค่ตัวเลขที่ต่างกันเล็กน้อย ที่เห็นคือพรรคฝ่ายค้านรวมกันแล้วต่ำที่สุดตอนนี้บางโพลให้ 70% แต่ของมติชนกับเดลินิวส์กระโดดไปถึงประมาณ 83%

หมายความว่าถ้าทุกโพลในประเทศไทยไม่คลาดเคลื่อนผลการเลือกตั้งค่อนข้างชัดในแง่ที่ว่าใครได้เสียงข้างมากของประชาชน พรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลตอนนี้ทั้งหมดรวมกันสูงสุด ไม่ว่าจะโพลไหนไม่เกิน 30% บางโพลต่ำไปถึง 15%

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวต่อว่า จากโพลพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกนายกฯ หรือการเลือกพรรคในระบบบัญชีรายชื่อนั้น พุ่งไปกว่า 80% หากตีเป็นตัวเลขหมายความว่าจะได้ 350 ที่นั่ง และพรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลรวมกัน 150 ที่นั่ง

โพลส่วนใหญ่จะแม่นยำในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะสำรวจทั่วประเทศและสำรวจความนิยมต่อพรรค แต่ ส.ส.แบบแบ่งเขตต้องไปว่ากันอีกที เพราะการแข่งขันในเขตไม่ว่าจะได้ผลโพลเท่าไร แต่ในเขตผู้ชนะอันดับ 1 เท่านั้นจึงจะได้เป็น ส.ส. แต่เราก็เห็นจากแนวโน้มในการประเมินเชิงพื้นที่ของนักวิชาการที่ไปในทิศทางเดียวกัน ว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลเองรวมกันแล้วจะได้ ส.ส.เขตมาค่อนข้างน้อย นำไปสู่ประเด็นที่ว่าฝ่ายรัฐบาลตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก ตอนนี้คะแนนห่างกันค่อนข้างมาก กลายเป็นว่าไปแข่งกันเองมาก

“โค้งสุดท้ายที่จะปรับกลยุทธ์นั้นปรับได้ แต่พื้นที่ที่พรรคฝ่ายร่วมรัฐบาลแข็งกลายเป็นว่าไปชนกันเอง อย่างพื้นที่ภาคใต้คือพรรครวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย แข่งกันเอง พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลอาจจะสอดแทรกได้ในคะแนนบัญชีรายชื่อ ได้เพิ่มขึ้นกว่าครั้งที่แล้วมาก

ครั้งนี้ภาคใต้คนเปิดใจมากขึ้น แล้วกลายเป็นว่าพรรคขั้วฝ่ายค้านที่เคยถูกปิดประตูกลับได้คะแนนนิยมมากขึ้น จริง ๆ เราพอเริ่มเห็นผลการเลือกตั้ง นอกจากว่าทุกโพลผิดพลาดหมด และประชาชนไม่ตอบตามความเป็นจริง แต่มันคงไม่เป็นขนาดนั้น เพราะตอนนี้เราเห็นเทรนด์ใหญ่แล้ว” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ติงก้าวไกล-เพื่อไทย อย่าทำให้ยาก ทั้งที่สมการมันง่าย

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวต่อไปว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านนั้นจริง ๆ สมการมันง่าย แต่ไปทำให้มันยากในการที่ทะเลาะถกเถียงกันรุนแรงมาก แต่ถ้าเห็นผลการเลือกตั้งแล้วมันชัด เนื่องจากโพลของมติชนกับเดลินิวส์นั้นคนตอบที่เป็นเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย คนที่เป็นแรงงาน อยู่นอกกรุงเทพฯหายไป ไม่ค่อยถูกสะท้อนในโพลนี้เท่าไร ซึ่งคนเหล่านี้เป็นฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย

คิดว่าอย่างไรเพื่อไทยชนะเขตเลือกตั้งมามากที่สุดอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยเก่งในระบบเขตอยู่แล้ว ถ้าส่งเท่าไรจะได้ประมาณ 50% ฉะนั้น 400 เขตก็จะได้ประมาณ 200 เขตจะเป็นแบบนี้ทุกครั้ง รวมกับบัญชีรายชื่อไม่ว่าโพลไหนตอนนี้อย่างน้อยตอนนี้เพื่อไทยได้ 40-45 ที่นั่ง รวมกันจะแตะ 250 แน่ ๆ

แต่พรรคก้าวไกลมาแรงมาก ๆ จากที่เมื่อย้อนกลับไปช่วงก่อนเริ่มแคมเปญเลือกตั้งทุกสำนักให้พรรคก้าวไกลประมาณ 30-40 บัญชีรายชื่อก็ 30-45 ฉะนั้น คิดว่าเกิน 60 แน่ ๆ ถ้าพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดรวมกันมีโอกาสจะไปแตะถึง 340 ในแง่นี้ทะเลาะกันไปก็บาดหมางกันเปล่า ๆ

“คือในการเลือกตั้งและการเมืองมันมีทั้งส่วนที่เป็นการแข่งขันและการร่วมมือ อย่าแข่งกันไปจนถึงจุดที่เดี๋ยวจะร่วมมือกันทำงานไม่ได้ ถ้าในแง่ผลการเลือกตั้งไม่ได้พลิกมากตอนนี้ ถ้าพูดไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเริ่มมีนักกฎหมายบางคนมาชี้ช่อง ผมว่าอันตรายมาก

สมมติว่าได้ 240 ยังมีโอกาสตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ แต่ถ้ารวมกันแล้วได้ 180-200 ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ได้ และในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะผ่านกฎหมายไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีศักยภาพในการผลักดันนโยบาย และบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว