เลขาฯ ป.ป.ช. ยันพิธา ยื่นถือหุ้น ITV จริง ขาดคุณสมบัติหรือไม่อยู่ที่ กกต.

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เลขาฯ ป.ป.ช. ยันพิธายื่นถือหุ้น ITV จริง ไม่แน่ใจยื่นเพิ่มหรือไม่ แต่ขั้นตอนถูกต้อง ส่วนขาดคุณสมบัติหรือไม่อยู่ที่ กกต.วินิจฉัย

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 จากกรณีคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบว่าการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า เบื้องต้นนายพิธาได้ยื่นหุ้นไอทีวีมาแล้ว 40,000 กว่าหุ้น ไม่แน่ใจว่ายื่นเพิ่มเติม หรือเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งยื่นเพิ่มเติมได้ นายพิธาคงเข้าใจว่าไม่ใช่หุ้นของเขา แต่เขาเป็นผู้จัดการมรดก ถ้าเขามีก็ยื่นเพิ่มเติมได้ ก็ถูกต้อง เราก็ตรวจสอบความมีอยู่จริง ส่วนกรณีถือครองหุ้นแล้วจะขาดคุณสมบัติไหม เป็นหน้าที่ กกต.ต้องวินิจฉัย

ที่มา : เรื่องเล่าเช้านี้

เรืองไกรยื่นหลักฐานถือหุ้นสื่อ พิธาเพิ่มเติม

ล่าสุด มติชนรายงานนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล

โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า ได้นำข้อบังคับของพรรคก้าวไกลมายื่นเพิ่มเติม และจับประเด็นว่านายพิธา จะพ้นจากสมาชิก และหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการแก้ไขลงในราชกิจจานุเบกษา ปี 2563 ซึ่งข้อบังคับพรรคในข้อ 12, 21, 37 ซึ่งในข้อ 12 ระบุว่าสมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ดังนั้นเมื่อระบุเช่นนี้ มาตรา 98 (3) ก็จะทำให้พ้นสมาชิกหรือไม่

และกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหัวหน้าพรรคจะต้องขาดจากความเป็นหัวหน้าพรรคโดยสิ้นสุดเฉพาะตัว รวมถึงกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลข้อที่ 36

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ได้ตั้งข้อสังเกตให้ กกต. ตรวจสอบกรณีที่ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายว่าจะมีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. รวมถึงเป็นสมาชิกพรรค และหัวหน้าพรรคไม่ได้ ซึ่งผลที่ตามมาในการสมัครเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3-7 เมษายนที่ผ่านมา นายพิธาได้เซ็นรับรองการสมัคร ส.ส. เกือบ 400 เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นจึงขอให้ กกต. ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการยื่นบัญชีรายชื่อ ผู้สมัคร ส.ส. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ขอให้ กกต.ดำเนินกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้านายพิธามีความผิดจริง และได้ไปเซ็นรับรองการสมัคร ส.ส.ของพรรค ถ้าเป็นเช่นนี้การสมัครนั้นจะเป็นโมฆะใช่หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ให้ กกต.ตรวจสอบว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องถอดสมการว่าการเป็นหัวหน้าพรรคพ้นไปหรือไม่ เพราะในข้อบังคับเป็นหน้าที่ของนายทะเบียน แล้วนายพิธาก็ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าเรื่องนี้รู้มาตั้งนานแล้ว

ซึ่งเรื่องนี้พรรคเคยมาปรึกษาตนแต่ไม่ได้ยกประเด็นนี้มาปรึกษา แต่ถึงอย่างไรก็ได้ให้ความรู้เรื่องกฎหมายไป ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง

เรืองไกรเคยร้อง ป.ป.ช. สอบพิธา ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เมื่อปี 64

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เคยร้องป.ป.ช. สอบพิธา ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ปมที่ดิน-ทรัพย์สินคู่สมรสเมื่อปี 2564 โดยพบหลายประเด็นที่น่าสงสัยอันเป็นเหตุต้องร้องขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ เช่น นายพิธา แจ้งว่ามีคู่สมรส และคู่สมรสเป็นเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่นายพิธากลับไม่แสดงรายได้ รายจ่าย หรือหุ้น ของคู่สมรสต่อ ป.ป.ช. นายพิธาได้นำอาคารของน้องชายมูลค่า 15,000,000 บาท มาแสดงในบัญชีทรัพย์สินของตนเอง

ซึ่งในทางบัญชีควรตรวจสอบว่า ทรัพย์สินรวมที่แจ้งสูงเกินจริง (Overstate assets) หรือไม่ นอกจากนี้ นายพิธาแจ้งที่ดินรายการหนึ่งว่า เป็นที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งแปลกมาก เพราะนายพิธาไม่น่าจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวได้ แม้จะไม่ได้แจ้ง เลขที่ เนื้อที่ และมูลค่าไว้ก็ตาม แต่การแสดงรายการที่ดินเช่นนี้ อาจเข้าข่ายแจ้งข้อความโดยไม่ตรงความจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายพิธาไม่ได้แจ้งมูลค่าที่ดินและบ้านของคู่สมรสไว้แต่อย่างใด ทั้งนี้ เห็นได้จากมีการแจ้งรายการอาคารของคู่สมรสไว้ด้วยแต่ไม่แสดงมูลค่า ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า คู่สมรสมีอาคารดังกล่าว ซึ่งควรตั้งอยู่บนที่ดิน แต่กลับไม่มีการแจ้งมูลค่าอาคารและที่ดินไว้ ทำให้มีประเด็นที่ควรตรวจสอบทางบัญชีตามมาว่า บัญชีทรัพย์สินรวมของคู่สมรส แสดงไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง (Understate assets) หรือไม่