รวมคดีคาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี วาระขาลง “ประยุทธ์” หลังหมดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ ประวิตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน 9 ปี นับตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฏฐาธิปัตย์กำลังจะกลายเป็นดาบสองคม-คืนสนองเมื่อลงจากอำนาจ-หลังเสือ

สำหรับเช็กลิสต์คดีเช็กบิล พล.อ.ประยุทธ์ หลังลงจากหลังเสือ คดีแรก กรณีคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 และภาคประชาชน เตรียมยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอดถอน พล.อ.ประยุทธ์ กับพวก ครม. กรณีออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566

เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหาย

สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยและมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป

จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แก้ไขเป็น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว

“ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม”

เหมืองทองอัคราไปต่อ

คดี “เหมืองทองอัครา” กรณี พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ “ระงับ” การอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ และการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ

และให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ “ระงับการประกอบกิจการ” ไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

หลังจากการรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)

กรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ออสเตรเลีย-บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ฟ้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหาย 30,000 ล้านบาท

โดย พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงในสภาว่า “เป็นความเข้าใจผิด” ของบริษัท คิงส์เกตฯ

ปัจจุบันอนุญาโตตุลาการ สิงคโปร์ เลื่อนการอ่านคำชี้ขาดมาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทคิงส์เกตฯ ตามคำแนะนำของอนุญาโตตุลาการ

โดยเริ่มมีการเจรจาในเดือนมิถุนายน 2563 คู่ขนานกันไป บริษัทอัคราฯ ได้รับการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ (สำรวจแร่) จำนวน 44 แปลง ราว 4 แสนไร่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่แปรพักตร์ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ รมว.อุตสาหกรรมในขณะนั้นชี้แจงในสภาว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ ไม่มีการแทรกแซงและเร่งรัด เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดี

ล่าสุดบริษัทอัคราฯ ได้รับอนุญาตการต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจำนวน 4 แปลง อีก 10 ปี และการได้รับอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมอีก 5 ปี

สายสีเขียวค้างจ่าย 5 หมื่นล้าน

อีก 1 มหากาพย์คือ การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน

โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 และดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

และเมื่อได้ข้อยุติแล้ว ให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยให้ถือว่าร่างสัญญาร่วมทุนฉบับแก้ไขแล้ว ให้ถือว่าเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

อย่างไรก็ตาม การต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส

แต่ที่ประชุม ครม.ชักเข้า-ชักออก ไม่สามารถเห็นชอบได้ โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นก้างขวางคอ

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ค้างจ่ายเงินค่าจ้างเดินรถและค่าระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวเบ็ดเสร็จแล้วพอกเป็นหางหมูกว่า 50,000 ล้านบาท

คดีคาศาลปกครองเพียบ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังถูกฟ้องคดีอยู่ในศาลปกครองกลาง-ศาลปกครองสูงสุดนับสิบคดี ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขึ้น-ลงศาลปกครองแก้ต่างให้ พล.อ.ประยุทธ์ จากผลกระทบการออกคำสั่งปิดกิจการในช่วงโควิด-19

คดีหมายเลขดำที่ ฟ. 18/2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา เอื้อประโยชน์ให้พรรครวมไทยสร้างชาติ ปลดล็อกให้ ส.ส.ย้ายเข้าพรรค

คดีหมายเลขดำที่ อผ. 163/2564 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวกรวม 2 คน ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์กับพวกรวม 9 คน กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

คดีหมายเลขดำที่ อผ. 150/2564 คดีหมายเลขดำที่ อผ. 149/2564 คดีหมายเลขดำที่ อผ. 148/2564 คดีหมายเลขดำที่ อผ. 147/2564 คดีหมายเลขดำที่ อผ. 146/2564 นายมนัส สร้อยพลอยกับพวกรวม 5 คน ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์กับพวกรวม 4 คน กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1041/2566 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีหมายเลขดำที่ 571/2566 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ “ทฤษฎีสมคบคิด” ของ “ขั้วอำนาจเก่า” ยื้อให้ยาวที่สุด เพื่อหวัง “พลิกเกม” ล้มกระดานเลือกตั้ง