ประยุทธ์ รักษาการ ทำอะไรไม่ผ่าน อนุมัติอะไรไปแล้วบ้าง

ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ครบ 3 เดือน แก้สัญญาอีอีซีแสนล้าน-ตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ไม่สะเด็ดน้ำ ลุ้นลดภาษีดีเซลต่อ ตรึงค่าน้ำ ขณะที่การประปาฯแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น หวั่นใกล้ประสบภาวะขาดทุน

วันที่ 20 มิถุนายน 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “รักษาการนายกรัฐมนตรี” ครบ 3 เดือน นับจากพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

ตลอดระยะเวลา 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 14 ครั้งเห็นชอบ-อนุมัติ 233 เรื่อง (ยังไม่นับรวมการประชุม ครม.วันที่ 20 มิ.ย. 66)

ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ทำให้ “รัฐบาลรักษาการ” ติดขัดในการอนุมัติงบประมาณ-โครงการ รวมถึงแต่งตั้ง-โยกย้าย เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สะดวกแต่ไม่โยธิน

ระทึกลดค่าไฟฟ้าไม่ทัน

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 “ครม.รักษาการ” อนุมัติงบฯกลางอุ้มค่าไฟฟ้า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรอบวงเงิน 10,464 ล้านบาท ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนแบบเป็นขั้นบันได เป็นระยะเวลา 4 เดือน หรือตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2566 และ “ส่วนลด” จำนวน 150 บาท ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เดิน 500 หน่วยต่อเดือน

กกต.มีมติเห็นชอบให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนจากสถานการณ์​ราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในลักษณะการให้ส่วนลด​ จากการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft)​ เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2566 ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 10,464 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

ตั้งผู้ว่าการ กฟผ.ชักเข้า-ชักออก

วันเดียวกัน-2 พฤษภาคม 2566 ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามที่คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

กระทรวงพลังงานให้ความเห็นว่า ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่กฟผ.ต้องมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการอย่างต่อเนื่องภาตใต้บริบทที่สถานการณ์พลังงานโลกมีความเปราะบางและผันผวนสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพราคาพลังงานของประเทศเพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจผู้ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจัดจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าตามที่กำหนด รวมทั้งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ตามอำนาจของ กฟผ. ตามนโยบาย ระเบียบ หรือข้อบังคับของคณะกรรมการ รวมทั้งนโยบายด้านพลังงานของประเทศ

สำหรับความจำเป็นเร่งด่วน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.คนปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้างในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 กฟผ.จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งผู้ว่าการคนใหม่ทดแทนภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน กฟผ.ประสบกับปัญหาในการแบกรับภาระหนี้ค่าไฟฟ้าประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยร่วมรับภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนตามแนวทางบริหารค่าไฟฟ้าตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกรณีดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการด้านการเงินขององค์กรอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวนโยบายการบริหารจัดการราคาพลังงานของประเทศ จึงเป็นความท้าทายที่ผู้ว่าการ กฟผ.จะต้องบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตาม กกต.ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุม ครั้งที่ 48/2566 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 แล้ว มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก “ไม่เห็นชอบ” กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ.รายนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ตามที่ ครม.เสนอมา

 แก้สัญญาเมืองการบินอีอีซีแสนล้าน

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 ครม.เห็นชอบแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุน 204,240 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐลงทุน 17,674 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 186,566 ล้านบาท โดยมีบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็น “คู่สัญญา” เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและโควิด-19 ดังนี้

1.เห็นควรให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern AirportCity) จากเดิมประมาณ 4,500 ล้านบาท เป็นประมาณ 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สกพอ.จัดให้มีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ในการประกอบกิจการ การทำงาน และการอุปโภคบริโภค และในด้านการบินและโลจิสติกส์ ให้มีผลใช้บังคับและสามารถเริ่มใช้ประโยชน์ในมาตรการสนับสนุนทั้งหมดดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการ และจะมีการทบทวนพัฒนามาตรการสนับสนุนดังกล่าวทุก ๆ 10 ปี

2.สนับสนุนการจัดหาแหล่งเงินกู้ของเอกชน ในการดำเนินโครงการ ให้ได้เงื่อนไขที่ดีกว่าตลาดของสถาบันทางการเงินเอกชนทั่วไป และใกล้เคียงกันกับโครงการของรัฐที่มีความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันจนกว่าผลกระทบจะสิ้นสุดลง

3.ปรับหลักเกณฑ์การพัฒนางานหลักของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คู่สัญญาตกลงปรับระยะการพัฒนางานหลักของสนามบินอู่ตะเภา เช่น อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ศูนย์การขนส่งภาคพื้น การให้บริการภาคพื้นดิน

จากเดิมกำหนดไว้ 4 ระยะ เปลี่ยนเป็น 6 ระยะ ระยะที่ 1 จำนวน 12 ล้านคน/ปี ระยะที่ 2 จำนวน 15.9 ล้านคน/ปี ระยะที่ 3 จำนวน 22.4 ล้านคน/ปี ระยะที่ 4 จำนวน 30 ล้านคน/ปี ระยะที่ 5 จำนวน 45 ล้านคน/ปี และระยะที่ 6 จำนวน 60 ล้านคน/ปี

4.ปรับหลักเกณฑ์การจัดสรรรายได้ของเอกชนคู่สัญญา โดยการจัดสรรรายได้ใหม่

5.เลื่อนวันเริ่มนับระยะเวลาให้บริการและบำรุงรักษาโครงการ หากมีการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ แต่ปริมาณผู้โดยสารมีไม่ถึง 5.6 ล้านคน/ปี ให้เลื่อนการเริ่มนับระยะเวลาปีที่ 1 ในปีที่มีปริมาณ ผู้โดยสารต่อปีจำนวน 5.6 ล้านคน โดยช่วงเวลาที่ยังไม่มีการเริ่มนับปีที่ 1 นั้น ให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าตอบแทนรัฐ ดังนี้

– ชำระค่าเช่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างแก่รัฐจำนวน 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 820 ล้านบาท/ปี ในช่วง 3 ปีแรกของการให้บริการและการบำรุงรักษาโครงการ และเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 ปี จนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ

– ชำระรายได้ของรัฐ 100 ล้านบาท/ปี จากเดิม 1,300 ล้านบาท ในปีที่ 1 และเพิ่มขึ้นในปีถัดไปทุกปีจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ

– ชำระรายได้ของรัฐแก่ สกพอ. เป็นจำนวนเท่ากับกระแสเงินสดคงเหลือ จากการดำเนินโครงการ ภายหลังการชำระดอกเบี้ยพร้อมเงินต้นที่จำเป็นต้องชำระตามสัญญาเงินกู้แล้ว ทั้งนี้ ไม่เกินร้อยละ 5 ของรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้น ๆ ของเอกชนคู่สัญญา

เปิดงบฯรายได้-ขาดทุน บ.เจ้าสัวปราเสริฐ-คีรี

สำหรับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียน ประเภทธุรกิจ 52239 กิจกรรมการบริการอื่นๆที่สนับสนุนการขนส่งทางอากาศซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น วัตถุประสงค์ ประกอบกิจการท่าอากาศยาน รวมทั้งการดำเนินกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องกับกิจการท่าอากาศยาน

ประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ประเภทธุรกิจ 52231 กิจกรรมการดำเนินงานของสนามบิน (ยกเว้นการขนถ่ายสินค้า) วัตถุประสงค์ กิจกรรมการดำเนินงานของสนามบิน (ยกเว้น การขนถ่ายสินค้า)

งบฯกำไร-ขาดทุน

ปี’63 รายได้รวม 12,576,889.04 บาท กำไร-ขาดทุนสุทธิ ขาดทุน 16,029,760.13 บาท

ปี’64 รายได้รวม 26,740,553 บาท กำไร-ขาดทุนสุทธิ ขาดทุน 162,648,997 บาท

ปี’65 รายได้รวม 15,735,064 บาท กำไร-ขาดทุนสุทธิ ขาดทุน 122,975,683 บาท

รายชื่อกรรมการ 1.นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 2.นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ 3.นายประดิษฐ์ ทีฆกุล 4.นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา 5.นายคีรี กาญจนพาสน์ 6.นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา 7.นายภาคภูมิ ศรีชำนิ 8.นางใจแก้ว เตชะพิชญะ 9.นายคง ชิ เคือง 10.นายกวิน กาญจนพาสน์ 11.นางนฤมล น้อยอ่ำ

กรรมการลงชื่อผูกพัน กรรมการกลุ่ม ก คือ นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายประดิษฐ์ ทีฆกุล นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา และนางนฤมล น้อยอ่ำ

กรรมการกลุ่ม ข คือ นายคีรี กาญจนพาสน์ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา นายคง ชิ เคือง และนายกวิน กาญจนพาสน์

กรรมการกลุ่ม ค คือ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ และนางใจแก้ว เตชะพิชญะ กรรมการคนใดคนหนึ่งจากกรรมการกลุ่ม ก หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งจากกรรมการกลุ่ม ข หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งจากกรรมการกลุ่ม ค ลงลายมือชื่อร่วมกัน สองคน และประทับตราสำคัญของบริษัท

ลุ้นลดภาษีดีเซลต่อ-ตรึงค่าน้ำ

หลังจากนี้ ไม่ไหร่ที่ยังไม่มี “รัฐบาลใหม่” ครม.รักษาการยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยมีเรื่องที่ “ต่อคิว” รอเห็นชอบ-อนุมัติงบประมาณ โครงการ โยกย้าย-แต่งตั้ง เช่น การขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ออกไปอีก

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา และถ้าต่ออายุก็ต้องเสนอให้ กกต. เห็นชอบ

แหล่งข่าวฝ่ายกฎหมายครม.เปิดเผยว่า เนื่องจากรัฐบาลรักษาการไม่สามารถอนุมัติต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรสามิตต่อไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (1) ห้ามกระทำการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป ดังนั้น หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ต้องไปใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าผ่านการบริหารสภาพคล่อง เพื่อมาดูแลราคาน้ำมันดีเซลแทน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลของรัฐบาลรวม 7 ครั้ง กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐไปมากถึง 158,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว(ล)13603 เรื่อง การบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน (ค่าน้ำประปา) ว่า ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ปัจจุบันการประปานครหลวง (กปน.) ได้รับต้นทุนจากการผลิตน้ำประปาที่เพิ่มสูงขึ้นมากและคาดการณ์ว่า กปน.อาจประสบกับภาวะการขาดทุนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป หากไม่มีการปรับอัตราค่าน้ำประปาให้เหมาะสม ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตน้ำประปามาจากปัจจัยหลายประการ เช่น ค่าน้ำดิบ ค่าไฟฟ้า และค่าธรรมเนียมการวางท่อประปา

เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มค่าน้ำประปาของ กปน. คณะรัฐมนตรีจึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย (กำกับ กปน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน เร่งพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปา รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของ กปน.ด้วย

ทั้งนี้ โดยต้องไม่กระทบหรือเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปริมาณน้ำสูญเสียในระบบ การลดค่าธรรมเนียมน้ำดิบของกรมชลประทาน การปรับลดค่าไฟฟ้า การปรับลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการวางท่อประปาของกระทรวงคมนาคม การลดหรือชะลอการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นต้น และให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมผลการพิจารณาดังกล่าวแล้วรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็วต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ รักษาการมาแล้ว 3 เดือน มีอะไรให้ลุ้น-ระทึกได้ทุกวันอังคารที่มีประชุม ครม.ได้ตลอด