ศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ บนทางสองแพร่งหนุนรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

ปชป

ว่ากันว่าศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ คนที่ 9 จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตพรรคเก่าแก่ 77 ปี ว่าถึงเวลายกเครื่องใหม่-ผ่าตัดใหญ่แล้วหรือยัง

ชื่อที่ถูกปล่อยออกมาเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ มีทั้ง “คนในพรรค” และ “คนนอกพรรค-ศิษย์เก่าประชาธิปัตย์” แม้กระทั่งชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 เพราะมีแม่ยก พร้อมเป็นหน่วยสนับสนุน หากมองจากประภาคารคลื่นลมกระแทกตลิ่งพรรคเก่าแก่ แต่ “ลูกเรือ” อย่าง “ราเมศ รัตนะเชวง” ไม่สามารถรับรู้ได้ถึงพายุใหญ่ที่จะฟาดผ่าน-ถึงฝั่งในวันเลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 9 วันที่ 9 กรกฎาคม 2566

“ในพรรคเงียบมาก มีแต่ (ชื่อแคนดิเดตหัวหน้าพรรค) ที่ออกมาเป็นข่าว ปกติที่ในพรรคจะรู้หมด แต่ตอนนี้เงียบกริบ แต่เชื่อว่ากรณีมีการพูดคุยกันเป็นกลุ่ม ๆ จับกลุ่มคุยกัน ว่าใครที่จะมีความเหมาะสมที่จะมานั่งเป็นหัวหน้าพรรคกันอยู่แล้ว”

ข้อสันนิษฐานที่ถูกตั้งออกมาถึงความเงียบสนิท หนึ่ง ยังไม่มีใครที่เหมาะสม สอง รวบรวม “เสียงข้างมาก” ของโหวตเตอร์ในองค์ประชุมใหญ่วิสามัญ จำนวน 374 คนได้แล้ว

สำหรับองค์ประชุมจำนวน 374 คน กก.บห.ชุดรักษาการที่เคยเป็นหัวหน้า หรือเคยเป็นเลขาธิการ 1 คน ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน อดีต ส.ส. 85 คน สมาชิกที่เป็นรัฐมนตรี 2 คน อดีตรัฐมนตรี 19 คน นายก อบจ. 1 คน สมาชิก อบจ. 1 คน สาขาพรรค 20 คน ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด 172 คน อื่น ๆ 20 คน

โดยมีชื่อ “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ “ลอยลำ” มาแต่ไกล เพราะเป็น 1 ใน 3 คีย์แมน พา ส.ส.ภาคใต้ 17 ชีวิต ซึ่งมีน้ำหนักในการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคถึง 70% เข้าสภา

แหล่งข่าวประชาธิปัตย์อีกคนที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ในพรรคตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้เกิด “สุญญากาศ” บางอย่าง ที่ทำให้ยังไม่มีความชัดเจนของผู้เสนอตัวเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค

“ทิศทางการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้เห็นชัดเจนว่า คนที่เป็น ส.ส. และเสียงมีน้ำหนักถึง 70% มีอยู่ 25 คน และโฟกัสไปที่ ส.ส.ภาคใต้ 17 คน”

สำหรับ “ส.ส.ปัจจุบัน” จำนวน 25 คน ที่มี “น้ำหนักมากที่สุด” ถึง 70% ในการลงคะเนนเลือกหัวหน้าพรรคคือ กลุ่มที่ 1 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน

กลุ่มที่ 2 ภาคอื่น ที่มีรองหัวหน้าพรรครับผิดชอบภาคเหนือ-ภาคอีสาน รับผิดชอบ อุบลราชธานี 1 คน นายวุฒิพงษ์ นามบุตร จังหวัดสกลนคร 1 คน นายชาตรี หล้าพรหม แม่ฮ่องสอน 1 คน นายสมบัติ ยะสินธุ์

กลุ่มที่ 3 ส.ส.เขตภาคใต้ 17 คน ที่มี “เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ” เป็น “คีย์แมน” รวมถึงประจวบคีรีขันธ์ 2 คน ที่อาศัยบารมีเลขาธิการพรรคพาเข้าเส้นชัย ได้แก่ นายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ นายประมวล พงศ์ถาวราเดช

สงขลา 6 คน ได้แก่ นายสรรเพชร บุญญามณี นายสมยศ พลายด้วง นายเดชอิศม์ ขาวทอง น.ส.สุภาพร กำเนิดผล พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง

นครศรีธรรมราช 6 คน ได้แก่ นายราชิต สุดพุ่ม นายทรงศักดิ์ มุสิกอง นายพิทักษ์เดช เดชเดโช ว่าที่ ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ นายชัยชนะ เดชเดโช และนางอวยศรี เชาวลิต

พัทลุง 2 คน ได้แก่ นางสุพัชรี ธรรมเพชร นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ตรัง 2 คน ได้แก่ น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายกาญจน์ ตั้งปอง ปัตตานี 1 คน คือ นายยูนัยดี วาบา

ส่วนเสียงของ 17 ส.ส.ใต้จะเป็นปึกแผ่น-เนื้อเดียวกันหรือไม่ แหล่งข่าวอีกรายกล้าพูดได้ว่า มี 2-3 คนที่คิดไม่เหมือนกันกับ 15 คน แต่ไม่มีนัยให้ “เปลี่ยนผล” การแพ้-ชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนต่อไปได้

ขณะที่ชื่อของ “อภิสิทธิ์” แม้จะถูกปัดตกทุกครั้งที่ถูกชูชื่อขึ้นมาท้าประลองชิงหัวหน้าพรรค แต่ “กาชื่อทิ้ง” ไม่ได้

แกนนำพรรคกลุ่มนายอภิสิทธิ์บอกถึงโอกาสที่จะ “คัมแบ็ก” ว่า “ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา” เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาพความขัดแย้ง ไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาให้เกิดการแบ่งขั้วในพรรคประชาธิปัตย์

“ก่อนวันที่ 9 ก.ค. หากมีข้อสรุปอะไรบางอย่างสามารถทำให้นายอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคได้ ก็อาจจะมีการนำเสนอชื่อนี้ โดยที่ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการแย่งชิงกัน ไม่มีคู่แข่ง กลับมาเพราะการยอมรับของทุกคนในพรรค ไม่ใช่ด้วยการแย่งชิง”

“ถ้าร่วมรัฐบาล ฟื้นพรรคไม่ได้ โดยเฉพาะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ภาคใต้จะเหลืออะไร มากสุดได้ 1 รัฐมนตรีว่าการ 1 รัฐมนตรีช่วย ประชาธิปัตย์จะมีจุดยืนอะไรเหลือ แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ตรวจสอบ อาจจะฟื้นได้ในการเลือกตั้งปี 70”

“ประชาธิปัตย์อยู่ในขาลงต่อเนื่อง ต่ำสุดของพรรคคือถูกยุบพรรค หรือผู้บริหารพรรคทำเรื่องถึง กกต.ขอยกเลิกพรรค ปิดพรรค หุ้นตกบางทีไม่ฟื้น จิตวิทยาวันนี้บอกได้เลยว่า ประชาธิปัตย์ตกต่ำ ไม่สุด ตกต่ำที่สุดคือลงเลือกตั้งแล้วไม่ได้ ส.ส.สักคนเดียว”

ทว่าหากผู้กุม 25 เสียง ส.ส.-ถืออำนาจเสียงข้างมากในมือ ต้องการให้ทิศทางของพรรคภายใต้หัวหน้าพรรคคนใหม่-กก.บห.ชุดใหม่ “มีธง” ต้องเป็นรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นขั้วรัฐบาลเดิม หรือ “รัฐบาลเพื่อไทย” ชื่อของ “อภิสิทธิ์” ก็คงเก็บใส่ลิ้นชักอีกครั้ง

ความหวังเดียวในการ “จัดกระบวนทัพ” เพื่อ “ฟื้นคืนชีพ” ประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค-ปรับดุลอำนาจใน กก.บห.พรรคชุดใหม่ คือ “นายเฉลิมชัย” ที่เป็น “ผู้กำหนดเกม” และตัดสินใจภายใต้ความกดดันมหาศาล

วันนี้ปัจจัยพื้นฐานของประชาธิปัตย์ยังไม่ได้เปลี่ยน แต่กำลังจะเปลี่ยน “หุ้นประชาธิปัตย์” จะถูก cut loss จนแดงทั้งกระดานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวันที่ 9 กรกฎาคมนี้