คดีพิธา ถือหุ้นไอทีวี กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ลุ้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.?

คดีพิธา กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนุญ ลุ้นหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

อีก 4 วัน รัฐสภาจะนัดประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่คดีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.เดินหน้าคู่ขนานส่งศาลรัฐธรรมนุญ ทันทีที่ศาลรับเรื่องไว้พิจารณา นายพิธา อาจถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ส่งผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

วันที่ 10 กรกฏาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนัดประชุมร่วม 2 สภา ระหว่างสภาผู้แทนราษฎร 498 คน กับวุฒิสภา 250 คน ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ตามเวลาที่ระบุไว้ในเอกสารการประชุม คือ 09.30 น.เป็นต้นไป เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือร่วมกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กรณีโหวตรอบแรกไม่ผ่าน ได้เตรียมแผนโหวตอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือวันที่ 19 และ 20 กรกฎาคม 2566

ในจังหวะเดียวกันนั้นเอง วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เป็นวันที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กกต. นัดประชุม กรณีมีผู้ยื่นร้องต่อ กกต. ขอให้พิจารณาและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 คดีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล มีชื่อถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 101 (6) หรือไม่

โดยคณะกรรมการมีการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐานต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเสนอต่อที่ประชุม กกต. พิจารณาในต้นสัปดาห์นี้ ตามวาระการประชุมปกติ ของ กกต.ซึ่งจะมีประชุมทุกวันจันทร์และอังคารของสัปดาห์

ทั้งนี้ มีรายงานว่าจะมีการเสนอเรื่องคดีของนายพิธา ตามที่มีการร้องมาดังกล่าวในการประชุมวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 และคาดว่าที่ประชุม กกต.จะมีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้สำนักงานดำเนินการทันที

Advertisment

ซึ่งจะสอดคล้องกับการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ ซึ่งสัปดาห์นี้ตรงกับพุธวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 หากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย อาจจะมีคำสั่งให้นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าจะศาลมีคำวินิจฉัย ซึ่งอาจมีผลต่อวาระการนัดสมาชิกรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (10 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมกับรองประธานสภาทั้ง 2 คน เพื่อแบ่งงานว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จะนัดประชุมเวลา 09.30 น. โดยวาระสำคัญคือลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งการดำเนินการประชุมจะโดยยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาเรื่องหุ้นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล จะมีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เรายังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะยังไม่เกิดขึ้น

ส่วนจะต้องมีการซักซ้อมหรือไม่นั้น ตนคิดว่าคงไม่ต้องมีอะไรมาก แต่เพื่อให้เวลาการประชุมกระชับขึ้น ในวันที่ 11 ก.ค.จะเชิญคณะกรรมการประสานงาน (วิป) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และตัวแทนพรรคการเมืองมาประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจกันก่อนในระดับหนึ่ง

Advertisment

อย่างไรก็ตาม การประชุมรัฐสภาหรือการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นเรื่องที่สมาชิกสามารถอภิปรายได้ตามข้อบังคับ โดยวิปเพียงแต่หาแนวทาง เพื่อให้การอภิปราย หรือการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมไม่ให้เยิ่นเย้อจนเกินไป

ส่วนจะให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่นั้น ในข้อบังคับไม่ได้มีการกำหนดไว้ เหมือนกับการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่หากมีสมาชิกในที่ประชุมเสนอขึ้นมาเป็นญัตติ ก็จะต้องถามที่ประชุมว่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ระบุว่าได้เสียง ส.ว. ครบแล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะสามารถโหวตจบในครั้งเดียวได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่สามารถรับทราบกรณีความเห็นใด ๆ เพราะประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลาง ก็เป็นเรื่องของสมาชิก ส.ว. และเป็นเรื่องของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร