โหวตพิธา เป็นนายกฯ ส.ว. 250 เสียง สัญญาณลบ-บวก มีเงื่อนไขอะไรบ้าง

โหวตพิธาเป็นนายกฯ สว.250 เสียง สัญญาณบวก-ลบ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้การโหวตเพื่อลงมติ “เห็นชอบ” นายกรัฐมนตรี ตามชื่อที่เสนอโดยบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมือง ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือ 376 เสียงจาก 750 เสียง

วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 วันประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยมีชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 และเป็นแกนนำเตรียมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียง เป็นชื่อตัวเต็ง

ในวันนี้ ทุกสายตาจับจ้องที่บทบาทของวุฒิสภา 250 คน ที่เป็นปัจจัยชี้ขาด ในการบังคับทาง กำหนดเกม ว่าชื่อของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคไหนที่ได้คะแนนเสียง ส.ส.เกิน 25 คน จะได้รับเลือกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

สัญญาณลบ

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 เพียง 1 วันก่อนโหวตเลือกนายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีนายพิธา กรณีถือหุ้นไอทีวี ตามคำร้องของ กกต. และคดีล้มล้างการปกครองฯ จากการหาเสียงเรื่องนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ไว้พิจารณา

ก่อนหน้านั้น มีคำตอบรอบแรกปรากฏขึ้นหลังการประชุมอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เมื่อมีการพิจารณาวาระ การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้วุฒิสมาชิกขึ้นมาพิจารณา

ประเด็นแรก หากชื่อนายพิธา ไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาครบ 376 เสียง จะเสนอชื่อนายพิธา กลับมาโหวตในรอบ 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือ หากเทียบเคียงกับการพิจารณาคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภา ที่หากชื่อบุคคลใดไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประธานวุฒิสภาแล้ว จะไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อกลับมาพิจารณาใหม่ในรอบ 2 อีก ให้ถือว่าชื่อนี้ตกไป

ประเด็นที่สอง หากจะนัดเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกฯมากกว่า 1 ครั้ง ต้องเว้นระยะห่างการประชุมกี่วัน โหวตวันถัดไปได้ทันทีหรือไม่ คำตอบคือ ต้อนเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 วัน ตามข้อบังคับการประชุม ในการแจ้งระเบียบวาระให้สมาชิกทราบ ไม่สามารถประชุมต่อเนื่องกันได้ในวันรุ่งขึ้น หรือให้เว้นระยะเวลาลงมติเลือกนายกฯ ห่างกัน 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องทำนองนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ใช้สำหรับการเลือกตั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 จึงต้องให้ประธานเป็นผู้วินิจฉัย หรือใช้ที่ประชุมรัฐสภาเป็นที่วินิจฉัย

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับข้อยุติที่จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้นำประเด็นข้อขัดแย้งดังกล่าวที่จะทำให้เกิดการตัดสิทธิการเสนอชื่อนายพิธา เข้าสู่ที่ประชุมรอบ 2 ได้หรือไม่ ไปหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายคือ ส.ว. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้าน ในช่วงวันที่ 10-12 กรกฎาคม 2566 เพื่อหาข้อยุติ และกำหนดแนวปฏิบัติต่อไป

สัญญาณบวก

การประชุมอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ยังมี ส.ว.อีกส่วนให้ความเห็นทางกฎหมายไว้ว่า การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระ มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการสรรหา มาสู่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติ และมาสู่ชั้นลงมติ ซึ่งบางตำแหน่งระบุไว้ชัดเจนว่า หากได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของวุฒิสภา ชื่อก็ตกไป แล้วเสนอกลับมาใหม่ไม่ได้

แต่กรณีโหวตเลือกนายกฯ แตกต่างกับการเลือกกรรมการองค์กรอิสระ ไม่มีบทบัญญัติใดระบุอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการโหวตลงมติตำแหน่งทางการเมือง นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ หากโหวตครั้งแรกชื่อนายพิธาไม่ผ่าน ก็สามารถนำชื่อเดิมมาโหวตครั้งต่อไปได้

ส่วนประเด็นการนัดประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 หากการโหวตวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ชื่อนายพิธาไม่ผ่าน ประธานรัฐสภาต้องนัดประชุมใหม่ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ว่า ต้องนัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน แต่ถ้าประธานสภาเห็นสมควรจะนัดเร็วกว่านั้นก็ได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันจะมีการประชุมวุฒิสภาในวันจันทร์-อังคาร และวันพุธ-พฤหัสบดี เป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากต้องมีการประชุมร่วม 2 สภา ประธานของ 2 สภา หรือวิป 2 สภา และวิปฝ่ายค้านก็จะหารือและกำหนดวันร่วมกัน

คำตอบที่ชัดเจนมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า กรอบเวลาการประชุมและการโหวตนายกฯ ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภา ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 หากไม่เสร็จสิ้น ได้หารือประธานวุฒิสภาแล้วว่าอาจจะมีการประชุมในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ส่วนจะเสร็จสิ้นหรือไม่แล้วแต่ที่ประชุม เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของรัฐสภา

สัญญาณ ส.ส.-ส.ว.

แหล่งข่าวระดับผู้จัดการรัฐบาลฝ่ายเพื่อไทยรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า การโหวตรอบแรก ชื่อนายพิธาจะผ่านได้คะแนน 376 เสียงอย่างแน่นอน ตามแผนและการจัดการไว้ล่วงหน้า ร่วมกันระหว่าง “หลังบ้าน” ของพรรคก้าวไกล และ “คนแดนไกล” ของพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อมการเจรจากับ ส.ว.ไว้แล้ว

ขณะที่เสียง ส.ว.ที่ปรากฏหน้าและปรากฏชื่อหลายราย ยังคงยืนยันเงื่อนไขเรื่องนโยบาย และ MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ที่จะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่ง ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงเตรียมที่จะ “ลาประชุม” จำนวนหนึ่ง และมี ส.ว.จำนวนหนึ่ง “งดออกเสียง”

พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.กล่าวถึงการตัดสินใจโหวตนายกรัฐมนตรีว่า “ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่พิจารณาจากแนวคิด ยึดความมั่นคงของประเทศชาติ ศาสนา และประชาชนเป็นสำคัญ เพราะไม่อยากนอนผวาว่าวันดีคืนดีจะมีใครมาทำลายเรื่องของความมั่นคงของชาติ และส่วนตัวไม่ได้มองว่าใครจะสืบทอดอำนาจของใคร แต่จะขอยึดความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ส่วนจะบทเลือกนายพิธาหรือไม่ คำตอบอยู่ในคำชี้แจงข้างต้นแล้ว”

สอดคล้องกับความเห็นของนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว.ที่ยอมรับว่าตอนแรกตัดสินใจจะโหวตให้นายพิธา แต่เมื่อพิจารณาจากนโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็รู้สึกว่าไม่สามารถโหวตให้ได้แล้ว

สำหรับพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นว่า วุฒิสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจลงหรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคย ศรัทธา หรือผลประโยชน์อื่นใด พิจารณาเลือกเพื่อให้บริหารประเทศที่เขารัก เพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานในอนาคต

ทิศทางการโหวตของ ส.ว.ที่ก่อนหน้านี้ระบุว่า ส.ว. จำนวน 20 คน ประกาศพร้อมจะสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากที่ได้รับฉันทามติจากประชาชน

แต่แกนนนำและนักการเมืองในพรรคก้าวไกล ยังยืนยันฝังนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เสียง ส.ว.จำนวนหนึ่ง ที่เคยพร้อมจะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ เกิดความลังเล และตัดสินใจไม่โหวตสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี

ตัวเลขขณะนี้ จึงเหลือเสียง ส.ว.ที่พร้อมโหวตหนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ขณะนี้ไม่ถึง 10 เสียง ทำให้ทั้ง ส.ว.และ ส.ส. ทั้งใน 8 พรรคร่วม และวุฒิสภา คาดการณ์กันว่า นายพิธาอาจจะได้รับเสียงสนับสนุนเป็นนายกฯจาก ส.ส.และ ส.ว.ไม่ถึง 376 เสียง ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค.นี้

บัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง

นอกจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือมี ส.ส.มากกว่า 25 คนขึ้นไป ประกอบด้วย

  1. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล
  2. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย
  3. นายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย
  4. นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย
  5. นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย
  6. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ
  7.  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรครวมไทยสร้างชาติ
  8. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ
  9. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์