3 ก๊กปิดประตูพิธา โหวตนายกฯรอบ 2 เพื่อไทยล็อกต้นทุน พลิกขั้วตั้งรัฐบาล

พิธา นายกฯ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

พรรคก้าวไกลทุ่มหมดหน้าตัก เมื่อรู้อยู่แล้วว่า “โอกาส” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยมี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ริบหรี่เต็มทน

แม้ยังเหลือการโหวตนายกรัฐมนตรีอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 19 กรกฎาคม และ ครั้งที่สามยังไม่มีกำหนดตายตัวถึงวัน ว. เวลา น.

พรรคก้าวไกลชิงเดินแผน 2 ศึก ศึกแรก ขอเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯ รอบ 2 อันเป็นครั้งสุดท้าย ศึกที่สอง ชงปิดสวิตช์ ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดยไม่ผ่านการเห็นชอบของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค

พท.-กก.หักเหลี่ยมโหด

“พิธา” โพสต์คลิปถึงมหาชนส้ม เมื่อ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ใจความอยู่ตรงประโยคที่ว่า “หากพวกเราทำเต็มที่ใน 2 สมรภูมินี้แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้จริง ๆ ตนพร้อมเปิดโอกาสให้ประเทศไทย โดยเปิดทางให้พรรคอันดับสอง คือพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ภายใต้ MOU ที่ทำร่วมกันไว้ และผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลทุกคนพร้อมสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย”

ถอดรหัสจากการเล่นเกมเปิดหน้าชกกลางอากาศ ทางหนึ่ง พรรคก้าวไกล เล่นเกม “เจ๊งเป็นเจ๊ง” กับ ส.ว. เมื่อไม่ได้เป็นรัฐบาล “พิธา” ไม่ได้เป็นนายกฯ-ส.ว.ก็พังไปด้วยกัน แล้วผลัก ส.ว.เป็น “จำเลย” เต็มขั้น

เพราะในทางปฏิบัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะสำเร็จภายในเดือนกันยายนตามโรดแมปที่พรรคก้าวไกลนำเสนอต่อมวลชน

แต่อีกทางก็ผูกปม (บังคับ) พรรคเพื่อไทย ไว้เป็นรัฐบาลด้วยกัน ห้ามเปลี่ยนขั้ว ย้ายข้าง ถ้าสลับฝั่งก็เป็น “จำเลย”

อย่างไรก็ตาม เพียงไม่ถึงชั่วโมงที่คลิป “พิธา” ออกอากาศ จารึกบนโลกออนไลน์ พรรคเพื่อไทยก็ออกมาแย้งเป็นขบวน ทั้งองคาพยพ ตั้งแต่การประกาศว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ไม่ได้มาจาก “มติ” ของพรรคร่วม 8 พรรค และพรรคเพื่อไทย “ไม่เห็นด้วย”

อีกดอกคือ การโหวตนายกฯ ตามศึกที่สองจะโหวตกันถึงเมื่อไหร่ กี่ครั้ง..กี่รอบ บีบให้พรรคก้าวไกล “ต้องตอบ” พร้อมขีดเส้นว่า ถ้าเสียงไม่ได้เพิ่มขึ้น “อย่างมีนัยสำคัญ” คือ 350 เสียงขึ้นไป พรรคเพื่อไทยจะส่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยไปแทน “พิธา”

เป็นเกมหักเกม ต่อเนื่องจากเกมการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคเพื่อไทยดูเหมือนแพ้ แต่สุดท้ายพลิกกลับมาชนะ ด้วยการเสนอชื่อ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” จากพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานรัฐสภา

เพราะพรรคประชาชาติ ไม่ต่างจาก “สาขา” ของพรรคเพื่อไทย “อาจารย์วันนอร์” จึงเหมือนคนของพรรคเพื่อไทย คุมเกมโหวตนายกรัฐมนตรี

เดดล็อกพิธารอบ 2

ส่วนเหตุที่ “พิธา” มีแนวโน้มไปไม่ถึงดวงดาวในการโหวตนายกฯ รอบ 2 ก็เพราะ ส.ว.ที่เป็น “คู่อริ” ของพรรคก้าวไกลเปิดเกมเขี่ยลูก-หยิบเกมข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 มาปิดประตูพิธาว่า

“ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”

“เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”

เกมนี้พรรคเพื่อไทยก็อ่านทะลุ และรู้อยู่ลึก ๆ จะถูกนำมาใช้เพื่อ “ปิดช่อง” เสนอชื่อ “พิธา” รอบสอง และแม้ว่าพรรคก้าวไกลจะสื่อสารผ่านสาธารณะต่อสู้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เรื่องการโหวตนายกฯ ไม่มีกำหนดว่า “ห้ามโหวตชื่อซ้ำ” จะโหวต “พิธา” กี่รอบก็ได้ อีกทั้งยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญใหญ่กว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จึงต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ทว่าตัวทำเกมจากขั้วพรรคพลังประชารัฐ ลูกมือ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ชี้ช่องว่า ข้อบังคับก็เขียนลอกมาจากรัฐธรรมนูญ และการโหวตนายกฯ มีผู้รับรอง และมีการโหวต ดังนั้น ถือเป็นญัตติไม่มีทางเป็นอื่น เหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ถือว่าเป็นญัตติ สามารถทำได้ครั้งเดียวต่อหนึ่งสมัยประชุม และที่สำคัญ ในการประชุมรัฐสภา ประชุมภายใต้ข้อบังคับ การโหวตก็ยึดตามข้อบังคับ

เหมือนกับมุมของ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในสภามาตั้งแต่ปี 2544 เห็นว่า “ในฐานะที่อยู่สภามานาน บอกว่าจะไปเถียงกันทำไมว่าเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ เพราะเป็นญัตติอยู่แล้ว แต่ญัตติมี 2 ประเภทคือ ญัตติทั่วไปและญัตติที่เป็นบทบัญญัติกฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งญัตติที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด เช่น ญัตติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ญัตติเลือกนายกรัฐมนตรี”

“อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคก้าวไกลจะเสนอชื่อนายพิธารอบสอง พรรคเพื่อไทยคงต้องมีมติสนับสนุน จะสนับสนุนเขาจนสุดความสามารถ”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวคนการเมือง เพื่อไทย วิเคราะห์ว่า วันที่ 19 กรกฎาคม ชื่อของ “พิธา” ในการโหวตนายกฯ รอบ 2 อาจจบลงด้วย “หนังม้วนเดิม”

คือ เสนอชื่อไปแล้ว “พิธา” ได้เสียงไม่ถึงครึ่ง เนื่องจาก ส.ว.ไม่สนับสนุน

และถ้าเสนอชื่อ “พิธา” ไป ฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม 188 เสียงไม่ยอม ต้องส่งชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประกบ ถ้าเป็นอย่างนั้น เกมก็อาจจบทันที เพราะ ส.ว.อาจยกมือโหวตสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็เป็นได้

“ดังนั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เมื่อเพื่อนไม่เอาคุณ (พรรคก้าวไกล) จะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร แต่ถ้าจะกอดคอให้พรรคเพื่อไทยไปเป็นฝ่ายค้าน มันเป็นไปไม่ได้”

“ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลต้องผ่าทางตันของตัวเอง พรรคก้าวไกลอาจเป็นฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยต้องยอมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ”

เศรษฐา พร้อมนั่งนายกฯ

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเข็น “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย หนึ่งใน “ตัวเลือก” นายกฯ คนที่ 30 ฉายภาพเศรษฐกิจ ผ่านคลิปวิดีโอที่ลงโซเชียลมีเดีย เศรษฐาเผยหลักการว่า “พรรคต้องเดินหน้าไม่ว่าเป็นแกนนำหรือส่วนหนึ่งของรัฐบาล เร่งมาตรการต่าง ๆ หากได้ดูแลกระทรวงที่ได้รับมอบหมายจะเร่งผลักดันมาตรการต่าง ๆ ในที่ประชุม คณะรัฐมนตรีครั้งแรก ระงับความเดือดร้อนของประชาชนสำคัญที่สุด เลือกตั้งจบ 2 เดือน แต่ยังไม่ได้นายกฯ ประชาชนเอือมระอา”

“เศรษฐา” พูดอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ถึงความพร้อมนั่งนายกฯ ว่า “ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่มีรายชื่อผมเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”

ข้ามขั้วต้องจ่ายต้นทุน

ด้าน “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นักยุทธวิธีการเมือง ตอบคำถามหาก 8 พรรคตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ขั้วอำนาจเดิมตั้งรัฐบาลแข่งแล้วมาชวนพรรคเพื่อไทยไปร่วมรัฐบาลจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า

“นี่คือโจทย์ที่ 8 พรรคต้องร่วมกันคิด และต้องร่วมกันตัดสินใจว่าประเทศจะมีทางออกอย่างไร แต่ถึงวันนั้นจริงต้องดูว่าซีเรียสแค่ไหน และคนที่เกี่ยวข้องต้องตัดสินใจ ประเทศชาติให้นักการเมืองมานำเสนอเพื่อหาทางออก ถึงวันนั้นจะตัดสินใจแน่นอน”

ส่วนคำถามว่าเคยสัญญาตอนเลือกตั้งเอาไม่เอา 2 ลุง ถึงจำเป็นเอาได้ไหม “ภูมิธรรม” กล่าวว่า

“ก็ต้องถือเป็นเจตจำนงที่เราต้องยึดถือ เหมือนกับที่เราบอกว่าต้องร่วมกับพรรคก้าวไกล มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงพรรคก้าวไกลต้องเป็นคนตอบ ก็เช่นกัน เราต้องดูวาระประเทศกับวาระประชาชนเป็นหลัก”

“ผมบอกว่าไม่เอาวาระของพรรคการเมืองกับวาระของตัวนายกฯที่อยากจะทำเป็นวาระหลัก 2 อันนี้ถ้าจะมีต้องไปอิงกับวาระประเทศและวาระประชาชน ถ้าทำให้ชัดเจนแล้วสังคมเข้าใจแล้ว ดีที่สุด จะเป็นการตัดสินใจที่มีการรองรับจากสาธารณชน แต่จะคาดหวังว่าให้คนเห็นเหมือนกันหมด เป็นไปไม่ได้”

“แล้วเราต้องรับต้นทุนที่เราจ่าย แพงหรือถูกอยู่ที่การตัดสินใจของเรา คนที่ตัดสินใจต้องมีต้นทุนที่จ่ายทั้งนั้น เมื่อต้องมีต้นทุนที่จ่าย สำหรับตัวเราเองต้องจ่ายต้นทุนให้น้อยที่สุด”

ลุ้นชื่อแคนดิเดตนายกฯแข่ง

ฝั่ง ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร วิเคราะห์ว่า ประเด็นอยู่แค่นายพิธาชี้แจงไม่เคลียร์ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 หากนายพิธาลดราวาศอกเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ในการลงมติรอบสอง นายพิธายังมีโอกาสที่ ส.ว.จะลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ต้องไปเลือกเอาว่าจะเอามวลชนหรือเอาเสียง ส.ว. และหากไม่ลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 แล้วยังเดินหน้าโหวตครั้งที่สอง ผลลัพธ์ก็เป็นการฉายหนังม้วนเดิม

“ส่วนหากเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรมาเป็นนายกรัฐมนตรี ส.ว.คงไม่ยกมือโหวตให้หากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงไม่ยอม”

ส่วนผู้นำประเทศในสายตาของ ส.ว.ที่จะโหวตกันในรอบที่ 2 และมีจุดอ่อน-จุดแข็งไหนที่ต้องพิจารณาว่าจะยกมือโหวตให้นั้น

“พิธา” มีจุดอ่อนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ขณะที่ “พล.อ.ประวิตร” มีจุดยืน พูดช้า-เดินช้า อายุมาก แต่มีจุดแข็งคือ มีเพื่อนมาก-รู้จักคนเยอะ

ส่วน “แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย” อย่างนายเศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง-ชัยเกษม ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ต้องรอให้แสดงวิสัยทัศน์ในสภาก่อน

พปชร.นิ่ง-บิ๊กป้อมตาอยู่

ด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) การขยับอย่างเป็นรูปธรรมและทางการที่สุดคือ การตั้งผู้ประสานงาน ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานผู้ประสานงาน ท่ามกลางการสั่งให้ทุกคนในพรรคพลังประชารัฐให้นิ่ง-เงียบที่สุด และรอให้ตาอินกับตานาแตก-สลายขั้ว รอเป็นตาอยู่ชนะสมรภูมิเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา

แกนนำกลุ่มบ้านใหญ่ที่กวาด ส.ส.ยกจังหวัด พรรคพลังประชารัฐ วิเคราะห์ ว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะจับมือกันแน่นหรือไม่ เพราะถ้า 8 พรรคไม่แยกออกจากกัน พรรคฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ทำอะไรยาก

“ทุกคนอยากรู้ว่าจะจบอย่างไร เพราะไม่มีคนเขียนบท ไม่มีคนรู้บทจบ แต่ถ้ามีคนเขียนก็ไม่ใช่การเขียนบทคนเดียว และอยู่ที่คนแสดงด้วยว่าจะเล่นตามบทที่เขียนหรือไม่”

ที่สุดแล้วพรรคเพื่อไทยไม่อาจเดินเกมม้วนเดียวจบ ถ้า “พิธา” ได้เสียงโหวตไม่ถึงครึ่งในวันที่ 19 กรกฎาคม

การโหวตรอบ 3 อาจเกิดขึ้นใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ แล้วค่อยถึงบท “เพื่อไทย” ชูแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ ตั้งรัฐบาลข้ามขั้วกับพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาชาติ 261 เสียง

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยังไม่ใช่ชื่อพิธา