ศาลยกฟ้องไอลอว์ฟ้องประยุทธ์ ขอเพิกถอน ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ประยุทธ์

ศาลยกฟ้องไอลอว์ฟ้องประยุทธ์หลายหน่วยงานขอเพิกถอน ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เรียกค่าเสียหาย 4.5 ล้าน ชี้ปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมาย

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์, นางชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนกลุ่มเฟมินิสด์ปลดแอก และนายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แนวร่วมม็อบคณะราษฎร เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), สำนักนายกรัฐมนตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย, กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศข้อกำหนดในมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 เรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 4,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 นับแต่วันฟ้อง

คำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้ง 3 ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ จากการร่วมปราศรัยในการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ซึ่งข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทำให้โจทก์ทั้ง 3 ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศดังกล่าว ให้จำเลยที่ 3-6 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ตามฟ้อง และให้ สตช. จำเลยที่ 6 ลบล้างประวัติอาชญากรแก่โจทก์ทั้ง 3 ด้วย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยประการแรกก่อนว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีเหตุต้องออกข้อกำหนดฯ และจำเลยที่ 2 มีเหตุต้องออกประกาศฯตามฟ้องเพื่อบังคับใช้ในสถานการณ์ดังกล่าวหรือไม่ก่อน เห็นว่าที่โจทก์ทั้ง 3 อ้างว่าการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15 ) ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ของจำเลยที่ 1

และการออกประกาศหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ของจำเลยที่ 2 เป็นบทกฎหมาย ละเมิดและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้ง 3

รวมถึงประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นที่บุคคลมารวมตัวกันเป็นการชั่วคราวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 4 บัญญัติรับรองไว้ว่า “บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” นั้น

แต่เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธดังกล่าว ไม่ใช่เสรีภาพที่มีการรับรองและคุ้มครองไว้อย่างสมบูรณ์เด็ดขาด หากแต่รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรค 2 ว่า

การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้

กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

และวรรค 2 บัญญัติว่า “กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง” พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมีเหตุผลความจำเป็นของการประกาศใช้ว่า โดยที่เป็นการสมควร ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และบัญญัติด้วยว่าพระราชกำหนดนี้ยังมีบทบัญญัติบางประการที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล