ประวิตร รื้อพลังประชารัฐ ถ่ายเลือด-อัพเกรดพรรคภารกิจ

พปชร.

99 เปอร์เซ็นต์ ว่าที่รัฐบาลเพื่อไทยจะไม่มีพรรคก้าวไกล แต่จะมี “พรรค 1 ลุง” พรรคพลังประชารัฐ เป็น 1 ใน 36 เก้าอี้รัฐมนตรี “ครม.นายกฯเพื่อไทย 1”

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 3/2566 พรรคพลังประชารัฐ แม้ “ยังไม่ถึงเวลาปรับใหญ่” แต่จะเป็น “กระดุมเม็ดแรก” ในการเข้าร่วมรัฐบาลที่ “ไม่มีพรรคก้าวไกล”

ปัจจุบันคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีทั้งหมด 16 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย นายวิรัช รัตนเศรษฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค พล.อ.กฤษณ์โยธิน ศศิพัฒนวงษ์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค

กรรมการบริหารพรรค ได้แก่ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ นางประภาพร อัศวเหม นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นายรงค์ บุญสวยขวัญ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร พล.อ.ธัญญา เกียรติสาร นายสกลธี ภัททิยกุล นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ และนายอภิชัย เตชะอุบล

แกนนำพรรคพลังประชารัฐ “โหมโรง” การประชุมใหญ่พรรคครั้งแรกหลังเสร็จศึกเลือกตั้งว่า เป็นการปรับเล็กน้อย ประชุมตามรอบตามกฎหมาย ไม่มีอะไรพิเศษ ตั้ง กก.บห.พรรคเพิ่มบางตำแหน่ง เพราะยังไม่ถึงเวลาต้องปรับใหญ่

“เป็นการเติม กก.บห.เพิ่มเติม หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคยังเหมือนเดิม วันนี้ยังไม่ใช่เวลาปรับใหญ่ แกนนำคนสำคัญที่มีบทบาทในช่วงเลือกตั้ง เช่น กลุ่มสี่กุมาร นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องเข้าไป ปล่อยให้พรรคทำงานไปให้สอดรับกับสถานการณ์ ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณเข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นจังหวะเวลาใกล้เคียงกันเท่านั้น”

“ลุงป้อมยังเป็นเสาหลักของพรรค ส่วนความหวังจะเป็นนายกรัฐมนตรีคงยาก เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ คงจะต้องเอาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีเหตุปัจจัยให้ไปถึงจุดนั้น”

“วินาทีนี้พรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมรัฐบาลแน่นอน ยิ่งสมการการเมืองขณะนี้ พรรคเพื่อไทยต้องการเสียงมากพอสมควร ถึงจะมั่นคง และเมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว”

แต่เงื่อนไขแน่นอนคือ ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล

ไฮไลต์คือการ “วัดพลัง” ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และประธานประสานงานวิปพรรค จะเข้ามามีบทบาทเต็มตัวในพลังประชารัฐ ภายหลังสร้างผลงานชิ้นโบแดงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สามารถเกณฑ์ผู้แทนฯเข้าสภาได้ถึง 6 ที่นั่ง

โดยมี “เก้าอี้รองหัวหน้าพรรค” เป็น “การันตี” และอาจมีลุ้นไปถึงการ “คัมแบ็ก” กลับมาเป็น “แม่บ้านพรรค” อีกคำรบ ให้สมศักดิ์ศรีกับการเป็น “มือดีล” ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

โดยขุมกำลังของ ร.อ.ธรรมนัส ประกอบด้วย นายอนุรัตน์ ตันบรรจง ส.ส.พะเยา นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา นายปกรณ์ จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ ส.ส.เชียงใหม่

ขณะที่กลุ่มอำนาจอย่าง “กลุ่มเพชรบูรณ์” ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐที่ “ขาลอย” พลาดท่า “สอบตก” ไม่ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่เพราะความหนังเหนียวพา “ลูกบ้าน” พาเหรดเข้าสภาได้เป็นกอบเป็นกำ ประกอบด้วย

น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์ นายบุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ส.ส.เพชรบูรณ์ นายวรโชติ สุคนธ์ขจร ส.ส.เพชรบูรณ์ นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส.เพชรบูรณ์ นายอัคร ทองใจสด ส.ส.เพชรบูรณ์

ถึงแม้ว่า “มุ้งผู้กองธรรมนัส” จะเล็กกว่า “ก๊วนสันติ” แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมี “กลุ่มกำแพงเพชร” ของนายวราเทพ รัตนากร โดยมี “ไผ่ ลิกค์” ส.ส.กำแพงเพชร เป็น “มือขวา”

โดยมี “กำลังหลัก” อย่าง นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร และนายปริญญา ฤกษ์หร่าย ส.ส.กำแพงเพชร

ส่วนการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐครั้งใหญ่ถูกวาง “ไทม์ไลน์” ไว้หลังจัดตั้งรัฐบาล เป็นการถอย พล.อ.ประวิตรออกไปเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ”

โดยดัน “man behind” ที่คอยให้คำปรึกษาอยู่หลังม่านบ้านป่ารอยต่อขึ้นมาอัพเลเวลให้เป็น “พรรคภารกิจ” ต่อในวันที่ไม่มี “บิ๊กบราเทอร์”

ทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร ที่มีกระแสข่าวว่าจะเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และ “บิ๊กแอ๊ด” พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่จะเป็นข้อต่อกับนายทักษิณเมื่อกลับถึงบ้าน

รวมถึง “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ขณะนี้ยังต้องยืนระยะ-รักษาระยะห่างทางการเมือง ไม่สามารถกระโดดลงมาคลุกวงในกับพรรคพลังประชารัฐได้เต็มตัว ถึงแม้จะพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.มาครบ 2 ปีแล้วก็ตาม

นักสังเกตการณ์ในพลังประชารัฐ ที่มีดีเอ็นเอของพรรครวมไทยสร้างชาติ วิเคราะห์ “พรรคสองลุง” ว่า ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ก็จบ เพราะ “พรรคขวาจัด” อยู่ไม่ได้ในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป ต้องมี “พรรคใหม่” ที่เป็น “ขวาในซ้าย”

จะสู้กับพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลได้ ไม่ให้กลายเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” รอวันล้มหายตายจาก